25 ก.ค. 61

ทำความเข้าใจทางเลือกใหม่ของการลงทุนใน ICO (เหรียญ)

คะแนนเฉลี่ย

ออมและลงทุน

​​ทำความเข้าใจทางเลือกใหม่ของการลงทุนใน ICO (เหรียญ) ​

​​​​​​​​​          ในช่วงที่ผ่านมานักลงทุนหลายท่านคงเคยได้ยินคำว่า “ขุดเหมือง” “ขุดทอง” “ขุดเหรียญ” หรือ Bitcoin (บิทคอยน์) ซึ่งคำเหล่านี้เกี่ยวข้องกับสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) สาเหตุที่สกุลเงินนี้เป็นที่นิยม เนื่องมาจากนักลงทุนกลุ่มแรกๆ ที่เข้าไปลงทุนได้รับผลกำไรอย่างมหาศาลจนเกิดกระแสของการแห่ซื้ออุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ เช่น การ์ดจอเพื่อนำมาใช้ลงทุนขุดหาเหรียญดิจิทัล ส่วนในด้านของธุรกิจนั้น ปัจจุบันเริ่มมีการระดมทุนผ่านสกุลเงินดิจิทัลหรือ ICO (Initial Coin Offering) ทดแทนการออกจำหน่ายหุ้น ด้วยเหตุผลเหล่านี้ทำให้สกุลเงินดิจิทัลนั้นเป็นที่รู้จักมากขึ้น ​


          เมื่อโลกแห่งการลงทุนได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว K-Expert จึงอยากให้นักลงทุนทำความเข้าใจเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพและทำให้เงินลงทุนของตนเองนั้นสูญหายไป มากกว่าการสนับสนุนให้นักลงทุนมือใหม่เข้าไปเก็งกำไรโดยปราศจากความรู้ความเข้าใจ

สกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) คืออะไร? 
          เป็นสกุลเงินที่ใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน โดยสกุลเงินนี้จะถูกสร้างโดยระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งแตกต่างจากเงินตราในปัจจุบันที่ถูกควบคุมโดยธนาคากลางและมีสินทรัพย์ค้ำประกัน เช่น เงินดอลลาร์หรือทองคำ สำหรับเหรียญดิจิทัลที่เป็นที่รู้จักและเป็นที่นิยมทั่วโลก เช่น Bitcoin, Ethereum, Omise เป็นต้น

ICO แตกต่างอย่างไรกับ IPO? 
 
         ICO (Initial Coin Offering) เป็นการเสนอขายเหรียญดิจิทัลครั้งแรกแก่ประชาชนซึ่งแตกต่างจากวิธีการเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไป หรือที่เรียกว่า IPO (Initial Public Offering) เนื่องจากเหรียญดังกล่าวนี้ไม่ใช่สิทธิการเป็นเจ้าของ ผู้ลงทุนจึงไม่ได้รับเงินปันผล สิทธิเข้าร่วมประชุม หรือสิทธิอื่นๆ ที่จะได้รับในฐานะหุ้นส่วน  
          สิ่งที่ผู้ลงทุนจะได้รับคือประโยชน์ในรูปแบบอื่นๆ เช่น ได้รับบริการของโครงการนั้นๆ ประโยชน์อื่นๆ ตามที่ตกลง หรือการนำเหรียญนั้นไปขายต่อในมูลค่าที่สูงขึ้น เป็นต้น

ทำไมบริษัทต้องระดมทุนด้วย ICO? 
          โดยปกติบริษัทสามารถจัดหาแหล่งเงินทุนได้ 2 วิธีคือ 1.หาหุ้นส่วน ในช่วงเริ่มต้นสำหรับบริษัทใหม่ที่มีเงิน ไม่เพียงพออาจจะต้องระดมทุนจาก ญาติพี่น้อง บุคคลอื่น หรือที่เรียกว่า Venture Capital ซึ่งเจ้าของเงินทุนจะได้รับหุ้นหรือส่วนแบ่งกำไร และเมื่อธุรกิจดำเนินงานมาเป็นระยะเวลาหนึ่งอาจระดมทุนเพิ่มโดยนำไปสู่การจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อจำหน่ายหุ้นแก่ประชาชนในวงกว้าง 2.เงินกู้ เนื่องจากเป็นบริษัทที่เริ่มดำเนินการ ผลกำไรจึงยังไม่มั่นคง การขอสินเชื่อจึงเป็นไปได้ค่อนข้างยาก และอาจต้องมีการวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน ทำให้บริษัทเกิดใหม่นั้นเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยาก 
          แต่การระดมทุนด้วยการออกจำหน่ายเหรียญดิจิทัล ไม่จำเป็นต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันและไม่กระทบถึงสิทธิความเป็นเจ้าของ ทำให้ธุรกิจเกิดใหม่ เช่น ธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีไอเดียสร้างสรรค์ มีโมเดลธุรกิจใหม่ๆ และมีความต้องการเงินลงทุนนิยมเลือกใช้วิธีนี้ทดแทนวิธีการระดมทุนในรูปแบบเดิม​

