“
● คราวด์ฟันดิง เป็นการระดมทุนจากนักลงทุนรายย่อยรูปแบบหนึ่งเหมาะสำหรับคนเพิ่งทำธุรกิจได้ไม่นานหรือเพิ่งเริ่มทำ แค่มีแผนธุรกิจไปนำเสนอบนแพลตฟอร์มที่อยู่บน Funding Portal ที่กำกับดูแลโดย ก.ล.ต. จากนั้นก็จะมีนักลงทุนมาเลือกเลือกลงทุน
● มี 4 รูปแบบคือ การระดมทุนในรูปแบบบริจาค (Donation) ระดมทุนเพื่อแลกกับสินค้า (Reward) ระดมทุนในรูปแบบกู้ยืม (Peer to Peer) และ การระดมทุนในรูปแบบหลักทรัพย์ (Investment) ซึ่งแบบสุดท้ายนี้จะแบ่งออกเป็นการระดมทุนคราวด์ฟันดิงด้วยการออกหุ้น กับ หุ้นกู้
● หุ้นกู้คราวด์ฟันดิงเหมาะสำหรับธุรกิจขนาดเล็กหรือธุรกิจ Start Up ต่างจาก หุ้นกู้ทั่วไปที่เหมาะกับธุรกิจขนาดใหญ่ที่ต้องทำการระดมทุนและซื้อขายผ่านธนาคารหรือบริษัทหลักทรัพย์ ผลตอบแทนเหมือนกันคือดอกเบี้ย
“
เงินทุน ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการเริ่มต้นทำธุรกิจหรือเพื่อขยายธุรกิจให้เติบโตขึ้น เพื่อสร้างสภาพคล่องให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้ ธุรกิจที่ต้องการเงินทุนนอกจากการขอสินเชื่อธนาคาร ก็มีการระดมทุนผ่านหุ้นกู้ที่หลายๆคนคงคุ้นเคยกันดี แต่ก็มีอีกวิธีคือ Crowdfunding กำลังเป็นที่พูดถึงในตอนนี้กำลังจะเข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนให้ธุรกิจเอสเอ็มอี และธุรกิจเกิดใหม่หรือสตาร์ทอัพ เข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น หลายคนสงสัยว่าคืออะไร เหมือนหรือแตกต่างจากหุ้นกู้ทั่วไปหรือไม่ วันนี้จะมาเล่าให้ฟัง
Crowdfunding คืออะไร
คราวด์ฟันดิง เป็นการระดมทุนจากบุคคลทั่วไปหรือนักลงทุนรายย่อย ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว ญาติ เพื่อน ฯลฯ ผ่านเว็บไซต์ตัวกลาง (Funding Portal) ซึ่งเป็นการยืมเงินจากหลายคนในจำนวนเงินที่ไม่มากนักมารวมๆ กันเป็นเงินทุนก้อนใหญ่ เหมาะสำหรับธุรกิจที่ไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มทุนขนาดใหญ่ได้
คราวด์ฟันดิงจึงถือเป็นการเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนรูปแบบหนึ่ง ซึ่งอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ที่กำกับดูแลโดย ก.ล.ต. โดยหากต้องการออกคราวด์ฟันดิงต้องมีคุณสมบัติคือ ต้องจดทะเบียนในรูปแบบบริษัทจำกัด อย่างน้อย 1 ปี หรือบริษัทมหาชนที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ธุรกิจหรือแผนธุรกิจที่นำเสนอมีความน่าเชื่อถือมีความเป็นไปได้จริง และต้องผ่านเกณฑ์การตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้นและการพิจารณาเครดิตของ เว็บไซต์ตัวกลาง (Funding Portal) เช่น โอกาสโดยรวมของบริษัท อุตสาหกรรม รายการเดินบัญชีทางการเงิน กระแสเงินสด ประวัติเครดิต ประวัติคดีความ เป็นต้น
