รวม 6 ค่าใช้จ่ายในการซื้อบ้านมือสอง ที่คุณต้องรู้ก่อนการซื้อ

6 ค่าใช้จ่ายในการซื้อบ้านมือสอง ที่คุณต้องรู้ก่อนการซื้อ

24 ต.ค. 2565

รวม 6 ค่าใช้จ่ายในการซื้อบ้านมือสอง ที่คุณต้องรู้ก่อนการซื้อ
quote

ค่าใช้จ่ายในการซื้อบ้านมือสอง ที่คุณต้องรู้ก่อนซื้อ มีอะไรบ้าง? แน่นอนว่าการซื้อบ้านเป็นค่าใช้จ่ายอย่างหนึ่ง ถึงแม้ว่าราคาบ้านมือสองจะมีราคาถูกกว่าบ้านมือหนึ่ง แต่ในการซื้อบ้านก็จะมีค่าใช้จ่ายย่อย ๆ ตามมาอีกมากมาย เช่น ค่ามัดจำ ค่าประกัน ค่าบ้าน ค่าโอน ฯลฯ ดังนั้น ธนาคารกสิกรไทย จึงรวบรวมค่าใช้จ่ายในการซื้อบ้านมือสองที่ต้องรู้ก่อนตัดสินใจซื้อบ้านมาฝากกัน

quote
ค่ามัดจำบ้านเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อบ้านมือสอง
ค่ามัดจำบ้านเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อบ้านมือสอง
  1. ค่ามัดจำบ้าน

    การซื้อบ้านมือสองต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง? ค่าใช้จ่ายในการซื้อบ้านมือสองอย่างแรกที่จะเกิดขึ้นหลังจากตัดสินใจซื้อบ้านเรียบร้อยแล้ว คือ ค่ามัดจำบ้าน ซึ่งก็คือการวางเงินจองสิทธิ์ในการขอซื้อบ้าน ป้องกันไม่ให้คนอื่นซื้อบ้านตัดหน้าไปได้ โดยทั่วไปแล้วในสัญญาจะซื้อจะขายนั้น จะมีการระบุจำนวนเงินในการวางมัดจำบ้าน จะอยู่ที่ประมาณ 5-20% ของราคาขาย ซึ่งผู้ที่สนใจจะจองบ้าน ต้องชำระเงินเพื่อจองสิทธิ์เอาไว้ โดยไม่มีการขอผ่อนชำระค่าดาวน์บ้านเหมือนบ้านมือหนึ่ง

    ค่าใช้จ่ายในการซื้อบ้านมือสองอีกจุดคืออัตราค่าธรรมเนียมในการขอสินเชื่อกับธนาคาร
    ค่าใช้จ่ายในการซื้อบ้านมือสองอีกจุดคืออัตราค่าธรรมเนียมในการขอสินเชื่อกับธนาคาร
  2. ค่าใช้จ่ายในการขอสินเชื่อ

    สำหรับผู้ที่มีงบจำกัด ไม่สะดวกในการซื้อเงินสด แต่ต้องการซื้อบ้าน จะต้องดำเนินการขอสินเชื่อกับทางธนาคาร โดยทางธนาคาร หรือสถาบันการเงิน จะมีการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายในการซื้อบ้านมือสอง ดังนี้

    ค่าธรรมเนียมยื่นกู้

    ค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ คือ ค่าดำเนินการขอยื่นกู้ ที่ทางธนาคารจะทำการเรียกเก็บจากผู้กู้ ซึ่งอัตราค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ โดยปกติจะอยู่ที่ 0-1% ของวงเงินกู้ โดยจะขึ้นอยู่กับนโยบายและข้อกำหนดของแต่ละธนาคาร