แล้วสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) มีความน่าเชื่อถือหรือไม่? 
          ในอดีตบริษัทที่ต้องการเงินทุนจะต้องระดมทุนผ่านสถาบันการเงินซึ่งถือว่าเป็นบุคคลที่สาม (Centralized trusted party) ที่ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้ที่สนใจร่วมลงทุน แต่การออกจำหน่ายเหรียญดิจิทัลนั้นจะใช้เทคโนโลยี Blockchain (บล็อกเชน) ซึ่งเป็นรูปแบบการเก็บข้อมูลโดยที่ทุกคนสามารถแชร์ข้อมูลร่วมกันได้ เมื่อมีบุคคลใดเข้าไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงก็จะต้องได้รับการอนุญาตจากทุกคน ซึ่งอาจมีจำนวนตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงล้านคน ด้วยกระบวนการที่ซับซ้อนนี้ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือของชุดข้อมูล โดยไม่จำเป็นต้องมีคนกลางหรือสถาบันการเงินคอยตรวจสอบอีกต่อไป
ความน่าเชื่อถือที่เต็มไปด้วยความเสี่ยง 
          ถึงแม้ว่าสกุลเงินดิจิทัลจะมีกระบวนการตรวจสอบที่น่าเชื่อถือ แต่ผู้ลงทุนยังคงต้องเผชิญกับความเสี่ยง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งที่นักลงทุนต้องทำความเข้าใจ 
          
          ความเสี่ยงจากความเข้าใจผิด 
               1. ถูกมิจฉาชีพล่อลวงให้ลงทุนในธุรกิจแชร์ลูกโซ่โดยใช้เหรียญดิจิทัลบังหน้า มิจฉาชีพกลุ่มนี้จะกล่าวอ้างถึงกระบวนการที่ดูล้ำสมัย เข้าใจยาก โดยอ้างว่าได้รับผลตอบแทนจำนวนมาก และมักจะนิยมให้ชักชวนเพื่อนเข้าไปลงทุน ถ้าเข้าข่ายลักษณะนี้ โดยส่วนใหญ่มักเป็นธุรกิจแชร์ลูกโซ่ 
               2. ถึงแม้ว่าในหลายๆ ประเทศจะอนุญาตให้มีการนำเหรียญไปแลกซื้อสินค้าและบริการ แต่ปัจจุบันเหรียญสกุลเงินดิจิทัลไม่สามารถนำมาใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ซึ่งแตกต่างจากธนบัตรที่สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฏหมาย (พระราชบัญญัติเงินตรา)

           ความเสี่ยงจากความผันผวนของราคา
               1. สกุลเงินดิจิทัลนั้นมักเกิดจากบริษัทใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นธุรกิจ หรือเป็นธุรกิจใหม่ๆ บนบริษัทเดิม จึงมีความเสี่ยงที่ธุรกิจนั้นจะไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งแตกต่างจากการที่นักลงทุนซื้อหุ้น IPO ซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีการประกอบธุรกิจมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง จนมีผลกำไรค่อนข้างสม่ำเสมอและมีโอกาสปิดกิจการน้อยมาก ราคาของเหรียญดิจิทัลนั้นจึงมีความผันผวนและมีความเสี่ยงมากกว่าการลงทุนในหุ้น
                2. ประเมินมูลค่าของธุรกิจหรือโครงการนั้นเป็นไปได้ยาก เนื่องจากธุรกิจใหม่ที่เกิดขึ้นยังไม่มีประวัติย้อนหลัง ซึ่งแตกต่างจากการประเมินมูลค่าหุ้นที่สามารถนำข้อมูลในอดีต ไม่ว่าจะเป็นงบการเงินหรือราคามาใช้คาดการณ์มูลค่าในอนาคตได้ การหามูลค่าที่เหมาะสมของเหรียญนั้นจึงทำได้ยาก ราคาจึงมักเคลื่อนไหวอยู่บนความต้องการซื้อขายของนักลงทุนมากกว่ามูลค่าที่แท้จริงของโครงการ 
               3. เหรียญดิจิทัลบางเหรียญนั้นมีสภาพคล่องต่ำ ทำให้การซื้อขายเปลี่ยนมือนั้นทำได้ยาก หากผู้ลงทุนซื้อเหรียญภายหลังจำหน่ายครั้งแรกควรพิจารณาเลือกลงทุนในเหรียญที่ได้รับความนิยม

