สถานการณ์การลงทุนทั่วโลก : จากการที่สหรัฐฯ และ จีนได้บรรลุข้อตกลงการค้าระยะที่ 1 ทำให้ความเสี่ยงในตลาดโลกมีแนวโน้มผ่อนคลายลง คาดว่าทั้งสองฝ่ายจะลงนามข้อตกลงในเดือนมกราคม 2563 โดยสำนักผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ยืนยันเลื่อนการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนมูลค่า 1.56 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในวันที่ 15 ธันวาคม 2562 ออกไป อีกทั้งลดภาษีนำเข้าที่เริ่มใช้ในเดือนกันยายน 2562 จาก 15% เหลือเพียง 7.5% เพื่อแลกกับที่จีนจะเพิ่มการนำเข้าสินค้าเกษตรของสหรัฐฯ รวมถึงจีนให้คำมั่นสัญญาว่าจะหยุดละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ลดแทรกแซงค่าเงิน และ เปิดเสรีตลาดการเงินมากขึ้น
ความเสี่ยงที่ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และ จีนจะกลับมารุนแรงขึ้น ถ้าจีนไม่สามารถนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มเติมได้อย่างที่ตกลงไว้ หรือ จีนไม่สามารถทำตามข้อตกลงประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาได้ และ ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปลายปี 2563 อาจจะทำให้จีนชะลอการเจรจาในขั้นที่ 2 ไปก่อน
สหรัฐฯ : ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50 - 1.75% ในการประชุมนโยบายการเงินเมื่อวันที่ 10 - 11 ธันวาคม 2562 โดยคณะกรรมการส่วนใหญ่มองดอกเบี้ยทรงตัวในปี 2563 ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภค (Headline CPI) ทั่วไปประจำเดือนพฤศจิกายน 2562 ปรับเพิ่มขึ้น 2.1% YoY จากเดือนตุลาคม 2562 ที่ 1.8% YoY สูงกว่าคาดการณ์ และ ทำสถิติสูงสุดในรอบ 1 ปี แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป และ พื้นฐานจะอยู่ที่ระดับที่สูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อของ FED ที่ 2% แต่ยังไม่ถือเป็นแรงกดดันให้ FED ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย สำหรับดัชนี S&P500 ให้ผลตอบแทน 1M +2.7% ปัจจุบันมี 12-M forward P/E 19.3 เท่า (เฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปีอยู่ที่ 16.0 เท่า)
ยุโรป : ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากครั้งก่อนตามที่ตลาดคาดไว้ และ มีการประเมินว่า ECB จะคงใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้อัตราเงินเฟ้อขยับไปสู่เป้าหมายได้ โดยการลดดอกเบี้ยลงจากเดิม -0.5% เป็น -0.8% ภายในปี 2563 และ การเข้าซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในวงเงิน 2 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน และ ผลการเลือกตั้งของอังกฤษ พรรค Conservatives ของนายบอริส จอห์นสันชนะการเลือกตั้ง โดยมีที่นั่งในสภาเกินกว่ากึ่งหนึ่งอย่างมาก ผลการเลือกตั้ง ทำให้นายบอริส จอห์นสัน ยังคงเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป และ ทำให้ความเสี่ยงที่สหราชอาณาจักรจะออกจากยุโรปแบบไม่มีข้อตกลงลดลง ดัชนี STOXX600 ให้ผลตอบแทน 1M +1.4% ปัจจุบันมี 12-M forward P/E 15.9 เท่า (เฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปีอยู่ที่ 13.9 เท่า)
จีน : ยอดค้าปลีกจีนขยายตัวขึ้นมาที่ 8.0% YoY ในเดือนพฤศจิกายน 2562 สูงกว่าที่ตลาดคาด 7.6% และ เดือนตุลาคม 2562 ที่ 7.2% โดยปัจจัยหลักมาจากราคาสินค้าที่สูงขึ้น และ แรงสนับสนุนของเทศกาลลดราคาสินค้าในวันที่ 11 พฤศจิกายน ทำให้ยอดขายออนไลน์เร่งขึ้น ด้านผลผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวสูงขึ้นมาที่ 6.2% YoY สูงกว่าที่ตลาดคาด 5.0% และ เดือนก่อน 4.7% ทั้งนี้ อุปสงค์ในประเทศอาจได้รับปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติมจากแนวโน้มสงครามการค้าที่ปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การลงทุนในสินทรัพย์คงทนในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2562 กลับขยายตัวในอัตราทรงตัวที่ 5.2% YoY ซึ่งนับเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 2541 ดัชนี Shanghai Composite (SHCOMP index) ให้ผลตอบแทน 1M +1.8% ดัชนี HSCEI index ให้ผลตอบแทน 1M +1.4% ปัจจุบันมี 12-M forward P/E 8.7 เท่า (เฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปีอยู่ที่ 8.7 เท่า)