    ค่าประเมินราคา

    ค่าประเมินราคา คือ ค่าดำเนินการของทางธนาคารที่จะเข้าไปประเมินราคาบ้านหลังเดิมที่มีอยู่ โดยทางธนาคารจะส่งผู้เชี่ยวชาญมาประเมินบ้านว่ามีมูลค่าเท่าไหร่ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญอาจเป็นเจ้าหน้าที่ของธนาคารหรือบริษัทประเมินราคาทรัพย์สินเอกชน การประเมินราคาบ้านจะมีค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 1,000 - 3,000 บาทโดยประมาณ ขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคารหรือบริษัทประเมิน และผู้ซื้อเป็นผู้ชำระค่าใช้จ่ายส่วนนี้

    ค่าประกันสินเชื่อบ้าน

    ค่าประกันสินเชื่อบ้าน เป็นการทำประกันที่มีลักษณะคล้ายกับการทำประกันชีวิต ซึ่งค่าประกันสินเชื่อบ้านเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อบ้านมือสองที่ทำโดยความสมัครใจ ไม่ได้มีการบังคับ และไม่ได้มีผลต่อการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อบ้าน ซึ่งตัวประกันสินเชื่อบ้านนั้น เหมาะสำหรับผู้ขอสินเชื่อหลัก หากเกิดเหตุไม่คาดฝัน ทำให้ผู้ขอสินเชื่อหลักเสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวรจนกระทบต่อการหารายได้ บริษัทประกันจะคุ้มครองตามวงเงินกู้ที่กำหนด ซึ่งเป็นข้อดีที่สมาชิกในครอบครัวจะไม่ต้องแบกรับหนี้สินต่อ

    เบี้ยประกันบ้านเป็นหนึ่งในค่าใช้จ่ายในการซื้อบ้านมือสอง
    เบี้ยประกันบ้านเป็นหนึ่งในค่าใช้จ่ายในการซื้อบ้านมือสอง
  3. ค่าเบี้ยประกันบ้านมือสอง

    ค่าเบี้ยประกันบ้าน คือ ค่าประกันเกี่ยวกับตัวบ้านที่ทางธนาคารขอให้ทางผู้ซื้อบ้านทำ โดยค่าใช้จ่ายในการซื้อบ้านมือสองส่วนนี้ แบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่

    • ประกันที่ต้องทำ เป็นประกันที่บังคับต้องทำตามกฎหมาย ผู้ซื้อบ้านจะต้องมีกรมธรรม์ในรูปแบบประกันอัคคีภัย
    • ประกันที่ควรทำ เป็นประกันกฎหมายหรือประกันธนาคารไม่ได้บังคับให้ทำ เป็นการทำประกันด้วยความสมัครใจ

    ประกันอัคคีภัย

    ประกันอัคคีภัย เป็นประกันที่ทุกคนต้องทำ เนื่องจากกฎหมายบังคับให้ผู้ซื้อบ้านต้องซื้อกรมธรรม์รูปแบบนี้ ซึ่งคุ้มครองในกรณีที่เกิดฟ้าผ่า เพลิงไหม้ เหตุไฟฟ้าลัดวงจร แก๊สรั่ว โดยมีค่าเบี้ยประกันอยู่ที่ 1,000-3,000 บาท ต่อวงเงินประกัน 1 ล้านบาท โดยปกติจะจ่ายเบี้ยประกันปีต่อปี แต่ก็สามารถซื้อประกันเป็นแบบราย 2 ปี หรือ 3 ปีได้ตามความต้องการ ซึ่งหากซื้อประกันราย 2-3 ปีจะได้ส่วนลดค่าเบี้ยประกันเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

    ประกันภัยพิบัติ

    ประกันภัยพิบัติ เป็นประกันที่สามารถเลือกซื้อเพิ่มเติมได้ โดยจะคุ้มครองภัยธรรมชาติที่เข้าข่ายมีความรุนแรงถึงขั้นระดับที่เป็นภัยพิบัติ มี 3 กรณี คือ น้ำท่วม ลมพายุ และแผ่นดินไหว สำหรับผู้ซื้อประกันภัยพิบัตินั้น ตัวประกันจะคุ้มครองให้อัตโนมัติในวงเงินไม่เกิน 100,000 บาท โดยดอกเบี้ยประกันภัยต่อปีจะอยู่ที่ 0.5% ต่อวงเงิน หากผู้ซื้อต้องการวงเงินคุ้มครองที่เกินกว่า 100,000 บาท ให้ติดต่อบริษัทประกันภัยโดยตรง

