รู้จักนายหน้าสินเชื่อเถื่อน รู้ทันเล่ห์เหลี่ยมนายหน้ามิจฉาชีพ รู้จักนายหน้าสินเชื่อเถื่อน รู้ทันเล่ห์เหลี่ยมนายหน้ามิจฉาชีพ

ทำความรู้จักนายหน้าสินเชื่อเถื่อน หรือมิจฉาชีพ เพื่อให้รู้ทันกลโกง

อาชีพนายหน้าเป็นอาชีพดั้งเดิมที่เข้ามามีบทบาทในหลาย ๆ ธุรกิจ เช่น ประกันชีวิต ประกันวินาศภัย อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ ปัจจุบันยังเข้ามีมีบทบาทในการช่วยขายสินเชื่อ หรือผลิตภัณฑ์ประเภทอื่น ๆ ให้ธนาคารอีกด้วย

สำหรับอาชีพนายหน้าสินเชื่อ มีด้วยกันอยู่ 2 ประเภท 1) นายหน้าสินเชื่อที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจากธนาคาร กับ 2) นายหน้าสินเชื่อเถื่อน หรือนายหน้ามิจฉาชีพ ทั้ง 2 ประเภทมีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง

  1. นายหน้าสินเชื่อที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นทางการ นายหน้ากลุ่มนี้จะเป็นตัวแทนของธนาคารโดยตรง จะพบได้ 2 แบบ คือ (1) โทรไปขายสินเชื่อ กับ (2) ไปออกบูทขายสินเชื่อ หรือประจำโครงการอสังหาริมทรัพย์ สำหรับนายหน้าทั้ง 2 แบบนี้เวลาแนะนำหรือขายสินเชื่อเขาจะมีการแสดงตัวตนอย่างชัดเจน ถ้าเป็นการโทรฯ จะมีการแนะนำตัว บอกรหัสประจำตัว และบอกสังกัดในที่นี้คือธนาคารกสิกรไทย เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้รับสาย และสามารถตรวจสอบได้ แต่ถ้าเป็นการออกบูทหรือประจำโครงการฯ จะมีการแนะนำตัว และแสดงบัตรประจำตัวพนักงานอย่างชัดเจนว่าเป็นตัวแทนของธนาคาร วิธีการสังเกตว่าเป็นนายหน้าของธนาคารหรือไม่ นอกจากจะดูได้จากที่กล่าวไปแล้วข้างต้น นายหน้ากลุ่มนี้จะไม่มีการเรียกเก็บค่าหัวคิว หรือเงินปากถุงจากลูกค้า เพื่อเป็นค่าดำเนินการ

    สำหรับค่าใช้จ่ายในการขอสินเชื่อไม่มีหลักประกัน เมื่อธนาคารได้เรียกเก็บไปแล้ว จะออกใบเสร็จรับเงินให้ ดังนี้

    ประเภทค่าใช้จ่าย* อัตราที่เรียกเก็บ (%)*
    - ค่าธรรมเนียมจัดการให้กู้ หรือ ไม่เกิน 3%
    ของวงเงินตามสัญญา
    - ค่าธรรมเนียมรายปี
    สำหรับโครงการพิเศษ
    ไม่เกิน 3%
    ของวงเงินที่เบิกใช้
    - ค่าอากรแสตมป์ติดสัญญา 0.05% ของวงเงิน
    (สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท)

    * ข้อมูล ณ 20 พ.ย.65 โปรดตรวจสอบรายละเอียดค่าใช้จ่ายและอัตราค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บอีกครั้งเมื่อต้องการกู้เงินจากธนาคาร

  2. นายหน้าสินเชื่อเถื่อน หรือนายหน้ามิจฉาชีพ คนกลุ่มนี้มักแฝงตัวมาในรูปแบบของผู้หวังดีที่จะเข้ามาให้ความช่วยเหลือกับคนที่ต้องการกู้เงินจากธนาคาร ทั้งในรูปแบบของการพาไปกู้ที่ธนาคาร หรือช่วยทำเรื่องกู้ผ่านธนาคารทางมือถือ โดยคนกลุ่มนี้จะเรียกรับผลประโยชน์จากคนกู้ในอัตรา 10% - 30% ต่อการกู้ในแต่ละครั้ง สำหรับเงินที่นายหน้าส่วนใหญ่จะมีการเรียกเก็บเงินก่อนป้องกันคนกู้ไม่ยอมจ่ายเมื่อได้รับอนุมัติเงินกู้ไปแล้ว แต่หากกู้ไม่ผ่านก็จะคืนเงินให้บางส่วนไม่ได้คืนเงินทั้งหมด ที่เหลือจะถูกหักเป็นค่าเสียเวลาของนายหน้าแทน ในอัตรา 1% - 2% พูดง่าย ๆ ว่าต้องเสียเงินทั้งขึ้นทั้งร่องไม่ว่าจะกู้ผ่านหรือไม่ผ่านก็ตาม หรือบางกรณีถูกหรอกให้โอนเงินมาก่อน พอทำเรื่องไม่ผ่านก็ไม่ยอมคืนเงินให้ทั้งก้อน แล้วทำการบล็อกเบอร์โทรศัพท์ บล็อกเฟสบุ๊ค บล็อกไลน์หนีไปเลยก็มี