Crowdfunding มี 4 รูปแบบ ดังนี้
1) การระดมทุนในรูปแบบบริจาค (Donation)
เป็นการระดมทุนแบบให้เปล่าที่ผู้ลงทุนจะไม่ได้รับผลตอบแทนใดๆ ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นองค์กรการกุศล มูลนิธิต่างๆ มีโครงการที่ต้องการทำให้สำเร็จจึงทำการระดมทุน เช่น โครงการก้าวคนละก้าวของ ตูน บอดี้สแลม ที่วิ่งและระดมทุนเพื่อนำเงินไปมอบให้กับโรงพยาบาล แพลตฟอร์มของไทยที่ให้บริการเช่น เพียร์พาวเวอร์ เอฟเอสสยาม อินเวสทรีไทยแลนด์ เป็นต้น
2) การระดมทุนเพื่อแลกกับสินค้า (Reward)
เป็นการระดมทุนอีกรูปแบบที่ผู้ลงทุนจะไม่ได้รับเงินเป็นสิ่งตอบแทน แต่จะได้รับสินค้าหรือของที่ระลึกเป็นสิ่งตอบแทน โดยผู้ที่สนใจสินค้านั้นจะลงเงินเพื่อระดมทุนให้เจ้าของไอเดียผลิตสินค้าออกสู่ตลาดได้จริง ตัวอย่างการระดมทุนในรูปแบบนี้ เช่น การระดมทุนเพื่อผลิตสินค้า ทำหนังสั้น เกม เพลง เป็นต้น
3) การระดมทุนในรูปแบบกู้ยืม (Peer to Peer)
เป็นการลงทุนที่ผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนเป็นตัวเงิน โดยเป็นการจับคู่ระหว่างผู้ลงทุนหรือคนให้ยืมกับผู้กู้ที่เป็นบุคคลธรรมดา โดยมีแพลตฟอร์มทำหน้าที่เป็นตัวกลาง รวบรวมเงินทุนจากนักลงทุนตามจำนวนที่ผู้กู้ยืมต้องการ โดยที่ผู้กู้ยืมต้องชำระเงินกู้คืนพร้อมดอกเบี้ยให้แก่นักลงทุนตามข้อตกลง การระดมทุนในรูปแบบนี้จะไม่มีสถาบันการเงินเข้ามาเกี่ยวข้องทำให้ผู้กู้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย
4) การระดมทุนในรูปแบบหลักทรัพย์ (Investment)
เป็นการระดมทุนที่ผู้ลงทุนจะได้รับหุ้นและได้รับผลตอบแทนจากการถือหุ้น ซึ่งจะสามารถแบ่งได้เป็น 2 แบบย่อย คือ
4.1 การระดมทุนคราวด์ฟันดิงด้วยการออกหุ้น (Equity Based) :
คือการที่ผู้กู้หรือผู้ประกอบการระดมทุนด้วยการออกหุ้น ให้แก่ผู้ลงทุน ซึ่งเมื่อผู้ลงทุนทำการซื้อหุ้นจะมีสิทธิ์เป็นเจ้าของบริษัทตามสัดส่วนเงินที่ลงทุน ผลตอบแทนที่ได้รับจะเป็นในรูปแบบของเงินปันผลหรือสามารถนำหุ้นไปขายต่อได้ ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละบริษัท
4.2 การระดมทุนคราวด์ฟันดิงด้วยการออกหุ้นกู้ (Debt Based) :
คือการที่ผู้กู้หรือผู้ประกอบการระดมทุนด้วยการออกหุ้นกู้ให้แก่ผู้ลงทุน แตกต่างกับคราวด์ฟันดิงด้วยการออกหุ้นคือ วิธีนี้ผู้ลงทุนจะอยู่ในฐานะเจ้าหนี้ของกิจการ ซึ่งจะได้รับผลตอบแทนในรูปแบบดอกเบี้ย และรับคืนเงินต้นเมื่อครบกำหนดอายุ ปัจจุบันคราวด์ฟันดิงกำลังได้รับความสนใจจากทั้งนักลงทุนและผู้ที่ต้องการระดมทุน ประกอบกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆได้ง่ายขึ้น และทำให้คนต้องการเงินและคนต้องการลงทุนมาเจอกันบนแพลตฟอร์มในรูปแบบหลักทรัพย์ที่มีทั้งคราวด์ฟันดิงหุ้นและคราวด์ฟันดิงหุ้นกู้ที่ต่างกันในเรื่องของรูปแบบผลตอบแทนและลักษณะการถือครองหรือความเป็นเจ้าของซึ่งหลายคนสงสัยว่าการระดมทุนคราวด์ฟันดิงด้วยการออกหุ้นกู้ เหมือนหรือต่างกับการระดมทุนผ่านหุ้นกู้ทั่วไปอย่างไร มาดูกัน