    ค่าตรวจบ้านก่อนโอนกรรมสิทธิ์เป็นอีกหนึ่งค่าใช้จ่ายในการซื้อบ้านมือสอง
    ค่าตรวจบ้านก่อนโอนกรรมสิทธิ์เป็นอีกหนึ่งค่าใช้จ่ายในการซื้อบ้านมือสอง
  4. ค่าตรวจบ้านก่อนโอนกรรมสิทธิ์

    ค่าใช้จ่ายในการตรวจบ้านก่อนโอน คือ การที่ผู้ซื้อจะเข้าไปตรวจตัวบ้านที่ต้องการจะซื้อ ก่อนทำการเซ็นรับโอน โดยสามารถเลือกจ้างผู้เชี่ยวชาญให้มาตรวจ หรือจะตรวจด้วยตนเองก็ได้ ซึ่งจะต้องตรวจดูสภาพบ้านทั้งโครงสร้างตัวบ้าน ทางเดินของบ้าน ช่องทางระบายอากาศ ระบบประปา และระบบไฟฟ้าว่ายังมีสภาพดีอยู่หรือไม่ หากพบเจอสิ่งที่ชำรุดเสียหาย ทางผู้เชี่ยวชาญที่มาตรวจบ้านจะสามารถประเมินค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมได้

  5. คำนวณค่าโอนและค่าจดจำนองเพื่อช่วยวางแผนสรุปค่าใช้จ่ายในการซื้อบ้านมือสอง
    คำนวณค่าโอนและค่าจดจำนองเพื่อช่วยวางแผนสรุปค่าใช้จ่ายในการซื้อบ้านมือสอง
  6. ค่าใช้จ่ายในการโอนกรรมสิทธิ์

    หลังจากยื่นขอสินเชื่อ รวมถึงชำระค่าประกันต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว ค่าใช้จ่ายในการซื้อบ้านมือสองขั้นตอนต่อไป คือ ค่าใช้จ่ายในการโอนกรรมสิทธิ์ของบ้าน ซึ่งสามารถคำนวณค่าโอนบ้านมือสองคำนวณค่าโอนบ้านมือสอง และคำนวณค่าจดจำนองคร่าว ๆ ด้วยตนเองก่อน เพื่อเป็นการวางแผนสรุปค่าใช้จ่ายอีกด้วย

    ค่าธรรมเนียมการโอน

    ค่าธรรมเนียมการโอน คือ ค่าใช้จ่ายในการโอนกรรมสิทธิ์ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย คิดอัตราค่าธรรมเนียม 2% จากราคาประเมินที่รวมที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยปกติผู้ซื้อและผู้ขายจะทำการแบ่งจ่ายค่าธรรมเนียมการโอนคนละ 1%

    จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของทางรัฐบาลในปี 2565 ได้มีการประกาศลดค่าธรรมเนียมการโอน จาก 2% เหลืออยู่ที่ 0.01% สำหรับอสังหาริมทรัพย์ราคาประเมินไม่เกิน 3 ล้านบาท ครอบคลุมทั้งบ้านใหม่และบ้านมือสอง ซึ่งทางธนาคารกสิกรไทยก็มีจัดช่วงเวลาโปรโมชันตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะเป็นลดราคาบ้านมือสอง สนับสนุนค่าธรรมเนียมในการโอน หรือโปรโมชันสนับสนุนอื่น ๆ ที่ช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายในการซื้อบ้านมือสองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในเว็บไซต์ของธนาคารกสิกรไทย

    ค่าจดจำนอง

    ค่าจดจำนอง คือ ค่าใช้จ่ายที่ผู้ซื้อบ้านทำการยื่นขอสินเชื่อเพื่อใช้ในการกู้เงินซื้อบ้าน ซึ่งอัตราค่าจดจำนองจะคิดในอัตรา 1% จากราคาจำนอง โดยจะเสียไม่เกิน 200,000 บาท *หากเป็นการซื้อเงินสด จะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายส่วนนี้*

