Display mode (Doesn't show in master page preview)
Skip Ribbon Commands
Skip to main content

​​​​​​ผู้เขียน : จิรดา ภักดิ์วิไลเกียรติ (นักวิจัย)

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด​


        “วัคซีน COVID-19” ตัวแปรสำคัญของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ได้เริ่มฉีดเข็มแรกแล้วในหลายประเทศ โดยอิสราเอลเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรที่ได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 โดสมากที่สุดอยู่ที่ร้อยละ 59.5 รองลงมาคือ สหราชอาณาจักรอยู่ที่ร้อยละ 37.2 ขณะที่ทางสหรัฐฯ อัตราการได้รับวัคซีนรวดเร็วขึ้นหลังนายโจ ไบเดนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี โดยอยู่ที่ระดับมากกว่า 2.2 ล้านโดสต่อวัน ซึ่งปัจจุบันมีประชากรที่ได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 โดสอยู่ที่ร้อยละ 22 เมื่อพิจารณาจำนวนประชากรที่ได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 โดสของทั้งโลกพบว่าอยู่ที่ร้อยละ 3 ดังนั้นระดับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในแต่ละประเทศจึงแตกต่างกัน (ข้อมูล Update ใช่ไหมเมื่อถึงวันส่งออก?)

ระดับการฟื้นตัวของแต่ละประเทศ แตกต่างกันตามอัตราการฉีดวัคซีน
ความคืบหน้าในเรื่องของวัคซีน COVID-19 เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญต่อเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของแต่ละประเทศยังเป็นปัจจัยหนุนให้เศรษฐกิจโลกปีนี้มีแนวโน้มเติบโตดีกว่าที่คาด โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง เนื่องจากมีอัตราการฉีดวัคซีนที่เร็วกว่าคาดการณ์ ประธานาธิบดีโจ ไบเดนระบุว่าประชากรชาวสหรัฐฯ ที่อายุ 18 ปีขึ้นไปจะได้รับวัคซีนครบภายในเดือนพ.ค. 2564 นี้ (จากเดิมที่คาดว่าเป็นช่วงก.ค. 2564) นอกจากนี้ล่าสุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ. ได้รับอนุมัติและเริ่มดำเนินการแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าในปี 2564 เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวที่ร้อยละ 5.5 จากที่หดตัวร้อยละ 3.5 ในปีก่อน ขณะที่ในยุโรปอัตราการฉีดวัคซีนมีแนวโน้มล่าช้ากว่าคาดการณ์ เนื่องจากมีการระงับการฉีดวัคซีน Astrazeneka หลังพบว่ามีบางรายที่ฉีดแล้วเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน อีกทั้งเริ่มมีการระบาดระลอกที่สามในบางประเทศ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าเศรษฐกิจยูโรโซนมีแนวโน้มขยายตัวได้ที่ร้อยละ 4.4 จากที่หดตัวร้อยละ 6.6 ในปีก่อน ฝั่งเศรษฐกิจจีนทางการได้กำหนดเป้าหมายการเติบโตที่ร้อยละ 6.0 ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเติบโตได้ถึงร้อยละ 8 แม้ว่าในปีนี้เศรษฐกิจโลกจะมีแนวโน้มฟื้นตัวได้จากปีก่อนแต่จะเห็นได้ว่าระดับการฟื้นตัวของแต่ละประเทศจะมีความแตกต่างกันตามอัตราการฉีดวัคซีน สถานการณ์การแพร่ระบาด เม็ดเงินของมาตรการกระตุ้นรวมถึงโครงสร้างเศรษฐกิจ

พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับสูงขึ้นจากนโยบายทางการเงิน ส่งผลพันธบัตรทั่วโลกปรับสูงขึ้น
นอกจากนี้นโยบายการเงินยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแต่ละประเทศด้วยเช่นกัน ซึ่งในภาพรวมนโยบายการเงินยังมีแนวโน้มผ่อนคลายต่อเนื่องและอัตราดอกเบี้ยยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีโอกาสฟื้นตัวดีกว่าคาดการณ์ อีกทั้งราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูงอาจกดดันให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นและกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับขึ้นอัตรานโยบายเร็วกว่าคาดการณ์ได้ อย่างไรก็ดี ผลการประชุมธนาคารสหรัฐฯ ล่าสุด (16 - 17 มี.ค) ระบุว่าอัตราเงินเฟ้อในปีนี้มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นแต่จะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและจะคงมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) อย่างน้อย 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อไป ซึ่งส่งผลให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี เร่งตัวขึ้นต่อเนื่อง โดยปัจจุบันอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 14 เดือนที่ร้อยละ 1.75 (วันที่ 19 มีนาคม) ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการกู้ยืมระยะสั้นในสหรัฐฯ และส่งผลกระทบต่อผลต​อบแทนพันธบัตรรัฐบาลทั่วโลกรวมถึงไทยให้ปรับตัวเพิ่มขึ้น 



        ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของไทยอายุ 10 ปีพบว่ามีสัญญาณเร่งตัวขึ้นในทิศทางเดียวกับทางสหรัฐฯ เช่นกัน โดยระดับปัจจุบันสูงกว่าช่วง COVID-19 แต่เมื่อพิจารณาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยพบว่ายังไม่ได้มีแนวโน้มฟื้นตัวได้แข็งแกร่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ยังคงจะเติบโตที่ร้อยละ 2.6 (กรอบประมาณการอยู่ที่ 0.8% - 3.0%) ได้รับปัจจัยหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ทั้งโครงการเราชนะ โครงการคนละครึ่ง เป็นต้น ขณะที่สถานการณ์ COVID-19 ที่เริ่มดีขึ้นในหลายประเทศยังเป็นปัจจัยบวกต่อภาคการส่งออกของไทย โดยเฉพาะในสหรัฐฯ อย่างไรก็ตามการเติบโตของเศรษฐกิจไทยอยู่บนสมมติฐานที่ว่าประเทศไทยจะสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ โดยคาดว่าจะมีจำนวนทั้งหมด 2 ล้านคน ทั้งนี้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้าไทยผู้เกี่ยวข้องในภาคการท่องเที่ยวจำเป็นจะต้องได้รับวัคซีน โดยหากประเมินจากการจ้างงานในธุรกิจโรงแรมในพื้นที่ 20 จังหวัดที่พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติ อาจต้องการวัคซีนอย่างน้อย 2.2 แสนโดส จะเห็นได้ว่าการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติยังขึ้นอยู่กับประเด็นเรื่องของการแจกจ่ายวัคซีนทั้งในประเทศและประเทศต้นทางที่จะเข้ามาท่องเที่ยว เช่น จีน ยุโรปตะวันตก สหรัฐฯ รัสเซีย เอเชีย รวมถึงเงื่อนไขอื่น ๆ เช่น จำนวนวันกักตัว โดยล่าสุดเริ่มมีแผนการเปิดประเทศออกมาบ้าง ซึ่งคาดว่าจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ดี ในปีนี้ธุรกิจการท่องเที่ยวยังคงต้องพึ่งพาตลาดไทยเที่ยวไทยเป็นหลัก ขณะที่ภาครัฐฯ ได้เตรียมพร้อมออกมาตรการเพื่อมากระตุ้นภาคการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยที่พึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศจำนวนมากโดยคิดเป็นร้อยละ 11.3ของ GDP จึงส่งผลให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้มีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าในประเทศเพื่อนบ้าน 

แม้ว่าจะมีความหวังในเรื่องของวัคซีนเข้ามาแล้ว แต่ยังคงต้องใช้เวลาอีกสักระยะกว่าความเสี่ยงของโรคระบาด COVID-19 จะจบลง อีกทั้งบาดแผลทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นยังต้องใช้เวลาในการเยียวยา ดังนั้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งจากภาครัฐ และการผ่อนคลายนโยบายการเงินยังมีความจำเป็นต่อเนื่อง เส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจึงยังขึ้นอยู่กับอีกหลายปัจจัย ขณะที่ COVID-19 ยังเป็นความเสี่ยงที่ต้องติดตามต่อเนื่อง ดังนั้นการเว้นระยะห่างทางสังคม และ การใส่หน้ากากยังคงมีความจำเป็นกับการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน




กลับ