4 คำถามที่ต้องตอบ เพื่อการเลือกกองทุนต่างประเทศที่ใช่สำหรับคุณ

4 คำถามที่ต้องตอบ เพื่อการเลือกกองทุนต่างประเทศที่ใช่สำหรับคุณ

​​​​​​        วิถีชีวิตแบบ New Normal ที่เกิดขึ้นหลังจากการมาของ COVID-19 เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ Technology เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้น ซึ่งการมีบทบาทมากขึ้นแบบนี้ส่งผลให้ Theme การลงทุนหุ้นกลุ่ม Technology (หรือ Tech) ได้รับความนิยมขึ้นเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศ 

ทำไมต้องเป็นตลาดต่างประเทศ ? นั่นก็เป็นเพราะว่าขนาดของหุ้นกลุ่ม Technology เมื่อเทียบกับขนาดของตลาดหุ้นทั้งหมดแล้ว จะพบว่าสัดส่วนในต่างประเทศนั่นสูงกว่าในไทย ไม่ว่าจะเป็น หุ้น Tech ในสหรัฐฯ หรือ ในจีน ส่วนอีกเหตุผล คือ ราคาหุ้นกลุ่ม Tech ต่างมีผลประกอบการที่โดดเด่นกว่าตลาด (Outperform) เช่น ดัชนีหุ้น Tech ในสหรัฐฯ อย่างดัชนี Nasdaq ที่แค่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาก็ทำสถิติ New High ทะลุ 14,000 จุดไปแล้ว ดังนั้นแล้วเมื่อหุ้น Tech ได้ประโยชน์จากวิถีแบบ New Normal จึงไม่แปลกที่ตลาดต่างประเทศจะมีผลตอบแทน (ย้อนหลัง) ที่ดี และ ทำให้บรรดานักลงทุนต่างให้ความสนใจเป็นอย่างมาก 

การลงทุนในต่างประเทศนั้นจะประกอบไปด้วย 2 ทางเลือกใหญ่ ๆ นั่นก็คือ การลงทุนเองโดยเปิดบัญชีเทรดหุ้นแบบ Offshore และ การลงทุนผ่านกองทุนรวม

1. ลงทุนเอง (เปิดบัญชีเทรดหุ้นแบบ Offshore) คือ การที่เราสามารถลงทุนหุ้นต่างประเทศรายตัวได้ แต่ต้องมีเงินลงทุนเริ่มต้นหลักแสนโดยมีเงื่อนไขแล้วแต่บริษัทหลักทรัพย์
2. ลงทุนผ่านกองทุนรวมที่บริหารจัดการโดยผู้จัดการกองทุนในต่างประเทศ ลักษณะเป็นการลงทุนทางอ้อม ผ่านกองทุนรวมในต่างประเทศ โดยสามารถลงทุนได้ 2 วิธี คือ 
- Feeder Fund  กองทุนรวมที่นำเงินไปลงทุนในกองทุนรวมในต่างประเทศเพียงกองเดียว (Feeder Fund) โดยเรียกกองทุนนั้นว่า Master Fund
- Fund of Funds  กองทุนรวมที่ลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศ (หลาย ๆ กอง ซึ่งอาจมีนโยบายที่คล้ายกัน หรือ มีนโยบายต่างกันก็ได้

        เมื่อพิจารณาเลือกรูปแบบการลงทุนได้แล้ว ลำดับต่อมา คือการเลือกกองทุนที่เราสนใจ หรือ ต้องการ จากคำถามเบื้องต้น 4 ข้อง่าย ๆ นี้ ทั้งเพื่อเป็นการถามย้ำกับตัวของเราเอง และ เป็นการตรวจสอบความน่าสนใจของกองทุนนั้น ๆ ด้วย โดยคำถามทั้ง 4 มีดังนี้

คำถามที่ 1 เลือก Theme การลงทุน 
การเลือก Theme การลงทุน จะช่วยให้คุณสามารถกำหนด และ มองเห็นกองทุนที่จะลงทุนได้ โดยจะแบ่ง Theme การลงทุนออกเป็น 2 รูปแบบ คือ การลงทุนตามประเทศ หรือ การลงทุนตามกลุ่มหุ้น
  • Theme ตามประเทศที่จะลงทุน เป็นการลงทุนในหุ้นของกลุ่มของประเทศนั้น ๆ เช่น กลุ่มประเทศในทวีปเอเชีย หรือ กลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่เติบโตสูง
  • Theme ตามกลุ่มหุ้นที่จะลงทุน เป็นหุ้นที่ลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรม หรือ กลุ่มธุรกิจใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกัน เช่น หุ้นกลุ่ม Technology, หุ้นกลุ่ม Healthcare เป็นต้น