    ยกตัวอย่างการคำนวณค่าจดจำนอง

    • กู้เงินเพื่อซื้อบ้าน ราคา 3,000,000 บาท จะเสียค่าจดจำนอง 3,000,000 x 1% = 30,000 บาท
      ซึ่งหากเป็นการกู้เงินที่ 20 ล้านบาท หรือมากกว่านั้น จะเสียค่าจดจำนองสูงสุดอยู่ที่ 200,000 บาท

    จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของทางรัฐบาลในปี 2565 มีการลดค่าจดทะเบียนจำนองจาก 1% เหลือ 0.01% สำหรับกรณีซื้อที่อยู่อาศัย (บ้านเดี่ยว บ้านแฝด และบ้านแถว) โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม - 31 ธันวาคม 2565

    ภาษีธุรกิจเฉพาะ

    ภาษีธุรกิจเฉพาะ คือ ภาษีที่เก็บจากธุรกิจบางประเภทที่กฎหมายกำหนดแยกออกจากภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยเป็นธุรกิจจำพวกกิจการที่เกี่ยวกับเงินตราเป็นหลัก เช่น กิจการธนาคาร ธุรกิจเงินทุน ธุรกิจเกี่ยวกับประกันชีวิต เป็นต้น ซึ่งในการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์นั้น ผู้ขายที่เข้าข่ายเป็นกลุ่มธุรกิจเฉพาะ หรือนิติบุคคล จะต้องเสียค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ คิดเป็น 3.3% ของราคาขาย หรือราคาประเมินจากสำนักงานที่ดิน (โดยจะเลือกราคาที่สูงกว่ามาใช้ในการคำนวณภาษี)

    ยกตัวอย่างการคำนวณภาษีธุรกิจเฉพาะ

    • มูลค่าของบ้านอยู่ที่ 2 ล้าน จะเสียค่าภาษีธุรกิจจำเพาะอยู่ที่ 2,000,000 x 3.3% = 66,000 บาท

    ซึ่งเคล็ดลับสำหรับผู้ที่มีอสังหาริมทรัพย์อยู่ในมือแล้วต้องการขายในอนาคต ขอแนะนำให้ถือครองบ้านให้เกิน 5 ปี หรือย้ายชื่อเข้ามาอยู่ในทะเบียนบ้านให้ครบ 1 ปีก่อน เพื่อที่จะไม่ต้องเสียค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ แต่จะต้องชำระค่าอากรแสตมป์แทน

    ค่าอากรแสตมป์

    สำหรับกรณีที่มีการซื้อขายบ้านในนามบุคคลธรรมดา และผู้ขายมีการถือครองมาเป็นระยะเวลาเกิน 5 ปี หรือมีชื่อในทะเบียนบ้านเกิน 1 ปี จะต้องจ่ายค่าอากรแสตมป์ 0.05%

    ยกตัวอย่างการคำนวณค่าอากรแสตมป์

    • มูลค่าของบ้านอยู่ที่ 1.8 ล้านบาท แต่ว่ามีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านนานเกิน 1 ปี จะเสียค่าอากรแสตมป์อยู่ที่ 1,800,000 x 0.05% = 9,000 บาท

    ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

    ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยปกติแล้วจะต้องเป็นหน้าที่ของผู้ขายในการชำระเงินส่วนนี้ เพราะถือว่าผู้ขาย จะได้รับรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะคิดตามจำนวนปีที่ผู้ขายได้รับอสังหาริมทรัพย์นั้น ๆ มา โดยจะคิดไม่เกินร้อยละ 2.5 จากราคาประเมิน

  7. ค่าติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าเป็นอีกหนึ่งค่าใช้จ่ายในการซื้อบ้านมือสอง
    ค่าติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าเป็นอีกหนึ่งค่าใช้จ่ายในการซื้อบ้านมือสอง
  8. ค่าติดตั้งมิเตอร์น้ำ - ไฟ

