12 ก.ย. 61

อยู่กับวัยเกษียณอย่างเกษม

คะแนนเฉลี่ย

เกษียณ

​​​​​​ อยู่กับวัยเกษียณอย่างเกษม 


        สำหรับผู้เกษียณอายุงาน วันเกษียณนับเป็นวันแรกที่ตื่นขึ้นมาแล้วไม่ต้องทำงาน วันเกษียณอาจจะเป็น “วันนี้ที่รอคอย” สำหรับใครหลายคน เพราะเป็นวันที่สามารถพักผ่อนได้อย่างเต็มที่ อยากทำอะไรก็ได้ทำ แต่เมื่อวันนั้นมาถึงจริงๆ เชื่อได้เลยว่า หลายคนจะมีความรู้สึกแบบเดียวกันคือ “ใจหาย” ใจหายที่จะไม่ได้ทำงานที่รัก ไม่ได้เจอเพื่อนร่วมงาน ไม่ได้ใช้ชีวิตการทำงานที่คุ้นเคย และที่สำคัญคือ ใจหายเพราะจะไม่ได้รับเงินเดือนอีกแล้ว แต่ใครจะใจหายมาก หรือใจหายน้อย ก็ขึ้นอยู่กับว่า ได้มีการเตรียมตัวเรียนรู้วิธีที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย จิตใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของสถานภาพทางการเงินในวัยเกษียณมากน้อยเพียงใด เพื่อให้วัยเกษียณทั้งหลายสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างสุขกาย สุขใจ และสุขเงินได้อย่างเต็มที่ 


          K-Expert มีข้อเสนอแนะในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสถานภาพทางการเงิน ดังนี้


การเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย​

         เมื่อเข้าสู่วัย 60 ปี มักจะมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและมักเริ่มมีปัญหาสุขภาพกาย เพราะสมรรถภาพทางกายที่เสื่อมถอยลงไปตามวัย นอกจากนี้ ยังอาจเกิดโรคภัยไข้เจ็บ ร่างกายคนเราก็เหมือนเครื่องยนต์ ที่ทำงานหนักมาเกือบ 60 ปี ก็ย่อมจะมีการเสื่อมไปบ้างตามอายุการใช้งาน และเพื่อยืดอายุการใช้งานของร่ายกายออกไปได้ ควรมีการดูแลสุขภาพ โดยนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และเลือกกิจกรรมที่เหมาะสมกับความสามารถของร่างกาย เช่น เดินออกกำลังกาย หรือปลูกต้นไม้ ปลูกผักสวนครัว เป็นต้น รวมถึงรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายและย่อยง่าย และที่สำคัญคือ จำเป็นต้องมีการตรวจร่างกายประจำปี เพื่อให้มีโอกาสตรวจพบโรคในช่วงเริ่มต้น ซึ่งรักษาให้หายขาดได้ และมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าปล่อยไว้จนร่างกายทรุดหนัก

          สำหรับวัยเกษียณ การดูแลสุขภาพที่เสื่อมลงมักจะมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสุขภาพร่างกายเป็นค่าใช้จ่ายที่สำคัญ และมักจะเป็นค่าใช้จ่ายที่ยิ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่ออายุมากขึ้น สำหรับผู้ที่ทำประกันสุขภาพไว้แล้ว ประกันสุขภาพจะสามารถช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายจากการรักษาพยาบาลได้ อย่างไรก็ตาม การทำประกันสุขภาพนั้น จะต้องทำมาตั้งแต่ก่อนจะเกษียณสักระยะหนึ่งแล้ว เพื่อให้ได้ความคุ้มครองต่อเนื่องไปจนถึงช่วงหลังเกษียณ เพราะโดยส่วนมาก บริษัทประกันในประเทศไทยมักจะไม่ค่อยทำประกันสุขภาพให้กับผู้สูงอายุ หรือถ้าจะรับประกันก็คิดเบี้ยประกันในอัตราที่สูงมาก หรือ ไม่รับประกันโรคที่เป็นอยู่ก่อนการทำประกัน 

          ถ้ายังไม่มีประกันสุขภาพ หรือซื้อประกันสุขภาพไม่ได้ ก็อาจจะเลือกผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ออกแบบมาเพื่อผู้สูงอายุ เช่น บัญชีเงินฝากประจำซูเปอร์ ซีเนียร์ ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างเงินฝากกับประกัน โดยผู้ฝากต้องมีอายุ 55-70 ปี ฝากเงินเป็นระยะเวลา 30 เดือน โดยจะได้รับความคุ้มครองการเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ กระดูกแตกหัก และค่ารักษาพยาบาลจากอุบัติเหตุ หรือการทำบัตรเดบิตที่มีความคุ้มครองอุบัติเหตุ นอกจากจะได้ความสะดวกในการเบิกถอนเงินจากตู้เอทีเอ็มแล้ว ยังได้ความคุ้มครองความเสี่ยงจากอุบัติเหตุด้วย ทั้งนี้ สำหรับผู้เกษียณที่ยังไม่มีเรื่องการประกันสุขภาพ แนะนำว่าอย่างน้อยควรมีการสมัครลงทะเบียน สิทธิรักษาพยาบาลตามหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สิทธิบัตรทอง กับหน่วยงานที่กำหนด​