คำถามที่ 2 กองทุนหลัก คือ กองทุนอะไร
ส่วนใหญ่แล้วกองทุนรวมต่างประเทศในไทยนั้นจะไม่ได้ลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศโดยตรง แต่จะเป็นการลงทุนผ่าน “กองทุนหลักในต่างประเทศ” ซึ่งเป็นกองทุนที่ผ่านการพิจารณาจาก บลจ. ในประเทศไทยแล้วว่า มีความเชี่ยวชาญตลาดในต่างประเทศนั้น ๆ ชำนาญการลงทุนในแต่ละสินทรัพย์ และ แต่ละ Theme การลงทุน 
อย่างไรก็ตามแม้แต่ละกองทุนหลักจะมีความเชี่ยวชาญในการจัดการกองทุน แต่ก็มีความแตกต่างกันในรายละเอียด ซึ่งอาจส่งผลให้ผลตอบแทนที่จะได้รับนั้นแตกต่างกันออกไปด้วย ตัวอย่างเช่น กองทุนหลักที่เน้นลงทุนในหุ้นจีน ซึ่งแต่ละกองทุนก็ให้โอกาสในการรับผลตอบแทนที่หลากหลาย แต่เนื่องจากประเทศจีนประเทศเดียวก็มีตลาดที่ให้ลงทุนถึง 2 ตลาดใหญ่ ๆ นั่นคือ A-Share หรือ การลงทุนในจีนแผ่นดินใหญ่ และ H-Share ที่ลงทุนในตลาดฮ่องกง ทำให้เมื่อลงทุนในตลาดที่แตกต่างกัน ผลตอบแทนที่ได้รับจึงมีโอกาสที่จะแตกต่างกันได้ อีกทั้งอาจจะถือหุ้นคนละตัวกัน รวมไปถึงมีกลยุทธ์และการจัดการความผันผวนที่แตกต่างกันไป จึงเป็นเหตุผลที่ว่า แม้จะลงทุนในหุ้นจีนเหมือนกัน แต่โอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนนั้นอาจแตกต่างกันได้นั่นเอง

“ถึงแม้จะลงทุนในประเทศจีนเหมือนกัน จะเห็นว่า กองทุนหลัก จะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่​บอกที่มาของผลตอบแทนได้“

คำถามที่ 3 กองทุนหลักลงทุนในบริษัทอะไรบ้าง
นักลงทุนบางคน อาจเลือกลงทุนในกองทุนที่มีบริษัทที่สนใจ โดยดูจากสัดส่วนบริษัทที่ถือครองของกองทุนนั้น ๆ แต่ต้องพิจารณาประกอบกับสภาวะตลาดเพื่อคาดการณ์ผลตอบแทนที่นักลงทุนจะมีโอกาสได้รับกลับมา
ตัวอย่างเช่น การลงทุนในกองทุน K-CHANGE ที่เน้นการลงทุนในบริษัท Baillie Gifford Positive Change Fund ซึ่งมี Top 10 Holder เป็น Brand ระดับโลกบางตัวที่รู้จักกันดีอย่าง Tesla บริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้า หรือ Moderna บริษัทหนึ่งในผู้ผลิตวัคซีน Covid-19 ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่กำลังเป็นที่จับตามองของตลาดโลก ทำให้มีโอกาสที่นักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนที่ดี เป็นต้น
* เราขอดูได้ที่สัดส่วนบริษัทที่ถือครองอยู่ (Top 10 Holders ของกองทุน) ได้ที่ Fund Fact Sheet 


คำถามที่ 4 นโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตรา​แลกเปลี่ยนเป็นแบบใด
ในทุกการลงทุนย่อมมีความเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในกองทุนต่างประเทศ ที่นอกจากจะมีความเสี่ยงจากผลประกอบการแล้ว ยังมีความเสี่ยงในเรื่องของอัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่ปรับตัวอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นในแต่ละกองทุนจึงมีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนนี้อยู่ โดยการป้องกันความเสี่ยงนี้มีอยู่ด้วยกัน 3 ระดับ คือ 

    • ป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนทั้งหมด (Fully Hedge) เหมาะในช่วงที่ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น
    • ระดับกลาง ๆ คือ ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนบางส่วน (Partial Hedge)
    • ไม่ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไว้เลย (Unhedge) 

นอกจาก 3 ระดับ จะมีให้สิทธิผู้จัดการกองทุนพิจารณาว่าจะ Hedge ค่าเงินมากหรือน้อยเพียงใดก็ได้หรือใช้ดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุนเพื่อลดความกังวลของนักลงทุนได้

4 คำถามข้างต้น เป็นคำถามง่าย ๆ สำหรับการพิจารณาเพื่อกำหนดแนวทางกองทุนที่ท่านจะเข้าไปลงทุน อย่างไรก็ตาม การลงทุนต่าง ๆ ย่อมมีความเสี่ยงที่จะตามมา จึงควรพิจารณาในมุมอื่น ๆ ประกอบการตัดสินใจลงทุน หรือ สอบถามผู้เชี่ยวชาญได้ที่สาขาของผู้ให้บริการ หรือหากคุณสนใจอย่างจะซื้อกองทุนต่างประเทศในช่วงเวลา New Normal แบบปัจจุบันนี้คุณสามารถทำได้เลยผ่าน Application อย่าง FINVEST กับ 16 บลจ. ชั้นนำ ที่จะช่วยให้การลงทุนในต่างประเทศของคุณง่ายยิ่งขึ้น จบได้บนมือถือ

​​กองทุนที่เกี่ยวข้อง
​ซื้อกองทุนง่าย ๆ ได้บนโทรศัพท์มือถือของคุณ

​K-CHINA 
รายละเอียดกองทุน
 

​K-CHANGE
รายละเอียดกองทุน