คนชอบรูดปรื๊ด เตรียมตัวปี 67 จ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำ 8% คนชอบรูดปรื๊ด เตรียมตัวปี 67 จ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำ 8%

คนชอบรูดปรื๊ด เตรียมตัวปี 67 จ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำ 8%

จากสถานการณ์โควิด 19 ที่ผ่านมา ทำให้มีผลกระทบกับสุขภาพของทุกคนในวงกว้าง ไม่สามารถออกไปทำมาหากินได้ตามปกติ ไม่มีรายได้เข้ากระเป๋า ด้วยเหตุนี้ธนาคารได้มีมาตรการต่างๆ ออกมาช่วยเหลือลูกค้าที่มีวงเงินสินเชื่อ เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระให้กับคนที่มีวงเงินสินเชื่อ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือมาตรการปรับลดอัตราการชำระคืนขั้นต่ำบัตรเครดิตจากเดิม 10% หรือขั้นต่ำ 1,000 บาท เปลี่ยนแปลงเป็น

เงื่อนไขใหม่การผ่อนชำระคืนขั้นต่ำบัตรเครดิต

เงื่อนไขใหม่การผ่อนชำระคืนขั้นต่ำบัตรเครดิต

  • ตั้งแต่รอบบัญชีเดือนเมษายน 2563 ถึงรอบบัญชีเดือนธันวาคม 2566 ชำระขั้นต่ำ 5% ตัวอย่างเช่น ผู้ถือบัตรเครดิตมียอดใช้บัตรเครดิต 100,000 บาทต่อบัตร ยอดชำระขั้นต่ำ 5% เท่ากับ 5,000 บาท
  • ตั้งแต่รอบบัญชีเดือนมกราคม 2567 ถึงรอบบัญชีเดือนธันวาคม 2567 ชำระขั้นต่ำ 8% ตัวอย่างเช่น ผู้ถือบัตรเครดิตมียอดใช้บัตรเครดิต 100,000 บาทต่อบัตร ยอดชำระขั้นต่ำ 8% เท่ากับ 8,000 บาท
  • ตั้งแต่รอบบัญชีเดือนมกราคม 2568 เป็นต้นไป ชำระขั้นต่ำ 10% ตัวอย่างเช่น ผู้ถือบัตรเครดิตมียอดใช้บัตรเครดิต 100,000 บาทต่อบัตร ยอดชำระขั้นต่ำ 10% เท่ากับ 10,000 บาท

หมายเหตุ: เฉพาะรอบบัญชีเดือนเมษายน 2563 ถึงเดือนธันวาคม 2567 ธนาคารเรียกเก็บจำนวนเงินขั้นตํ่า 5% และ 8% ต่อรอบบัญชีตามจริงโดยไม่กำหนดจำนวนเงินที่ต้องชำระขั้นตํ่าที่ 1,000 บาท

เตรียมตัวรับมือกับเงื่อนไขใหม่บัตรเครดิตอย่างไร

สำหรับเงื่อนไขการชำระขั้นต่ำ 8% จะเริ่มมีผลตั้งแต่รอบบัญชีเดือนมกราคม 2567 เป็นต้นไป จากตัวอย่างด้านบนสมมติว่ามียอดใช้บัตรเครดิต 100,000 บาทต่อบัตร ในรอบปี 2566 ยอดชำระขั้นต่ำ 5,000 บาท แต่พอถึงรอบปี 2567 เป็นต้นไป ยอดชำระขั้นต่ำ 8,000 บาท ซึ่งทำให้ต้องมีภาระเพิ่มขึ้นอีกเดือนละ 3,000 บาท ดังนั้น เพื่อให้ผู้ใช้บัตรเครดิตได้มีการเตรียมตัวรับมือกับเงื่อนไขใหม่บัตรเครดิตได้อย่างทันท่วงทีมีข้อแนะนำ ดังนี้

