Investment View มุมมองการลงทุนทั่วโลก

Investment View มุมมองการลงทุนทั่วโลก

        สถานการณ์การลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกผลตอบแทนเฉลี่ยส่วนใหญ่ยังเผชิญหน้ากับความผันผวน โดยสงครามการค้ายังคงเป็นประเด็นที่ยังถูกจับตามองอยู่ ซึ่งโอกาสที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะบรรลุข้อตกลงทางการค้าในปีนี้ยังอยู่ในระดับต่ำ โดยความกังวลสะท้อนกลับมาในตัวเลขภาคการผลิตของกลุ่มเศรษฐกิจหลักที่ยังคงชะลออยู่

        ตลาดหุ้นอเมริกาผลตอบแทนยังคงติดลบ 
        ตลาดหุ้นอเมริกาผลตอบแทนค่าเฉลี่ยย้อนหลังหนึ่งเดือนยังคงติดลบ โดยรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร พบว่า ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ บวกกับความกดดันในเรื่องสงครามการค้า ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อตัวเลขขาดดุลทางการค้าที่ติดลบของอเมริกาในเดือนมิถุนายน 2019 ที่แตะสู่ระดับ 5.52 หมื่นล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์กันไว้ ซึ่งสะท้อนให้โมเมนตัมทางเศรษฐกิจที่ชะลอลง อย่างไรก็ดี ยอดค้าปลีกเดือนมิถุนายนที่ผ่านมายังคงขยายตัวได้ที่ +0.4% MoM และ +3.4%YoY สะท้อนการบริโภคที่แข็งแกร่ง และ เป็นปัจจัยหนุนหลักของ GDP ไตรมาส 2 อีกทั้งผลประกอบการบริษัทในดัชนี S&P500 ก็ได้ประกาศผลกำไรออกมาซึ่งดีกว่านักวิเคราะห์คาดการณ์
 
        การลงทุนหุ้นฝั่งยุโรปมีความผันผวน
        ตลาดหุ้นฝั่งยุโรปในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมาให้ผลตอบแทนเฉลี่ยยังคงติดลบท่ามกลางตัวเลขเศรษฐกิจยูโรโซนมีการขยายตัวเพียง 1.1% (หลังจากขยายตัว 1.2% ในไตรมาสแรก) ทั้งนี้ ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของยูโรโซนก็ยังสะท้อนในทิศทางเดียวกัน คือ มีการขยายตัวเล็กน้อยเพียงแค่ 0.2% ในไตรมาส 2 ซึ่งเป็นไปได้ว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจในยูโรโซน โดยเริ่มจากตรึงอัตราดอกเบี้ย และ ส่งสัญญาณการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนกันยายนไปจนถึงดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในเดือนตุลาคม ทั้งนี้ในฝั่งอังกฤษยังคงต้องจับตามองในด้านความกังวลกรณีที่อังกฤษถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) แบบไร้ข้อตกลง ส่งผลกระทบกับค่าเงินปอนด์ที่ทรุดตัวลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 27 เดือนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ
 
        เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงชะลอตัว
        สำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นฝั่งญี่ปุ่นแกว่งตัวในกรอบแคบ ๆ โดยปัจจัยการลงทุนยังถูกกดดันจากภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากประเด็นการค้าจีน และ สหรัฐฯ เห็นได้จากผลสำรวจความเชื่อมั่นในไตรมาส 2 ที่อ่อนแรงลง โดยรวมไม่ว่าจะเป็นในด้าน 
  1. การผลิตและนอกการผลิต 
  2. บริษัทขนาดใหญ่และเล็ก
  3. กิจกรรมทางธุรกิจปัจจุบันและมุมมองกิจกรรมในอนาคต 
        นอกจากนี้ นักลงทุนยังต้องจับตามองเกี่ยวกับแนวโน้มผลประกอบการที่อาจได้รับผลกระทบจากการที่รัฐบาลญี่ปุ่นจะปรับขึ้นภาษีการอุปโภคบริโภคในเดือนตุลาคมที่จะถึง

