04 มี.ค. 62

ลงทุนกับฟันคุด

คะแนนเฉลี่ย

ออมและลงทุน

​​ลงทุนกับฟันคุด


คุณเคยถอนฟันไหม?

 

ไม่นานมานี้ ผู้เขียนเพิ่งผ่านประสบการณ์ถอนฟันแบบไม่ทันได้ตั้งตัว เหตุอันเนื่องมาจากปวดฟันมากจนกระทั่งทนไม่ได้ ต้องไปขอให้คุณหมอช่วยดูว่าเกิดอะไรขึ้น ทั้งๆ ที่เพิ่งไปตรวจสุขภาพฟันมาในปีเดียวกัน

 

คุณหมอใช้เวลาตรวจดูไม่นาน ก็พบผู้ต้องสงสัยเป็นฟันคุดด้านล่างซี่ในสุด แม้จากสภาพภายนอกอาจจะดูเหมือนไม่มีอะไรก็ตาม โดยให้ทางเลือกในการแก้ปัญหาเพียงแค่สองทาง คือ กำจัดฟันซี่นี้ออกไปเสีย หรือไม่ก็ต้องยอมทานยาแก้ปวดบรรเทาอาการไปเรื่อยๆ

 

เช่นกันกับตอนกำจัด คุณหมอใช้เวลาถอนไม่นาน ก็เป็นอันเรียบร้อย … ลาก่อน ฟันจ๋า

 

ระหว่างร่ำลากับฟันคุดที่อยู่ด้วยกันมานาน คุณหมอชวนคุยให้คลายกังวลว่า ฟันคุดซี่นี้ไม่มีคู่สบด้านบน เก็บไว้เนื้อฟันก็จะยาวขึ้นเรื่อยๆ ทำความสะอาดก็จะยิ่งลำบาก วันนี้ถอนออกไปอาจเจ็บหน่อย แต่เดี๋ยวไม่นานก็หาย

 

ไม่กี่วันถัดมา ผู้เขียนกลับมาเช็กสถานะการลงทุนของตัวเอง เพื่อดูอีกครั้งให้มั่นใจว่าปีที่ผ่านมาได้ลงทุนครบตามที่ตั้งใจไว้หรือไม่ สิ่งที่ลงทุนไปแล้ว มีผลงานเป็นอย่างไรบ้าง

 

เห็นการลงทุนบางตัวมีสีแดงๆ เลยชวนให้นึกถึงตอนคุณหมอกำจัดฟันคุดซี่ที่มีปัญหาออกไป ทบทวนคำที่คุณหมอบอกไว้ว่า ฟันซี่นี้เป็นซี่ที่มีปัญหา อุดก็ไม่ไหวแล้ว ถอนไปเลยจะดีกว่า

 

การลงทุนก็ไม่ต่างกัน ถ้าบางตัวผลการดำเนินงานไม่ดี เราอาจต้องมาทบทวนว่าควรเก็บไว้ต่อหรือไม่ หรือควรขายออกแล้วหาตัวใหม่เข้ามาแทน

 

ช่วงต้นปีแบบนี้ เลยอยากชวนทุกท่านลองมาเช็กสถานะและทบทวนพอร์ตการลงทุนของตัวเองกันเสียหน่อย ว่ายังดีอยู่ไหม หรือต้องปรับเปลี่ยนอะไรหรือเปล่า ด้วยหลักการง่ายๆ 3 ข้อ

 

ข้อแรก - ลงทุนแล้ว อย่าถือลืม เข้ามาเช็กผลการดำเนินงานกันบ้าง

หลายครั้งที่เราพบว่า คนส่วนใหญ่ลงทุนอะไรไปแล้ว มักไม่ค่อยกลับมาติดตามผลการดำเนินงาน ช่วงไหนใครว่าอะไรดี ก็ซื้อเก็บๆ ไว้ จนบางครั้งก็ลืมไปเลยว่าเคยซื้ออะไรไว้บ้าง

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับท่านที่มีพอร์ตการลงทุนระยะยาวอย่างพอร์ตเก็บเงินเกษียณ K-Expert แนะนำให้คุณกลับมาทบทวนผลการดำเนินงานอย่างสม่ำเสมอ ทุก 6 เดือน หรืออย่างน้อยปีละครั้ง

 

ยิ่งสมัยนี้ แทบจะทุกสถาบันการเงินมีเครื่องมือหรือ App การเงินเอาไว้คอยอำนวยความสะดวก ให้คุณเข้ามาเช็กผลการดำเนินงานกันได้ตลอดเวลา

 

ข้อที่สอง - อะไรไม่ดี ต้องกำจัดออก

เคยได้ยินคำถามว่า ทำไมพอร์ตเราติดดอย กันบ้างไหม?

