07 ส.ค. 61

ใส่ใจเรื่องบ้านและเรื่องเงินเพื่อวัยเก๋า

คะแนนเฉลี่ย

เกษียณ
​​​​​​​​​​​​​ใส่ใจเรื่องบ้านและเรื่องเงินเพื่อวัยเก๋า 

​          เมื่อพูดถึงการวางแผนเกษียณนั้นหลายคนมักนึกถึงจำนวนเงินที่ต้องเตรียมไว้ใช้สำหรับการดำรงชีวิต เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง หรือค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น โดยมักมองข้ามเรื่องของการเตรียมความพร้อมด้านที่พักอาศัยซึ่งมีผลต่อคุณภาพชีวิตในช่วงวัยเกษียณ โดยเฉพาะผู้ที่มีแนวโน้มที่จะอยู่ตามลำพัง ดังนั้น หากคุณเป็นคนที่ต้องการรักษาคุณภาพชีวิตในวัยเกษียณให้ใกล้เคียงกับปัจจุบัน หรือต้องการตอบแทนคนที่คุณรักในครอบครัว วันนี้ K-Expert มีเทคนิคการจัดการบ้านให้เหมาะสมกับวัยเก๋ามาแนะนำดังนี้
​ 
          1. เตรียมบ้านให้พร้อมก่อนถึงวัยเกษียณ 

          กรณีที่เป็นบ้านสร้างใหม่ การจัดเตรียมพื้นที่ใช้สอยเผื่อสำหรับวัยเกษียณตั้งแต่เริ่มสร้างนั้นอาจเป็นเรื่องง่ายกว่า การปรับปรุงบ้านที่อยู่อาศัยเดิม ซึ่งอาจจะมีข้อจำกัดทั้งในเรื่องของพื้นที่ใช้สอยหรือโครงสร้างอาคารซึ่งจะกระทบต่องบประมาณและระยะเวลาที่ใช้ดำเนินการก่อสร้าง ดังนั้น หากอยู่ในช่วงสร้างบ้านใหม่ควรมีการจัดวางแปลนบ้านเพื่อรองรับรูปแบบการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป
 
          2. งบประมาณสำหรับปรับปรุงบ้าน 

          เนื่องจากในผู้สูงอายุนั้นจะมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ซ้ำๆ ดังนั้น การปรับปรุงบ้านในงบประมาณที่จำกัดอาจจะเริ่มจากพื้นที่ที่มีการใช้งานเป็นประจำ เช่น ห้องน้ำ ห้องนอน เป็นต้น ซึ่งจะช่วยควบคุมค่าใช้จ่ายได้ง่ายขึ้น

​​
งบประมาณ 
​(ไม่รวมค่าติดตั้ง)


​​​พื้นที่
​ห้องน้ำ
ห้องนอน
​10,000 บาท
​ราวจับ,เก้าอี้นั่งอาบน้ำ
​-
​25,000 บาท
​ราวจับ,เก้าอี้นั่งอาบน้ำ เปลี่ยนก๊อกน้ำและสุขภัณฑ์
​-
​50,000 บาท
​ราวจับ,เก้าอี้นั่งอาบน้ำ (พื้นที่ 20 ตรม.)
​ราวจับและวัสดุพื้นลดแรงกระแทก
​50,000 บาท
​-
​ราวจับและไฟส่องสว่าง
​100,000 บาท
​ราวจับ,เก้าอี้นั่งอาบน้ำ
​ราวจับ,วัสดุพื้นลดแรงกระแทก และไฟส่องสว่าง (พื้นที่ 30 ตรม.)
​100,000 บาท
​เปลี่ยนสุขภัณฑ์และอุปกรณ์ ,วัสดุพื้นใหม่ และทำพื้นระดับเดียว (พื้นที่ 8 ตรม.)
​-
​200,000 บาท
​วัสดุกระเบื้องพื้น ผนัง และค่าปรับปรุง (พื้นที่ 8 ตรม.)
​ราวจับ,วัสดุพื้นลดแรงกระแทก และไฟส่องสว่าง (พื้นที่ 40 ตรม.)
          ข้อมูล : SCG Experience

          ในกรณีที่ผู้สูงอายุเป็นผู้ที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษอาจต้องจัดเตรียมงบประมาณที่สูงขึ้น เช่น การปรับปรุงแบบพื้นให้มีความลาดเอียง หรือแก้ไขความกว้างของประตูเพื่อให้เหมาะสมกับรถเข็น (Wheelchair) เป็นต้น ดังนั้น ค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการปรับปรุงบ้านจึงขึ้นอยู่กับสุขภาพของผู้สูงอายุเป็นหลัก
 
          3. เทคนิคปรับบ้านไม่ให้เกินตัว โดยปกติผู้ที่ปรับปรุงบ้านมักจะประสบปัญหาการใช้เงินมากกว่างบประมาณที่วางแผนไว้ เพื่อให้การควบคุมค่าใช้จ่ายเป็นเรื่องง่ายขึ้น K-Expert มีข้อแนะนำดังนี้

               3.1 สำรวจความสามารถในการจ่ายและระบุงบประมาณ เพื่อไม่ให้เกิดภาระมากจนเกินไป ควรทำการสำรวจความสามารถในการจ่ายของตนเองและจัดเตรียมงบประมาณ โดยทำการรวบรวมรายการที่จำเป็นต้องใช้ก่อนตัดสินใจซื้อ
 
               3.2 ทำบันทึกและหมั่นตรวจสอบ ตลอดช่วงเวลาที่ปรับปรุงบ้านควรหมั่นจดบันทึกรายการที่เกิดขึ้นเพื่อตรวจสอบค่าใช้จ่ายเป็นระยะ ซึ่งจะช่วยควบคุมไม่ให้ใช้จ่ายเกินงบประมาณที่ตั้งไว้

          4. ตัวช่วยในการจัดเตรียมเงินเพื่อปรับปรุงบ้าน หากยังไม่พร้อม แต่มีความจำเป็นต้องใช้เงิน ผู้ปรับปรุงสามารถหาตัวช่วยได้โดยการสำรวจหลักทรัพย์ที่ตนเองมีอยู่ เช่น กรณีมีบ้านหรือรถ ทั้งที่ปลอดภาระและยังอยู่ระหว่างการผ่อนชำระ สามารถนำมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเพื่อขอสินเชื่อและนำเงินมาใช้ปรับปรุงบ้านได้ (ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของสถาบันการเงิน) แต่ทั้งนี้ต้องกลับมาพิจารณาความสามารถในการผ่อนชำระ และระยะเวลาการกู้ของตัวเองด้วย
 
           หลังจากผ่านพ้นวัยทำงาน ผู้สูงอายุจะใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ภายในบ้าน ประกอบกับสุขภาพที่เริ่มเสื่อมถอย การจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยสร้างความสุขสบายในช่วงบั้นปลายชีวิต และช่วยให้ผู้สูงอายุเข้าร่วมกิจกรรมกับบุคคลในครอบครัวได้ง่ายขึ้น โดยหลักสำคัญของการปรับปรุงบ้านจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและความสะดวกสบายของผู้สูงอายุเป็นหลักมากกว่าความพึงพอใจของเราเอง

บทความที่เกี่ยวข้อง:

Workshop ที่เกี่ยวข้อง:
- ใส่ใจทุกเรื่องบ้านและเรื่องเงินเพื่อวัยเก๋า 

ให้คะแนนบทความ

เสาวนีย์ พงษ์เสนีย์ CFP®

ฝ่ายพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้า ธนาคารกสิกรไทย