เชื่อว่าปัจจุบันการทำธุรกิจร้านอาหารเริ่มเป็นที่นิยมมาก อาจจะเกิดจากช่วง COVID-19 ที่หลายคนได้ประลองฝีมือตัวเอง หันมาทำอาหาร ทำขนมกันมากขึ้น หรือ กับบางคนที่เป็นสายกิน มี Passion เรื่องอาหาร และ ไม่อยากที่จะเริ่มต้นจากศูนย์ก็จะเริ่มเห็นช่องทางในการสร้างรายได้
ต่อยอดความชอบของตัวเอง จนทำให้ในปัจจุบันเราจะเริ่มเห็นแฟรนไชส์เกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นแฟรนไชส์ขนาดเล็ก ขนาดกลาง และ ขนาดใหญ่
การทำแฟรนไชส์ขนาดเล็กอาจจะใช้เงินทุนเริ่มต้นน้อย อยู่ที่ประมาณ 500,000 บาท ซึ่งโดยมากอาจเป็นรูปแบบร้านอาหารขนาดเล็ก หรือ สามารถ Grab and Go (สั่งกลับไปทานที่บ้าน) ได้เลย ส่วนแฟรนไชส์ขนาดกลาง เงินทุนก็จะมากขึ้นมาอีกนิด โดยมากอาจเป็นแบรนด์ที่เริ่มเป็นที่รู้จักแล้ว
รูปแบบร้านอาจต้องการพื้นที่นั่งทานได้ มีพนักงานสัก 2 - 3 คน ก็จะใช้เงินทุนอยู่ที่ประมาณ 500,000 – 2,000,000 บาท ส่วนสุดท้ายคนที่คิดใหญ่ ทำใหญ่ มีเงินทุนหนาหน่อย ก็อาจจะนำความชอบในด้านอาหาร การกิน ของตัวเองมาลงทุนในแบรนด์ฮิต ติดตลาด โดยอาจมีรูปแบบร้านที่
ต้องการมีสถานที่ให้ลูกค้านั่งทาน พร้อมพนักงานดูแลอีก 5 - 10 คน แต่ตัวนักลงทุนเองจะต้องรักในการบริหารคน ซึ่งเงินทุนในการทำแฟรนไชส์ขนาดใหญ่นี้ โดยประมาณอยู่ที่ 5,000,000 บาทขึ้นไป แต่เชื่อได้ว่าถ้าบริหารดี ๆ รับรองว่ากำไรมาเยอะแน่นอน เนื่องจากชื่อเสียงของแบรนด์ที่การันตีการเชิญชวนคนเข้ามาใช้บริการในร้านได้อย่างไม่ยาก
แต่การจะมีร้านเป็นของตัวเอง นอกจากเราจะต้องบริหารคนให้เป็น ทำการตลาดให้ได้ รวมถึงการเลือกสถานที่ร้านให้ถูกจุดแล้วนั้น ก็จะมีเรื่องของการบริหารเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการกู้เงิน หรือ การขอสินเชื่อที่เหล่านักธุรกิจต้องไปศึกษากันให้ดี อีกทั้งยังมีเรื่องของ
“การเสียภาษี” โดยเฉพาะการทำธุรกิจร้านอาหารที่ขนาดยังไม่ใหญ่มากที่เริ่มต้นในรูปแบบบุคคลธรรมดา ที่เราต้องบริหารและเพื่อให้เรื่องภาษีไม่ใช่เรื่องยาก วันนี้ K-Expert กับบทความ Money Advice มี 3 เทคนิค ช่วยให้ทุกอย่างเป็นเรื่องง่ายกันค่ะ
1. ยื่นภาษีเพื่อหักค่าใช้จ่ายตามจริงเพื่อการจ่ายภาษีที่น้อยลง
ในการทำธุรกิจ ส่วนใหญ่คนจะกลัวว่าหากต้องเสียภาษีขึ้นมา กำไรที่ได้จะน้อยลงเพราะต้นทุนค่อนข้างสูง เราสามารถใช้เทคนิคยื่นภาษี แบบหักค่าใช้จ่ายตามจริง โดยยิ่งเรามีต้นทุนที่สูง ก็สามารถนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้สูง และ เมื่อหักค่าใช้จ่ายไปแล้ว เงินได้สุทธิที่ต้องนำมาคำนวณภาษีก็จะลดลงไปด้วย
และ ไม่ต้องกังวลไปว่าภาษีที่เสียจะเกินกว่ากำไรที่ได้ เพราะเมื่อหักค่าใช้จ่ายตามจริงไปแล้วกำไรที่ได้ที่ต้องเสียภาษี หากเป็นบุคคลธรรมดาภาษีจะจ่ายไม่เกิน 1 ใน 3 ของกำไรนั้นเอง (อัตราภาษีบุคคลธรรมดาสูงสุดที่ 35%)