เพื่อตอบคำถามนี้ อยากชวนถามก่อนว่า ถ้าของที่เราลงทุนมีกำไร คุณทำอย่างไร?

 

หลายครั้งที่นักลงทุนมักจะคันไม้คันมือเห็นของที่เราลงทุนไป มีกำไร ก็จะรีบขายทำกำไรออกมา ในทางกลับกัน อะไรขาดทุน เราจะบอกตัวเองว่ารอก่อน อีกเดี๋ยวมันคงดีขึ้น เมื่อไหร่ที่ยังไม่ขาย ก็ถือว่ายังไม่ขาดทุน แต่เมื่อรอไปรอมา กลับพบว่าขาดทุนมากขึ้นเรื่อยๆ จนสุดท้ายก็เข้าทำนอง “พอร์ตนี้สีแดง" เพราะกลายเป็นเราเก็บแต่ตัวที่ขาดทุนไว้

 

หลังจากข้อแรกที่เราชวนคุณเช็กผลการดำเนินงานของสินทรัพย์ลงทุนต่างๆ แล้ว ถ้าพบว่าผลการดำเนินงานต่ำกว่าค่าเฉลี่ย หรือกรณีกองทุนรวมมีผลการดำเนินงานตกมาอยู่ใน Percentile ที่ต่ำกว่า 50 ติดต่อกันในช่วงเวลาหนึ่ง อาจถึงเวลาต้องถามตัวเองว่า มันเกิดอะไรขึ้น ถึงเวลาที่ควรตัดใจขายออกแล้วหรือยัง

 

สำหรับข้อนี้ นักลงทุนหุ้นอาจคุ้นเคยกับคำว่า Cut Loss หรือการตั้งจุดขายเมื่อราคาต่ำกว่าระดับที่ตั้งกติกาในใจไว้ ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้กับการลงทุนในกองทุนรวมได้เช่นกัน

 

ข้อที่สาม - ปรับสัดส่วนให้กลับมาสมดุล

ถ้าคุณมีเป้าหมายเก็บเงินระยะยาว K-Expert มักชวนให้คุณลงทุนแบบจัดพอร์ตตามระดับความเสี่ยงที่รับได้ ซึ่งก็คือ การลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ตามสัดส่วนที่เหมาะกับตัวเอง เช่น ถ้ารับความเสี่ยงได้สูง อาจมีหุ้นมากหน่อย แต่ถ้ารับความเสี่ยงได้น้อย ก็ถือหุ้นน้อยลงมา เป็นต้น

 

ในแต่ละปีที่กลับมาทบทวน หากพบว่า ปีนั้นราคาหุ้นขึ้นสูงจนทำให้สัดส่วนการลงทุนในหุ้นของเราสูงเกินว่าเปอร์เซ็นต์ที่กำหนดไว้ เราก็ควรปรับลดการถือหุ้นลงมาด้วยการขายออกบางส่วน แล้วนำเงินกำไรกลับไปเติมในสินทรัพย์อื่นแทน เพื่อให้สัดส่วนของสินทรัพย์ทุกประเภทกลับมาอยู่ในระดับเดิม

 

การทำแบบนี้ เราเรียกว่าเป็นการ “Rebalance" พอร์ตการลงทุนนั่นเอง ซึ่งจะช่วยให้จดจ่ออยู่กับสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสม โดยมองผลการดำเนินงานรวมของทั้งพอร์ตให้เป็นไปอย่างที่ควรเป็น มากกว่ากำไรขาดทุนของสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่ง ข้อดีคือ เหมือนเป็นการขายทำกำไรเมื่อราคาสินทรัพย์นั้นๆ ปรับขึ้น แล้วนำเงินกลับไปเติมในอีกสินทรัพย์ที่ราคาปรับลดลงมา

 

ทั้งหมดนี้ อยากฝากให้ทุกท่านได้ลองกลับมาทบทวนความแข็งแรงของพอร์ตการลงทุนกันตั้งแต่ต้นปี เพื่อที่จะได้หา       กลยุทธ์ให้เหมาะสมสำหรับเริ่มต้นปีต่อไป

​ 

บทความที่เกี่ยวข้อง:

- อยู่กับพอร์ตลงทุนอย่างไร ให้ใจนิ่ง

- ลงทุนทั้งทีควรได้ผลตอบแทนเท่าไหร่

 

Workshop ที่เกี่ยวข้อง:

- จัดพอร์ตลงทุนง่ายๆ ได้ด้วยตัวเอง​


 

ให้คะแนนบทความ

บุษยพรรณ วัชรนาคา CFP®

ฝ่ายพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้า ธนาคารกสิกรไทย