05 ก.พ. 62

ลงทุนทั้งทีควรได้ผลตอบแทนเท่าไหร่

คะแนนเฉลี่ย

ออมและลงทุน

​​​​​​​​​​​​​​​ลงทุนทั้งทีควรได้ผลตอบแทนเท่าไหร่​


 

          การนำเงินของตนเองไปลงทุนแทนการฝากเงินย่อมคาดหวังผลตอบแทนมากกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก โดยเฉพาะการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น การลงทุนในหุ้น หรือกองทุนรวมหุ้น ในกรณีที่ไม่เป็นไปตามคาดการณ์อาจ   ทำให้เป้าหมายที่วางไว้นั้นไม่สำเร็จ ดังนั้น การหมั่นตรวจสอบผลตอบแทนอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้ผู้ลงทุนสามารถปรับ   ​ กลยุทธ์ได้ทันกับสถานการณ์และทำให้แผนการลงทุนที่วางไว้บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนด


 
ทำไมต้องมีการวัดผลตอบแทน
          1. ตรวจสอบว่าเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ ผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนในสินทรัพย์จะรวมกับเงินลงทุนตั้งต้น หรือที่เรียกว่า “ทบต้น” เมื่อระยะเวลาผ่านไป ผลตอบแทนที่ทบกันในแต่ละปีก็จะรวมเป็นมูลค่าที่สูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเงินจำนวนนี้อาจเป็นเงินที่เก็บไว้สำหรับใช้ตอนเกษียณ การศึกษาบุตร ฯลฯ ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญที่จะมีจำนวนเงินแน่ชัด ดังนั้นแล้วการหมั่นติดตามผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจะช่วยให้ผู้ลงทุนมั่นใจได้ว่าเป้าหมายที่วางไว้นั้นจะสำเร็จตามระยะเวลาที่กำหนด

 
          2. กรณีที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย สินทรัพย์ที่มีความผันผวนสูงย่อมทำให้ผู้ลงทุนได้รับผลตอบแทนไม่แน่นอน ดังนั้น หากกรณีที่ผลตอบแทนไม่เป็นตามแผนการณ์ที่วางไว้ ผู้ลงทุนอาจพิจารณาได้หลายวิธีการ เช่น
               2.1 การขยายระยะเวลาการลงทุน เพื่อเพิ่มโอกาสให้เงินนั้นทบต้นมากขึ้นจนบรรลุตามเป้าหมาย
               2.2 เพิ่มจำนวนเงินตั้งต้น/เงินลงทุนในแต่ละงวดให้สูงขึ้น เพื่อให้สำเร็จตามระยะเวลาที่ตั้งใจ
               ​2.3 เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง (กรณีรับความเสี่ยงได้สูง) เช่น กองทุนรวมหุ้นหรือกองทุนรวมหุ้นต่างประเทศ เป็นต้น เนื่องจากมีโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น
กรณีเป้าหมายนั้นบรรลุได้ก่อนระยะเวลากำหนด อาจลดสัดส่วนสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อป้องกันไม่ให้เงินต้นนั้นเกิดผลขาดทุนจนกระทบกับเป้าหมายที่วางไว้

 
ผลตอบแทนแค่ไหนที่เรียกว่าดี
วิธีการเปรียบเทียบผลตอบแทนจำเป็นต้องมีเกณฑ์ที่ใช้เป็นมาตรฐานในการบ่งบอกว่าดีหรือแย่ โดยแบ่งออกตามลักษณะการลงทุนดังต่อไปนี้

          1. ลงทุนด้วยตนเอง
               1.1 การลงทุนในหุ้นรายตัว เนื่องจากผู้ลงทุนมีโอกาสเลือกลงทุนในบริษัทที่มีแนวโน้มการเจริญเติบโตได้โดดเด่น ดังนั้น จึงควรได้รับผลตอบแทนมากกว่าค่าเฉลี่ยของหุ้นทุกบริษัทที่มีผลการดำเนินงานทั้งกำไรและขาดทุน ซึ่งสามารถเทียบได้กับ ดัชนีตลาด (SET INDEX)
 1.2 การลงทุนในตราสารหนี้ ถึงแม้ว่าการลงทุนในตราสารหนี้ เช่น พันธบัตรรัฐบาล หรือหุ้นกู้ ถือเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่ผู้ลงทุนต้องแลกกับสภาพคล่อง ความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยและความน่าเชื่อถือของผู้ออกตราสาร ดังนั้นแล้วผลตอบแทนที่ได้รับควรจะมากกว่าเงินเฟ้อรวมกับความพึงพอใจของผู้ลงทุน

 
          2. ลทุนผ่านกองทุนรวม
          เนื่องจากกองทุนรวมนั้นมีหลากหลายนโยบาย ไม่ว่าจะเป็น การลงทุนในตราสารหนี้ ตราสารทุน หรือสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ เช่น ทองคำ น้ำมัน ผู้ลงทุนจึงต้องเทียบผลตอบแทนที่ตนเองได้รับให้ตรงกับประเภทสินทรัพย์ โดยสามารถเทียบได้กับเกณฑ์มาตรฐาน (Benchmark) ซึ่งจะมีการเปิดเผยข้อมูลอยู่ในหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ (Fund Fact Sheet)

 
ตัวอย่างผลการดำเนินงานย้อนหลังและตัวชี้วัด


         

          ถึงแม้การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอาจทำให้เกิดผลขาดทุนในบางช่วง อย่างไรก็ตาม เมื่อครบกำหนดตามระยะเวลา เช่น 5 ปี 10 ปี ควรได้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับเป้าหมายที่วางไว้ อย่างน้อยที่สุดควรวัดผลตอบแทนปีละครั้ง


บทความที่เกี่ยวข้อง: 

 
Workshop ที่เกี่ยวข้อง: 
- จัดพอร์ตลงทุนง่ายๆ ได้ด้วยตัวเอง
- เลือกกองทุนอย่างเซียน


 Tool: K-Expert MyPort


 

ให้คะแนนบทความ

เสาวนีย์ พงษ์เสนีย์ CFP®

ฝ่ายพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้า ธนาคารกสิกรไทย