การเปลี่ยนแปลงทางจิตใจ

         เมื่อเกษียณแล้ว ส่วนใหญ่จะมีเวลาว่างมากขึ้น จากที่เคยพบปะผู้คนเพื่อนร่วมงานทุกวัน ก็อาจต้องอยู่บ้านคนเดียว หรืออยู่กับคู่สมรสสองคน อาจจะทำให้เหงา เกิดความเบื่อหน่าย หรือมีอาการซึมเศร้า ซึ่งอาจจะแก้ไขได้โดยอย่าปล่อยให้ตัวเองเหงา หากิจกรรมงานอดิเรกที่ชอบทำ เช่น เลี้ยงสัตว์ เล่นดนตรี วาดรูป หรือทำงานฝีมือ หากชอบศึกษาหาความรู้ ก็สามารถหาหลักสูตรที่ตัวเองชอบเรียน เช่น การจัดดอกไม้ การทำขนม การถ่ายรูป เป็นต้น นอกจากนี้ ในวัยเกษียณมักจะมีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ที่เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น รู้สึกว่า ตัวเองไม่มีประโยชน์ ไม่มีค่าต่อครอบครัวและสังคม ก็สามารถทำตัวเองให้มีคุณค่า โดยการนำความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ทั้งในการทำงาน และประสบการณ์ชีวิตที่มีอยู่ออกมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด โดยอาจจะไปเป็นที่ปรึกษา วิทยากร อาสาสมัคร หรือทำกิจกรรมการกุศล หรือหากเป็นคนที่ชอบคิดโน่นคิดนี่ สับสบวุ่นวายตลอดเวลา ก็ใช้วิธีการปรับจิตใจให้ผ่อนคลายและสงบ โดยการนั่งสมาธิ เข้าวัด ฟังธรรม เป็นต้น​

การเปลี่ยนแปลงด้านการเงิน

         การเกษียณอายุ ทำให้ไม่มีรายได้จากการทำงานประจำ หรือหากยังทำงานต่อเนื่อง ก็อาจจะได้รับรายได้ลดลง ทั้งนี้ ผู้เกษียณส่วนใหญ่แล้วมักจะมีเงินก้อนหรือรายได้จากการเกษียณบ้าง เช่น เงินที่ได้เก็บหอมรอมริบมาด้วยตนเอง รัฐบาลหรือบริษัทเอกชนที่เราทำงานด้วยยังมีสวัสดิการให้ อย่างเช่น ผู้ที่รับราชการจะมีเงินบำเหน็จบำนาญจากองทุน กบข. ส่วนพนักงานบริษัทเอกชนก็มีบำเหน็จบำนาญชราภาพจากกองทุนประกันสังคม และเงินสะสมจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวมทั้งเงินชดเชยเมื่อเกษียณจากการทำงานอีกด้วย เมื่อได้นำเงินเหล่านี้มารวมกับเงินเก็บของเราแล้ว ก็ควรจะต้องมีวิธีการบริหารเงินในวัยเกษียณ เพื่อให้เพียงพอต่อการดำรงชีพ วิธีการบริหารเงินในวัยเกษียณที่สำคัญคือ ควรจะเน้นความปลอดภัยของเงินต้นเป็นหลัก ในขณะเดียวกันอย่างน้อยผลตอบแทนรวมของการลงทุนก็ควรมากกว่าหรือเท่ากับเงินเฟ้อ เพื่อไม่ให้สูญเสียอำนาจการซื้อของเงินหลังเกษียณ นอกจากนี้ ควรมีสภาพคล่องในการใช้จ่ายที่เพียงพอ แนะนำว่าควรมีเงินสำรองชั้นแรกเก็บเอาไว้ในบัญชีออมทรัพย์ที่มีบัตร ATM หรือบัตรเดบิต เพื่อให้สามารถนนำมาใช้จ่ายได้ทันที โดยสำรองไว้จำนวน 1-2 เท่าของค่าใช้จ่ายประจำเดือนงินสำรองชั้นที่สอง ควรมีเงินเก็บเอาไว้ในรูปกองทุนรวมตลาดเงิน ที่ลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น (เผื่อเวลาการขายคืนไว้อย่างน้อย 1 วัน ทำการถึงจะได้รับเงิน) หรือเก็บไว้ในบัญชีเงินฝากคุ้มครองผู้สูงอายุ (เงินฝากประจำซูเปอร์ ซีเนียร์) รวมประมาณ 12 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน เผื่อเกิดเจ็บป่วยต้องเข้าโรงพยาบาลกะทันหัน หรือมีเหตุจำเป็นต้องใช้เงินด่วน ก็ยังสามารถเดินเข้าไปเบิกเงินจากธนาคารได้ทันที สำหรับเงินส่วนที่เหลือ แนะนำให้ลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ เช่น พันธบัตร หุ้นกู้ หุ้นสามัญ ทองคำ หรืออสังหาริมทรัพย์ ตามระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมกับตนเอง ระยะเวลาการใช้เงิน และความเชี่ยวชาญของแต่ละบุคคล 

          ทั้งนี้ หากผู้อยู่ในวัยเกษียณได้มีการปรับตัวและเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ ก็สามารถใช้ชีวิตในวัยเกษียณได้อย่างเกษม ด้วยความสุขกาย สุขใจ และสุขเงิน​

บทความที่เกี่ยวข้อง: 

​Workshop ที่เกี่ยวข้อง: 
- ใช้ชีวิตตามใจ ในวันที่หยุดทำงาน


Tools​ เก็บเงินเตรียมเกษียณ :  คลิกที่นี้ 
Tools เตรียมแผนเกษียณ : คลิกที่นี้​​ http://k-expert.askkbank.com/DIYTools/Pages/K-ExpertRetirement.aspx​


ให้คะแนนบทความ

อิสราภรณ์ บุรณิกานนท์ CFP®

ฝ่ายพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้า ธนาคารกสิกรไทย