    หลังจากโอนกรรมสิทธิ์เรียบร้อยแล้ว ก็ยังมีอีกหนึ่งค่าใช้จ่ายในการซื้อบ้านมือสอง นั่นก็คือ ค่าติดตั้งมิเตอร์น้ำและไฟฟ้า ผู้ซื้อควรตรวจสอบสิทธิ์การใช้น้ำและไฟฟ้า ก่อนเข้าอยู่อาศัย หากเจ้าของบ้านคนเก่าติดตั้งมิเตอร์น้ำและไฟฟ้าไว้แล้ว ให้ผู้ซื้อติดต่อโอนกรรมสิทธิ์มาที่ตนเอง ควรมีการตกลงกันให้เรียบร้อยว่าใครจะเป็นผู้ดำเนินการระหว่างเจ้าของบ้านเดิมและผู้ซื้อบ้าน

    สำหรับการติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้า ควรเตรียมเอกสารที่จำเป็นให้พร้อม โดยกรอกแบบฟอร์มคำขอโอนมิเตอร์ พร้อมสำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านของผู้โอนและผู้รับโอน (ควรถ่ายสำเนาไว้อย่างละ 2 ชุด) และสามารถยื่นเรื่องได้ที่การไฟฟ้านครหลวง หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคทุกสาขา ใช้เวลาในการดำเนินการประมาณ 7 วันทำการ เมื่อดำเนินการเสร็จสิ้น เจ้าหน้าที่จะโทรแจ้งเพื่อให้ผู้ที่ติดต่อเรื่องไปรับเอกสารระบุการเปลี่ยนชื่อเจ้าของมิเตอร์ไฟฟ้า

    สำหรับการติดตั้งมิเตอร์ประปา ให้เตรียมเอกสารที่จำเป็น โดยกรอกแบบฟอร์มคำขอโอนมิเตอร์ พร้อมสำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านของผู้โอนและผู้รับโอน (ควรถ่ายสำเนาไว้อย่างน้อย 2 ชุด) พร้อมนำไปยื่นเรื่องได้ที่การประปาทุกสาขา ใช้เวลาในการดำเนินการประมาณ 5 วันทำการ โดยมีค่าใช้จ่ายดังนี้

    • ค่าธรรมเนียมการโอนมิเตอร์ประปา 50 บาท
    • เงินประกันการใช้น้ำตามขนาดมาตรวัดน้ำ รวมภาษี 7% (ซึ่งหากผู้โอนยินยอมโอนเงินประกันให้เจ้าของบ้านคนใหม่ จะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการวางเงินประกันการใช้น้ำ โดยทางผู้โอนจะต้องลงชื่อหลังใบเสร็จเงินประกันการใช้น้ำฉบับจริง)

ทุกคนคงได้คำตอบที่สงสัยกันไปแล้วว่าซื้อบ้านมือสองเสียค่าอะไรบ้าง ซึ่งจริง ๆ แล้ว ค่าใช้จ่ายในการซื้อบ้านมือสองนั้น ก็จะมีรายละเอียดที่ใกล้เคียงกับการซื้อบ้านมือหนึ่ง ทั้งการเซ็นสัญญา การขอสินเชื่อ การนัดโอนกรรมสิทธิ์ เพียงแต่ข้อดีของการซื้อบ้านมือสอง คือ โอกาสในการประหยัดค่าใช้จ่าย และโอกาสที่จะได้บ้านในทำเลดี ราคาถูกกว่าการซื้อบ้านใหม่นั่นเอง อีกทั้งในปี 2565 นี้ ทางรัฐบาลได้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลดภาระผู้ที่อยากซื้อบ้านในหลาย ๆ อย่างไม่ว่าจะเป็น การผ่อนคลายมาตรการ LTV ชั่วคราว ทำให้สามารถกู้ซื้อบ้านได้ 100% การลดค่าธรรมเนียมโอน-จดจำนอง การคงราคาประเมินที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จึงถือเป็นโอกาสของผู้ที่อยากซื้อบ้านเป็นของตนเองเลยก็ว่าได้