           ความเสี่ยงจากความปลอดภัย
​               1. ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีใหม่นี้จะมีกระบวนการตรวจสอบข้อมูลที่ดีเยี่ยม แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่จะถูกมิจฉาชีพขโมยข้อมูล หรือถูกแฮกเกอร์เข้าไปสร้างความเสียหาย เช่น การโยกเงินดิจิทัลไปจากบัญชีผู้ลงทุน โดยที่ผู้ลงทุนไม่สามารถติดตามคืนกลับมาได้ดังเช่นที่เป็นข่าวในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถูกแฮกเกอร์เจาะระบบขโมยเงินดิจิทัลไปกว่า 532 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 
               2. หากผู้ลงทุนเลือกลงทุนในเหรียญดิจิทัลที่ออกจำหน่ายจากบริษัทนอกประเทศไทย หากเกิดปัญหาจะไม่มีหน่วยงานใดคุ้มครอง ซึ่งแตกต่างจากการลงทุนในหุ้นหรือกองทุน เมื่อเกิดปัญหาผู้ลงทุนจะได้รับความคุ้มครองจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

ปัจจุบันการระดมทุนด้วยเหรียญดิจิทัลถูกต้องตามกฏหมายหรือไม่? 

           ปัจจุบันทาง ก.ล.ต. ออกเกณฑ์รองรับการออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลผ่านกระบวนการระดมทุน ICO ภายใต้พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 (พ.ร.ก.) โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2561 นี้  

          สำหรับผู้ที่ต้องการออก ICO นั้น จะต้องมีการขอความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. และต้องเป็นบริษัทไทย มีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท และมีโครงสร้างการบริหารจัดการ ระบบงาน ตลอดจนบุคลากรที่เหมาะสมเพียงพอต่อการประกอบธุรกิจ โดยจะต้องมีการเปิดเผยซอร์สโค้ด (Source Code) แบบแสดงรายการข้อมูล ร่างหนังสือชี้ชวน และงบการเงินที่เป็นไปตามเกณฑ์ของ ก.ล.ต.  

​          กระบวนการนี้จะช่วยลดความเสี่ยงจากการถูกหลอกให้ลงทุน เนื่องจากบริษัทที่ออกจำหน่าย ICO นั้นต้องผ่านความเห็นชอบจาก ก.ล.ต.
     
          การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วส่งผลให้เกิดผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ๆ มากมาย นักลงทุนที่เลือกลงทุนในลักษณะนี้ จึงถือได้ว่าเป็นผู้ลงทุนรุ่นแรกๆ ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงสูงกว่าปกติ การทำความเข้าใจและเตรียมความพร้อมก่อนตัดสินใจเลือกลงทุน จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ส่งผลให้ผู้ลงทุนนั้นประสบผลสำเร็จและได้รับผลตอบแทนตามที่คาดหวัง ใครจะรู้ว่าในอนาคตเหรียญดิจิทัลนั้นอาจกลายเป็นสินทรัพย์เพื่อการลงทุนที่ได้รับการยอมรับและสร้างกำไรมหาศาลเช่นเดียวกับการลงทุนในหุ้น

บทความที่เกี่ยวข้อง

Workshop ที่เกี่ยวข้อง
- ฟิตเรื่องเงิน เริ่มต้นธุรกิจ
- จับจังหวะหุ้นด้วยกราฟพื้นฐาน 


 

ให้คะแนนบทความ