เตรียมตัวรับมือกับเงื่อนไขใหม่บัตรเครดิตอย่างไร
  • ต้องมีเงินสำรองเพิ่มขึ้น สำหรับรายที่มีการใช้บัตรเครดิตและผ่อนชำระขั้นต่ำ จึงเป็นความจำเป็นที่ผู้ใช้บัตรเครดิตต้องมีเงินสำรองเพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น หากมียอดคงค้างบัตรเครดิตเฉลี่ย 100,000 บาทต่อเดือน จากเดิมที่ต้องชำระขั้นต่ำ 8,000 บาท ในรอบบัญชีเดือนมกราคม 2567 ยอดชำระขั้นต่ำจะเพิ่มขึ้นอีก 2,000 บาท เป็น 10,000 บาท ทำให้มีภาระที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
  • ควบคุมเงินคงเหลือในแต่ละเดือนให้เป็นบวก (รวมค่าใช้จ่ายการผ่อนขั้นต่ำแล้ว) เพื่อให้ผู้ใช้บัตรเครดิต มีเงินคงเหลือเพียงพอในการดำรงชีพในแต่ละเดือนด้วย ไม่ทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง แต่ทั้งนี้ต้องอยู่บนพื้นฐานการใช้จ่ายที่สมเหตุสมผล หลีกเลี่ยงการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือย หรือใช้จ่ายเกินความจำเป็น ซึ่งผู้ใช้บัตรเครดิตต้องเป็นผู้ประเมินเอง
  • ไม่สร้างหนี้เพิ่ม หากใช้บัตรเครดิตผ่อนชำระขั้นต่ำ โดยเฉพาะการใช้บัตรเครดิตกับสิ่งฟุ่มเฟือยหรือใช้ในการสันทนาการที่ไม่จำเป็น หากจำเป็นต้องใช้ควรใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคเท่าที่จำเป็น เพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นหนี้ไม่จบสิ้น หรือตกอยู่ในวังวนแห่งการเป็นหนี้ ที่สำคัญต้องหลีกเลี่ยงการกู้หนี้นอกระบบมาเพื่อจ่ายหนี้เดิม ซึ่งจะทำให้มีโอกาสเข้าสู่วงจรอุบาทว์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
  • หากประเมินว่าจ่ายไม่ไหว หากผู้ถือบัตรเดรดิตมีภาระหนี้มากกว่า 60% ของรายได้ เช่น มีเงินเดือน 20,000 บาท มีภาระหนี้ที่ต้องจ่ายทั้งหมดมากกว่า 12,000 บาท นั่นคือสัญญาณที่บอกว่ามีภาระหนี้อยู่ในเกณฑ์ที่สูง ดังนั้น การขอปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงิน จึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมแต่ขอให้รีบทำเสียแต่เนิ่นๆ อย่าทิ้งไว้นาน อย่าหนี อย่าเชื่อกูรูบนโลกออนไลน์ที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน เพราะสถานการณ์ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน หลายครั้งคำแนะนำที่ได้รับยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลงกว่าเดิม ดังนั้น ขอให้ผู้ใช้บัตรเครดิตเข้ามาคุยกับธนาคารแบบเปิดใจ เพื่อจะได้ช่วยกันหาทางออกที่เหมาะสมที่สุด

ตัวอย่างเช่น การแปลงหนี้บัตรเครดิตเป็นเงินกู้แบบผ่อนชำระรายเดือน เช่น ผู้ใช้บัตรเครดิตเป็นหนี้ 100,000 บาท ผ่อนชำระขั้นต่ำ 8% เท่ากับ 8,000 บาท หลังจากผ่อนชำระขั้นต่ำเสร็จ ก็เบิกใช้ใหม่ทุกครั้ง จึงเท่ากับว่าต้องผ่อนชำระขั้นต่ำเช่นนี้ไปตลอด จนกลายเป็นหนี้ไม่จบสิ้น ดังนั้น การปรับโครงสร้างหนี้ โดยการแปลงหนี้บัตรเครดิตเป็นเงินกู้ จำนวน 100,000 บาท ระยะเวลาผ่อน 60 งวด อัตราดอกเบี้ย 16%* (ใช้อัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตในการคำนวณยอดผ่อนชำระ) ยอดผ่อนชำระในแต่ละเดือนเท่ากับ 2,500 บาท ซึ่งทำให้มีภาระการผ่อนลดลงในแต่ละเดือนเท่ากับ 5,500 บาท ซึ่งจะช่วยทำให้ไม่เป็นภาระที่หนักจนเกินไป

หากมีหนี้บัตรเครดิตหลายธนาคารแล้วจ่ายไม่ไหว แนะนำให้เข้าโครงการแก้ไขหนี้บัตรเครดิต เพื่อให้การปรับโครงสร้างหนี้เป็นไปอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด มีสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ มากกว่า 30 แห่ง (มีทั้ง Bank และ Non-Bank) โดยมีคลีนิคแก้หนี้เป็นคนกลางในการช่วยดำเนินการให้ เพื่อทำให้ผู้ใช้บัตรเครดิตสามารถชำระหนี้ได้ตามความสามารถของตนเอง และช่วยหลุดพ้นจากวงจรหนี้ได้

