ศ. ดร.ณัชชา พันธุ์เจริญ

อาจารย์ประจำภาควิชาดุริยางคศิลป์
คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ศาสตราจารย์ด้านดนตรีแห่งยุค

หากกล่าวถึงบุคคลสำคัญในแวดวงวิชาการด้านดนตรี ต้องมีชื่อของ ศ. ดร.ณัชชา พันธุ์เจริญ รวมอยู่แน่นอน ไม่เพียงมุ่งมั่นกับบทบาทอาจารย์และนักวิชาการมาตลอด 30 ปี แต่ยังเปิดหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์สำคัญด้วยการสร้างตำราดนตรีมาตรฐาน รวมทั้งพจนานุกรมศัพท์ดุริยางคศิลป์ ยกระดับวิชาการดนตรีและปลุกกระแสเปียโนเพลงไทย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ระดับ 11 เพียงผู้เดียวของประเทศไทยในสาขาศิลปกรรมศาสตร์

หนึ่งในผู้วางรากฐานวิชาการดนตรีของประเทศไทย

ชื่นชอบภาษามาตั้งแต่เด็กนอกเหนือจากดนตรี จึงเป็นที่มาของการเขียนตำราดนตรี รวมหนังสือและโน้ตเพลงกว่า 20 เล่ม ทำให้มีลูกศิษย์ผ่านหนังสืออยู่ทั่วประเทศ ผลงานชิ้นสำคัญคือทฤษฎีดนตรี และพจนานุกรมศัพท์ดุริยางคศิลป์ที่ใช้เวลาทำนานถึง 10 ปี ที่มาคือต้องการจะเขียนตำราจึงตัดสินใจรวบรวมศัพท์ออกมาเป็นพจนานุกรมเสียก่อน เป็นผลงานที่ใช้ความอดทนสูงเพราะต้องแก้ไขหลายครั้ง เหมือนงานศิลปะชิ้นหนึ่งที่ต้องค่อยๆ ขัดเกลาจนได้สิ่งที่งดงามและมีคุณค่า

ปลุกท่วงทำนองทรงคุณค่าให้กลับมีชีวิตอีกครั้ง

มีโอกาสเรียนเปียโนเพลงไทยกับอาจารย์สุมิตรา สุจริตกุล นักเปียโนราชสำนักรัชกาลที่ 6 และอาจารย์ชูชาติ พิทักษากร และเมื่อปี พ.ศ. 2554 อาจารย์ชูชาติได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง และจะมีการแสดงผลงานที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ทุกเพลงที่ท่านสอนยังอยู่กับตัวเราโดยไม่มีโน้ตบันทึกไว้มาตลอด 30 กว่าปี จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้กลับมาเล่นเปียโนเพื่อออกแสดงอีกครั้ง ได้ทำงานร่วมกับลูกศิษย์อย่าง ผศ. ดร.พิมพ์ชนก สุวรรณธาดา ในการถอดเสียงเพลงไทยออกมาเป็นโน้ตสากล และเป็นที่มาของการเขียนโน้ตเพลงเพิ่มเติมเป็นชุด ทั้งสดับเสียงเรียงร้อย สดับถ้อยเพลงไทย สดับทิพย์ธรณินทร์ และปีหน้าจะมีสดับพิณเพลงสยามออกมาให้ผู้ที่รักเปียโนเพลงไทยได้ติดตามกัน

ครูผู้เชื่อในพลังของคนรุ่นใหม่

ตอนนี้ไม่มีอะไรต้องกังวล เชื่อว่าคนรุ่นใหม่จะช่วยกันพัฒนาวงการดนตรีให้ดีขึ้นในทุกมิติไปพร้อมๆ กับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เชื่อในพลังของคนรุ่นใหม่ ต้องปล่อยให้เขาทำงานในแบบของเขา ไม่ใช่ในแบบของเรา

ขอบคุณนิตยสาร HELLO!

ปัจจุบัน

เป็นช่วงเก็บเกี่ยวดอกผล
ที่ได้หว่านเมล็ดพันธุ์ไว้
ซึ่งก็คือลูกศิษย์
และคนดนตรีรุ่นใหม่