Display mode (Doesn't show in master page preview)
Skip Ribbon Commands
Skip to main content

​สิ่งต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ที่คุณอาจคิดไม่ถึงว่าขับเคลื่อนด้วย AI

ถ้าพูดถึง “Artificial Intelligent (AI)” หรือที่แปลเป็นไทยว่า “ระบบปัญญาประดิษฐ์” หลายคนอาจนึกไปถึงหุ่นยนต์ หรือ สิ่งประดิษฐ์แสนไฮเทคอย่างในภาพยนตร์ไซไฟ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ปัจจุบัน AI ซ่อนอยู่ในสิ่งของหรือบริการที่ใช้กันโดยทั่วไป และ อยู่ร่วมกับชีวิตประจำของคนเราได้อย่างกลมกลืน 

ระบบช่วยเหลือลูกค้าออนไลน์
เว็บไซต์ปัจจุบันมักมีระบบแชทที่คอยตอบปัญหาหรือช่วยเหลือลูกค้าได้แบบออนไลน์ ซึ่งผู้ที่คอยตอบนั้น ก็ล้วนมีทั้งพนักงานที่เป็นมนุษย์ หรือว่าเป็น “Chatbot” ซึ่งเป็น AI ที่จะคอยช่วยเหลือลูกค้าได้ 24 ชั่วโมง เหมาะสำหรับการตอบคำถามที่ถูกถามบ่อย ได้ประโยชน์ทั้งลดปริมาณงานของพนักงานคอลเซนเตอร์ หรือ เจ้าของธุรกิจที่จะต้องคอยตอบคำถามเหล่านั้น และ ลูกค้าก็ได้รับคำตอบที่ต้องการอย่างรวดเร็วเช่นกัน

ระบบแนะนำเพลงหรือภาพยนตร์
การแนะนำเพลงหรือภาพยนตร์ให้กับผู้ใช้บริการแต่ละรายของบริการ Streaming อย่าง Spotify หรือ Netflix ก็ขับเคลื่อนด้วย AI เช่นกัน โดยระบบจะประมวลผลจากข้อมูลการใช้งานที่ผ่าน ๆ มาของผู้ใช้รายนั้น ๆ ว่ามีความสนใจหรือชื่นชอบในตัวคอนเทนต์แบบใด แล้วจึงแนะนำสิ่งที่ใกล้เคียงกันเพื่อให้ตรงใจผู้ใช้มากที่สุด

ระบบรู้จำใบหน้าของ Facebook
ผู้ใช้ Facebook คงคุ้นเคยกันดีกับการที่อัพโหลดภาพขึ้นไปแล้ว Facebook จะแท็กเพื่อนที่อยู่ในภาพให้โดยอัตโนมัติ แน่นอนว่าฟีเจอร์นี้ก็สามารถทำได้โดยการใช้ความสามารถของ AI เช่นกัน ซึ่งระบบจะอ้างอิงจากคลังภาพบุคคลจำนวนนับล้านที่มีอยู่ โดยมีความถูกต้องถึง 97%

ผู้ช่วยเสมือนจริง
ผู้ใช้สมาร์ทโฟนคงคุ้นเคยกันดีกับ “Siri” หรือ “Alexa” ที่เป็นระบบผู้ช่วยเสมือนจริงแบบสั่งงานด้วยเสียงในอุปกรณ์ของ Apple หรือ Google ซึ่งแน่นอนว่าผู้ช่วยไฮเทคนี้ก็เป็น AI เช่นกัน ขับเคลื่อนด้วยระบบประมวลภาษาธรรมชาติ (NLP) ที่จะวิเคราะห์คำสั่งหรือความต้องการของผู้ใช้ผ่านภาษาที่พูดกันโดยปกติ ให้ AI สามารถเข้าใจและสร้างประโยคเพื่อตอบคำถามหรือทำในสิ่งที่ผู้ใช้ต้องการได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

ระบบการบินอัตโนมัติ
ถึงจะไม่ได้ใช้อุปกรณ์หรือบริการอิเล็กทรอนิกส์ตามที่กล่าวมาข้างต้น แต่ถ้าหากเคยขึ้นเครื่องบิน ก็ถือว่าเคยสัมผัสกับสิ่งที่ขับเคลื่อนด้วย AI มาแล้วเช่นกัน เนื่องจากเครื่องบินนั้นจะใช้ระบบการบินอัตโนมัติ หรือที่เรียกว่า “Autopilot” ซึ่งจะช่วยลดภาระของนักบินในการบังคับเครื่องบิน ป้องกันความล้าระหว่างการบิน ตลอดจนลดความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดพลาดโดยบุคคลจนนำไปสู่อุบัติเหตุได้ โดยการทำงานของ Autopilot นี้ จะขับเคลื่อนด้วย 4 ระบบหลัก ได้แก่ ระบบควบคุมการบิน ระบบนำทาง ระบบควบคุมความสูง และ ระบบลงจอด


ที่มา :
กลับ