ทำไมคนที่ต้องการกู้เงินมักขอความช่วยเหลือผ่านนายหน้ามีสาเหตุอะไรบ้าง

จากการสังเกตุพฤติกรรมของผู้บริโภคตามสื่อสังคมออนไลน์ที่ต้องการกู้เงินธนาคาร โดยมีการใช้บริการจากนายหน้าเถื่อนหรือนายหน้ามิจฉาชีพมีสาเหตุหลัก ๆ ดังนี้

  1. ไม่มีข้อมูลในการขอสินเชื่อ ยกตัวอย่างพฤติกรรมที่ผู้บริโภคจะแสดงออก เช่น Capture หน้าจอที่มีการแสดงรายการเดินบัญชี (Statement) แล้วนำมาโพสต์สอบถามในกลุ่มที่มีนายหน้าเถื่อนฯ ในทำนองว่าการเดินบัญชีลักษณะนี้จะกู้ผ่านหรือไม่ เป็นการเปิดช่องให้นายหน้าเถื่อนเสนอตัวเข้ามาเป็นผู้ช่วยเหลือให้กู้ผ่าน

    สำหรับในเรื่องนี้ธนาคารได้ทำเครื่องมือช่วยคำนวณความสามารถในการกู้ไว้ให้กับลูกค้าสามารถคำนวณได้ในเบื้องต้น ที่นี่ เพียงกรอกข้อมูลที่จำเป็น และต้องกรอกตามความเป็นจริง ข้อมูลที่ต้องกรอก ได้แก่ วงเงินที่ต้องการกู้ (มีให้เลือกทั้งแบบระบุวงเงินกับไม่ระบุวงเงิน) ขั้นตอนต่อมาเลือกวัตถุประสงค์การใช้เงิน เช่น ใช้หมุนเวียนหรือใช้สำรองในธุรกิจ (มีหลายหัวข้อให้เลือกขึ้นกับเหตุผลของแต่ละคน) แล้วระบบจะให้เลือกต่อว่าต้องการแบบ “เงินก้อน ผ่อนชำระเท่ากันทุกเดือน” หรือ “เงินสำรองหมุนเวียน จ่ายดอกเมื่อใช้” จากนั้นมากรอกรายละเอียดเพิ่ม เช่น อายุ อาชีพ ข้อมูลรายได้และภาระหนี้ต่อเดือน เมื่อกรอกเสร็จระบบจะทำการประมวลผลออกมาให้ทราบในเบื้องต้นว่ากู้ผ่านหรือไม่ผ่าน ซึ่งในหน้าแสดงผลนี้จะมีคำว่า “สมัครเลย” หากต้องการขอกู้เงินสามารถกดจากปุ่มดังกล่าวได้ทัน โดยสามารถใช้ข้อมูลเดียวกับที่กรอกไปแล้วในเบื้องต้นได้ ดังนั้น การไม่รู้หรือไม่มีข้อมูลในการขอสินเชื่อ ไม่ใช่เรื่องผิด แต่แหล่งข้อมูลที่สอบถาม ควรเป็นแหล่งที่เชื่อถือได้และปลอดภัยกับข้อมูลที่เปิดเผยด้วย