        ตัวเลขเศรษฐกิจจีนขยายตัวขึ้นเพียงเล็กน้อย
        ทางฝั่งตลาดหุ้นจีนแผ่นดินใหญ่ และ ตลาดหุ้นฮ่องกงนั้นหนีไม่พ้นความผันผวนจากข้อพิพาททางการค้าที่กลับมาอีกครั้ง โดยปธน.ทรัมป์ ประกาศจะกำหนดภาษีนำเข้าสินค้าจีนมูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐที่เหลือในอัตรา 10% ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 กันยายน ซึ่งเป็นไปได้ว่าทางจีนน่าจะปล่อยค่าเงินหยวนให้อ่อนลงเพื่อหักล้างผลกระทบจากภาษีนำเข้าที่สูงขึ้น โดยรายงานตัวเลขเศรษฐกิจจีนปัจจุบันพบว่า ขยายตัวขึ้นเล็กน้อยจากการสนับสนุนของภาครัฐ โดยรวมเศรษฐกิจยังขยายตัวได้ที่ 6.0-6.5% เห็นได้จาก 
  1. ยอดค้าปลีกที่เติบโต 9.8% 
  2. ผลผลิตอุตสาหกรรมที่ขยายตัว 6.3% 
  3. การลงทุนในสินทรัพย์คงทนที่เติบโต 5.8% 
        แต่ตัวเลข GDP กลับขยายตัวต่ำสุดในรอบ 27 ปี โดยไตรมาสที่ 2 ขยายตัวอยู่ที่ 6.2% จาก 6.4% ในเดือนก่อน อีกทั้งการส่งออก Q2 ไปยังสหรัฐฯ หดตัว  -7.8% ทั้งนี้นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าธนาคารกลางจีนอาจลดดอกเบี้ยในการประชุมต้นเดือนสิงหาคมนี้

        ตลาดหุ้นประเทศไทยยังคงปรับตัวตามทิศตลาดหุ้นทั่วโลก
        ตลาดหุ้นไทยยังคงปรับตัวตามทิศตลาดหุ้นทั่วโลก โดยยังคงมองเป้า SET Index ล่วงหน้า 12 เดือนอยู่ที่ 1,775 จุด โดยมุมมองการลงทุนในไทยดีขึ้นหลังจาก FITCH ได้ปรับมุมมองของไทยขึ้นเป็นบวก สนับสนุนความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนมากขึ้น อีกทั้งตัวเลขคาดการณ์ (GDP) ปีนี้ยังคงไว้ที่ 2.9 - 3.3% โดยอัตราเงินเฟ้อของไทยในเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 0.98% YoY ฟื้นตัวขึ้นจากเดือนก่อน และ ใกล้เคียงกับที่ตลาดคาด 1.00% YoY โดยด้านการลงทุนภาคเอกชนหดตัวจากหมวดก่อสร้างและเครื่องจักรอุปกรณ์ ตามการชะลอตัวทางเศรษฐกิจโลก และ รอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากทางภาครัฐที่คาดว่าจะทยอยออกมาหลังจากที่ได้มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ต้องรอติดตามสถานการณ์การลงทุนต่อไปหลังจาก กนง.มีมติลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% มาที่ 1.50% สวนทางตลาดคาดการณ์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทย

รายละเอียดกองทุนที่แนะนำ
กองทุน
นโยบายการลงทุน
การจ่ายเงินปันผล
ความเสี่ยงกองทุน
K-STAR-A(A)
​ลงทุนในหุ้นที่มีพื้นฐานดีและมีศักยภาพในการเติบโตระยะยาว
เพื่อมุ่งหวังผลตอบแทนดีสม่ำเสมอ
​ไม่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล
​ระดับ 6
K-SET50
​ลงทุนหุ้นในดัชนี SET50 เพื่อสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียง
กับผลตอบแทนของดัชนีผลตอบแทนรวม SET50
​ไม่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล
​ระดับ 6


ผลการดำเนินงานย้อนหลัง (ข้อมูล ณ วันที่ 23 กรกฎาคม 2562)​


3 เดือน
6 เดือน
1 ปี
3 ปี
ตั้งแต่ต้นปี
K-STAR-A(A)
​​4.14%
​7.81%
​5.62%
​N/A
​11.81%
​เกณฑ์มาตรฐาน *
​3.78%
​8.69%
​6.16%
​N/A
​12.43%
​K-SET50
​2.77%
​6.78%
​5.33%
​8.62%
​10.59%
​เกณฑ์มาตรฐาน **
​2.92%
​7.13%
​5.96%
​9.19%
​11.02%

ผลการดำเนินงานช่วงเวลาน้อยกว่า 1 ปี จะแสดงเป็นอัตราผลตอบแทนสะสม ส่วนช่วงเวลา 1 ปีขึ้นไป จะแสดงเป็นอัตราผลตอบแทนต่อปี 
* ดัชนีผลตอบแทนรวมตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET TRI) 
** ดัชนีผลตอบแทนรวม SET50 (SET50 TRI)

​ผลการดำเนินงานในอดีต และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และ ความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
เอกสารฉบับนี้ จัดทำขึ้นโดย K-Expert โดยใช้ข้อมูลและคำแนะนำจาก บล.กสิกรไทย และ บลจ.กสิกรไทย


THE PREMIER Advisory ฝ่ายพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้า ธนาคารกสิกรไทย K-Expert