คำแนะนำเพิ่มเติมเพื่อให้เงินคงเหลือเป็นบวก

อยากให้ผู้ใช้บัตรเครดิตนำไปใช้เป็นแนวทางในการลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มรายได้ เพื่อทำให้ผู้ใช้บัตรเครดิตมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในระยะยาว สำหรับคำแนะนำเพิ่มเติม ประกอบด้วย

คำแนะนำเพิ่มเติมเพื่อให้เงินคงเหลือเป็นบวก
  • ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ซึ่งผู้ถือบัตรเครดิตต้องลองประเมินว่าในแต่ละเดือนมีค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น หรือค่าใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือย หรือค่าใช้จ่ายเพื่อการสันทนาการต่างๆ อะไรบ้างที่พอจะลดลงได้ ซึ่งในเรื่องนี้ทางผู้ใช้บัตรเครดิตต้องเป็นกำหนดเอง เพือทำให้มีเงินสดคงเหลือเพิ่มขึ้นในแต่ละเดือน
  • เพิ่มรายได้โดยการขายของที่ไม่ใช้แล้ว พวกของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น เสื้อผ้า, รองเท้า กระเป๋า เป็นต้น หรือพวกเครื่องมือ เครื่องใช้บางประเภท แนะนำให้ทำนอกเวลางานหรือใช้เวลาว่างในวันหยุด หลีกเลี่ยงการขายในเวลางาน ช่องทางการขายที่นิยมใช้กัน เช่น Facebook, IG, Line เป็นต้น แต่ทั้งนี้ผู้ขายต้องยึดหลักความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ตั้ง ไม่หลอกขายของที่ไม่ได้คุณภาพ ทั้งเรื่องการลดค่าใช้จ่าย และการเพิ่มรายได้ หากสามารถทำได้จะมีผลดีกับผู้ใช้บัตรเครดิตในระยะยาว นอกจากจะทำให้สามารถรับมือกับเงื่อนไขการผ่อนชำระบัตรเครดิตใหม่ได้ อีกทั้ง ยังทำให้มีเงินเก็บเพิ่มมากขึ้น
  • เพิ่มรายได้โดยขายทรัพย์สินหรือของสะสมบางอย่างออกไป เช่น ที่ดิน, บ้าน, ตึกแถว, คอนโด, รถยนต์, รถมอเตอร์ไซด์, นาฬิกา และพระเครื่อง เป็นต้น ซึ่งแนวทางนี้อาจจะดูว่าเป็นเรื่องง่ายๆ แต่ในความเป็นจริงเป็นเรื่องที่ทำยากที่สุด เพราะหลายๆ คนมักจะทำใจไม่ได้ ซึ่งตรงนี้ก็ขึ้นกับว่าจะตัดสินใจอย่างไร จะยอมแบกหนี้ต่อไป หรือยอมขายของที่รักออกมา เพื่อจะได้ลดภาระหนี้ลง

เงื่อนไขการผ่อนชำระขั้นต่ำใหม่ของบัตรเครดิตจากเดิม 5% ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 8% ตั้งแต่รอบบัญชีเดือนมกราคม 2567 เป็นต้นไป ดังนั้น ผู้ใช้บัตรเครดิตที่ใช้วิธีผ่อนชำระขั้นต่ำ ต้องเตรียมความพร้อมไว้แต่เนิ่นๆ เมื่อถึงเวลาจะได้ไม่มีปัญหาเรื่องมีเงินเหลือไม่เพียงพอชำระหนี้บัตรเครดิต แต่หากคิดว่าเงินคงเหลือในแต่ละเดือนจ่ายหนี้บัตรเครดิตไม่ไหว ขอให้รีบมาติดต่อกับธนาคารเพื่อวางแผนปรับโครงสร้างหนี้ร่วมกัน เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมที่สุด สำหรับช่องทางการติดต่อธนาคารกสิกรไทย สามารถสอบถามได้ที่ LINE @kbanklive หรือ K-Contact Center 02-8888888 กด 8 กด 1 กด 4 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือติดต่อผ่านสาขาของธนาคารที่สะดวกได้เช่นกัน หากมีหนี้บัตรเครดิตกับหลายสถาบันการเงิน สามารถใช้บริการของคลีนิคแก้หนี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่

* โปรดตรวจสอบอัตราดอกเบี้ย และเงื่อนไขต่างๆ ก่อนทุกครั้ง

อ้างอิง
คำถามที่พบบ่อย : บัตรเครดิตกสิกรไทย

สนใจบทความที่ช่วยให้คุณรู้จริงเรื่องกู้

คลิกเลย

ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง

back to top