  2. ไม่ชอบเทคโนโลยีหรือไม่รู้วิธีการใช้เทคโนโลยี เป็นเรื่องที่เกิดกับคนส่วนหนึ่งที่ไม่ได้สนใจในเรื่องเทคโนโลยี หรือมีความกังวลในการใช้เทคโนโลยีทำธุรกรรมการเงิน ทำให้เมื่อต้องการกู้เงินออนไลน์ และกรอกข้อมูลหรือรายละเอียดทางออนไลน์ ทำให้กรอกไม่ถูกต้องหรือเข้าใจผิด และส่งผลต่อการปฏิเสธวงเงิน และคิดว่ากลุ่มนายหน้าเถื่อน จะมีเคล็ดลับที่ช่วยให้ได้รับวงเงินตามต้องการ
  3. เคยถูกปฎิเสธการขอกู้เงินจากธนาคารมาก่อน ซึ่งคนกลุ่มนี้มักมีความจำเป็นต้องใช้เงินแต่ถูกธนาคารปฎิเสธ โดยที่ไม่รู้ว่าถูกปฏิเสธด้วยสาเหตุอะไร ยิ่งไปกว่านั้นไม่รู้ว่าสามารถทำเรื่องขอกู้เงินใหม่ได้อีก จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่หันไปใช้บริการนายหน้าเถื่อน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วนายหน้าเถื่อนก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าถูกปฎิเสธการขอกู้เงินด้วยสาเหตุอะไร แต่อาศัยกรอกข้อมูลของผู้ขอสินเชื่อหลาย ๆ รายไป และคาดการณ์ปัจจัยที่ทำให้วงเงินได้รับการอนุมัติ ทั้ง ๆ ที่ไม่ทราบสาเหตุของการอนุมัติ หรือปฏิเสธวงเงินที่แท้จริง จึงเอาเรื่องนี้มาเคลมเป็นผลงานของตัวเอง แล้วเอามาใช้ในการหากินจนถึงปัจจุบันนี้

    สำหรับเรื่องนี้คนกู้สามารถโทรไปสอบถามสาเหตุที่ถูกปฏิเสธสินเชื่อได้จาก K-Contract Center โทร. 02-888-8888 กด 8 กด 1 กด 4 ซึ่งคนกู้ต้องโทรไปสอบถามด้วยตนเอง ไม่สามารถให้นายหน้าเถื่อนโทร.แทนได้ เจ้าหน้าที่จะไม่บอกข้อมูลนี้กับผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง

สำหรับเรื่องนี้ทางธนาคารได้จัดทำคู่มือการกรอกข้อมูลสำหรับการขอสินเชื่อออนไลน์ไว้แล้ว สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ ที่นี่ หรือศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากบทความ “สินเชื่อเงินด่วนเพื่อธุรกิจ ยืมผ่านออนไลน์ได้แล้วนะ” ที่นี่ และทำรายการยืมเงินได้ด้วยตนเองตนเองผ่านธนาคารทางมือถือ โดยใช้เวลาสั้นๆ เพียง 5 นาที และสามารถรู้ผลการอนุมัติได้ภายใน 15 นาที ถ้าไม่มีประเด็นอะไรเพิ่มเติม

คนที่ต้องการกู้เงินแล้วกลัวว่าจะทำไม่เป็น หรือกลัวว่าจะกู้ไม่ผ่าน ซึ่งกำลังมีความคิดที่จะไปใช้บริการจากนายหน้าเถื่อน หรือนายหน้ามิจฉาชีพ อาจจะต้องกลับมาคิดทบทวนใหม่ เพราะการที่จะกู้ผ่านหรือไม่ผ่านมาจากคุณสมบัติของตัวผู้กู้เอง ถ้ามีคุณสมบัติที่ดีก็สามารถกู้ผ่านได้ แต่ถ้ามีคุณสมบัติที่ไม่ดี เช่น กู้แล้วไม่ยอมผ่อน ซึ่งธนาคารจะปฏิเสธการขอกู้เงิน กรณีเช่นนี้นายหน้าเถื่อนก็ไม่สามารถช่วยให้กู้ผ่านได้ ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารมีการทำเครื่องมือช่วยให้คนกู้สามารถทำเรื่องกู้เงินออนไลน์ได้ด้วยตนเอง หากกังวลว่าจะทำไม่เป็นหรือทำไม่ถูก สามารถปรึกษาได้จากช่องทางอย่างเป็นทางการของธนาคาร เช่นช่องทาง LINE @kbanklive หรือ K-Contact Center 02-8888888 กด 8 กด 1 กด 4 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือติดต่อผ่านสาขาที่สะดวกได้เช่นกัน ซึ่งเจ้าหน้าที่ทุกคนยินดีให้ความช่วยเหลือคนที่ต้องการกู้ด้วยความตั้งใจและด้วยความเต็มใจ

สนใจบทความที่ช่วยให้คุณรู้จริงเรื่องกู้

คลิกเลย

ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง

back to top