ส่วนเอกสารที่จะนำมาใช้เพื่อหักค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีนั้นควรมีข้อมูล ชื่อ และ ที่อยู่ของผู้ซื้อ และ ผู้ขาย หมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษี หรือ หมายเลขบัตรประชาชนของคู่ค้า รายละเอียดสินค้า หรือ บริการ จำนวนเงิน ที่สำคัญรายจ่ายที่เกิดขึ้นนั้นจะต้องเกี่ยวข้องกับธุรกิจ
หรือ กิจการที่ทำอยู่ ตัวอย่างเอกสารในการนำมาหักค่าใช้จ่าย เช่น (1) ใบเสร็จรับเงิน (2) ใบกำกับภาษี (3) บิลเงินสด (4) ใบสำคัญรับเงิน ทั้งนี้อย่าลืมศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม และ เงื่อนไขของเอกสารที่นำมาใช้กับทางสรรพากรเพิ่มเติมด้วยนะ
2. ยื่นภาษีแบบค่าใช้จ่ายเหมาและใช้ตัวช่วยลดหย่อนภาษี
บางคนมีความกังวลว่ากำไรที่ได้จากการทำธุรกิจนั้นเยอะ ก็จะทำให้การเสียภาษีนั้นเยอะตามมาแต่ถ้าเราลองยื่นแบบเหมา ซึ่งหากเป็นการขายโดยทั่วไปแล้วสามารถเลือกหักแบบเหมาได้ 60% ของยอดขาย การยื่นแบบนี้ เราไม่ต้องแสดงหลักฐานค่าใช้จ่ายใด ๆ กับกรมสรรพากร แม้ต้นทุนที่แท้จริงของเราจะน้อยกว่า
60% ก็ตาม ทำให้เราได้ประโยชน์ทางภาษีในส่วนต่างของต้นทุนที่แท้จริง กับค่าใช้จ่ายแบบเหมานั่นเอง หรือ สำหรับบางคนอาจจะมองหาตัวช่วยลดหย่อนภาษี การลงทุนในกองทุน SSF ที่กำลังมาแรงในขณะนี้ (โดยมาแทนกองทุน LTF) กองทุน RMF เบี้ยประกันชีวิตที่มีความคุ้มครองตั้งแต่
10 ปีขึ้นไป เป็นต้น ทั้งนี้จะใช้ค่าลดหย่อนตัวใด ขึ้นอยู่กับเงื่อนไข ความเสี่ยง และ ความพึงพอใจของแต่ละคนที่นำมาใช้ เช่น การลงทุนกองทุน SSF ที่นำเงินไปให้ผู้จัดการกองทุนช่วยบริหารให้เงินงอกเงยตามวัตถุประสงค์ของแต่ละกองทุน แถมยังลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย
อย่างกองทุน K-FIXEDPLUS-SSF ที่เน้นลงทุนในตราสารนี้ เหมาะสำหรับผู้รับความเสี่ยงได้ค่อนข้างน้อย
3. นำภาษีที่จ่ายไปมาคิดถัวเฉลี่ยบวกเป็นต้นทุนสินค้า
บางคนอาจลืมนึกถึงต้นทุนภาษีที่ต้องจ่าย ซึ่งในการทำธุรกิจนั้น การเสียภาษีเป็นหน้าที่ของผู้มีเงินได้อยู่แล้ว และอย่าลืมว่า ภาษีที่เราต้องจ่ายไปนั้นถือเป็นต้นทุนของราคาสินค้า และ บริการ เราควรนำภาษีที่จ่ายไปมาคิดถัวเฉลี่ยบวกเป็นต้นทุนสินค้าด้วยเพื่อไม่ให้ราคาที่ตั้งผิดพลาดจนทำให้เราขาดทุนไม่รู้ตัว
เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ ย่อมมาพร้อมกับการปรับตัว หลายคนอาจจะมี Passion ในการทำสิ่งที่ตัวเองชอบเพื่อให้เห็นผลลัพธ์แบบจับต้องได้ การมีร้านอาหาร หรือ แฟรนไชส์ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่คนหลายคนคาดฝัน แต่สิ่งเหล่านี้มักมาพร้อมกับการศึกษา หาข้อมูล เพื่อให้คำว่า
“ขาดทุน” นั้นเกิดขึ้นน้อยที่สุด ซึ่งเรื่องของภาษีก็เป็นสิ่งที่นักธุรกิจต้องวางแผนให้ดี เตรียมเอกสารค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ตรงตามเงื่อนไขของสรรพากร สำคัญที่สุดต้องไม่เป็นหลักฐานเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฏหมาย จะมีโทษทั้งจำทั้งปรับ
การยื่นภาษีออนไลน์ก็จะไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอีกต่อไป
ศึกษารายละเอียดของกองทุน SSF เพิ่มเติมได้ที่ หลักทรัพย์กสิกรไทย : กองทุน SSF
|