ไทย : S&P Global Rating ได้ปรับเพิ่มแนวโน้มอนาคตเศรษฐกิจของไทยจากมีเสถียรภาพ ไปสู่แนวโน้มเป็นบวก เป็นการปรับเพิ่มครั้งแรกในรอบ 9 ปี พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตของไทยที่ BBB+ ในสกุลต่างประเทศ และ A- ในสกุลเงินบาท เหตุผลหลักมาจากความมีเสถียรภาพทางการเมืองหลังจากได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ยุทธศาสตร์การลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน และ ความแข็งแกร่งด้านฐานะการคลังและการเงิน อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับลดประมาณการณ์ GDP 2562 อยู่ที่ 2.5% และ ปี 2563 อยู่ที่ 2.7% สาเหตุหลักมาจากค่าเงินบาทที่แข็ง ภาคการส่งออกที่ยังคงหดตัว ความล่าช้าของการประกาศใช้ร่าง พรบ.งบประมาณรายจ่ายของปี 2563 ส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยและการใช้จ่ายจากทางภาครัฐฯ ถึงแม้นักท่องเที่ยวจีนที่ถือเป็นสัดส่วนใหญ่เริ่มกลับมาอยู่ในระดับปกติแล้ว แต่ยังคงไม่เพียงพอที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย และ ชดเชยภาคการส่งออกที่ขาดหายไปได้ ที่ผ่านมาดัชนี SET ให้ผลตอบแทน 1M -3.0% ปัจจุบันมี 12-M forward P/E 17.0 เท่า (เฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปีอยู่ที่ 14.3 เท่า) เป้าหมายดัชนี SET ปีหน้า 1,725 จุด ที่ P/E 16.5 เท่า
รายละเอียดกองทุนที่แนะนำ
กองทุน
| นโยบายการลงทุน
| การจ่ายเงินปันผล
| ความเสี่ยงกองทุน
|
K-FIXEDPLUS
| กองทุนรวมตราสารหนี้ที่ลงทุนในตราสารแห่งหนี้ ภาครัฐ และ ภาคเอกชน และ เงินฝากทั้งในประเทศ และ ต่างประเทศ ลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมไม่เกิน 60% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน
| ไม่จ่ายเงินปันผล | ระดับ 4 |
K-STAR-A(R)
| กองทุนรวมหุ้นที่เน้นลงทุนหุ้นพื้นฐานดีที่มีศักยภาพการเติบโตในระยะยาว เพื่อมุ่งหวังสร้างผลตอบแทนที่ดีสม่ำเสมอ พร้อมทั้งจับจังหวะในการปรับเปลี่ยนสัดส่วนน้ำหนักรายกลุ่มอุตสาหกรรม และ สัดส่วนการถือครองเงินสด ในสถานการณ์ตลาดที่อำนวยเพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนในระยะสั้น
| ขายคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ
| ระดับ 6 |
ผลการดำเนินงานย้อนหลัง (ข้อมูล ณ วันที่ 19 ธันวาคม 2562)
| ต้นปีถึงปัจจุบัน
| 3 เดือน
| 6 เดือน
| 1 ปี (ต่อปี)
| 3 ปี (ต่อปี)
| ตั้งแต่จัดตั้ง (ต่อปี)
|
K-FIXEDPLUS
| 3.15%
| 0.55%
| 1.78%
| 3.31%
| N/A
| 2.31%
|
เกณฑ์มาตรฐาน *
| 2.98%
| 0.51%
| 1.71%
| 3.14%
| N/A
| 2.18%
|
K-STAR-A(R)
| 5.24%
| - 2.50%
| - 4.77%
| 3.20%
| 6.07%
| 10.91%
|
ผลการดำเนินงานช่วงเวลาน้อยกว่า 1 ปี จะแสดงเป็นอัตราผลตอบแทนสะสม ส่วนช่วงเวลา 1 ปีขึ้นไป จะแสดงเป็นอัตราผลตอบแทนต่อปี
* ดัชนีชี้วัดของกองทุน (Benchmark) คือ ค่าเฉลี่ยของผลตอบแทนรวมสุทธิของดัชนีพันธบัตรรัฐบาลอายุ 1 - 3 ปี ของสมาคมตลาดตราหนี้ไทย (35%) ผลตอบแทนรวมสุทธิของดัชนีพันธบัตรรัฐบาลอายุ 3 - 7 ปี ของสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (15%) ผลตอบแทนรวมสุทธิของดัชนีตราสารหนี้ภาคเอกชน Mark-to-Market ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือของผู้ออกตราสารอยู่ในระดับ A- ขึ้นไป อายุ 1 - 3 ปี ของสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (15%) อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปี วงเงินน้อยกว่า 5 ล้านบาท เฉลี่ยของ 3 ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่หลังหักภาษี (25%) และ ดัชนี US Generic Government 6 Month Yield บวกด้วยค่าเฉลี่ยของ Credit Spread ของตราสารที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับ BBB อายุ 6 เดือน ในช่วงระยะเวลาที่คำนวณผลตอบแทน ปรับด้วยต้นทุนการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อเทียบเป็นสกุลเงินบาท ณ วันที่คำนวณผลตอบแทน ตามสัดส่วนการทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนไม่น้อยกว่า 90% ของมูลค่าเงินลงทุนในต่างประเทศ (10%)
** ดัชนีผลตอบแทนรวมตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET TRI)
ผลการดำเนินงานในอดีต และ ผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน เอกสารฉบับนี้ จัดทำขึ้นโดย K-Expert โดยใช้ข้อมูลและคำแนะนำจากบล.กสิกรไทย และบลจ.กสิกรไทย
|