หุ้นกู้ทั่วไป VS หุ้นกู้ Crowdfunding
หุ้นกู้ทั่วไป เป็นตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจ มีด้วยกันหลากหลายประเภทและเงื่อนไข สามารถเลือกลงทุนตามระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระดมทุนสำหรับใช้ในกิจการต่างๆ ของบริษัท เช่น เพื่อการลงทุนขยายกิจการ ซื้ออุปกรณ์ หรือเพื่อก่อสร้างโรงงาน เป็นต้น ส่วนหุ้นกู้ Crowdfunding เหมาะสำหรับผู้ประกอบการรายเล็ก ไม่จำกัดว่าเป็นธุรกิจประเภทไหน แต่จะต้องอยู่ภายใต้การประเมินความเสี่ยงและจัดระดับความเสี่ยงของ เว็บไซต์ตัวกลางที่ต้องได้รับใบอนุญาตให้บริการ Crowdfunding จาก ก.ล.ต. เท่านั้น ซึ่งความแตกต่างอื่นๆ ดังตารางต่อไปนี้
รายละเอียด
|
หุ้นกู้ทั่วไป
|
หุ้นกู้ Crowdfunding
|
ออกโดย
| บริษัท/ธุรกิจขนาดกลาง-ใหญ่
| บริษัทขนาดเล็ก / Start Up
|
ระยะเวลาในการลงทุน
| 12 เดือนขึ้นไป
| 1 เดือนขึ้นไป
|
ราคาซื้อขายขั้นต่ำ
| 1,000 - 100,000 บาท
| 10,000 บาท
|
จำนวนเงินที่นักลงทุนลงได้
| ไม่จำกัด
(ขึ้นอยู่กับผู้ออกหุ้นกู้แต่ละบริษัท)
| บุคคลธรรมดา 100,000 บาทต่อหุ้นกู้ รวมไม่เกิน 1,000,000 บาทในรอบ 1 ปี / นิติบุคคลไม่จำกัดวงเงิน
|
เกณฑ์วัดความเสี่ยง
| ดูความสามารถในการชำระหนี้ หรือ Credit Rating
| ใช้ Credit Score ประเมินความสามารถในการชำระหนี้
|
ช่องทางการซื้อขาย
| ธนาคาร / บริษัทหลักทรัพย์
| Funding Portal
|
อ่านมาถึงตรงนี้หากมองในมุมของผู้ออกหุ้นกู้หรือต้องการเงินทุนก็ต้องดูว่าธุรกิจที่ทำนั้นเข้าเกณฑ์ที่จะระดมทุนแบบใดได้บ้าง แล้วจึงค่อยทำแผนธุรกิจเสนอ ส่วนนักลงทุนที่สนใจลงทุนในหุ้นกู้ทั่วไปหรือหุ้นกู้คราวด์ฟันดิง แนะนำดังนี้
1) สิ่งที่ควรดูเมื่อสนใจลงทุนในหุ้นกู้ทั่วไป :
• ดูว่าบริษัทนั้นมีประวัติการผิดนัดชำระหนี้ หรือ จ่ายผลตอบแทนตรงตามที่กำหนดหรือไม่ ซึ่งสามารถดูข้อมูลได้จากส่วนสรุปข้อมูลสำคัญในใบเสนอหุ้นกู้ หรือ บริษัททริสเรทติ้ง จำกัด และ บริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด
• ดูว่าบริษัทที่เสนอขายหุ้นกู้ถูกจัดอันดับเครดิตหรือมีความสามารถในการชำระหนี้จากอันดับเครดิต (Credit Rating) อยู่ที่เท่าใด โดยสูงสุดคือ AAA และต่ำสุดคือ
• ดูว่าหุ้นกู้ที่จะลงทุนนั้นจัดเป็นกลุ่มที่เหมาะต่อการลงทุน (Investment Grade) ซึ่งมีอันดับความน่าเชื่อถือตั้งแต่ BBB- ขึ้นไป หรือกลุ่มที่เหมาะต่อการเก็งกำไร (Speculative Grade) เพื่อที่จะได้เลือกลงทุนได้ตามความเสี่ยงที่รับได้ เป็นต้น
2) สิ่งที่ควรดูเมื่อสนใจลงทุนในหุ้นกู้คราวฟันดิง :
• ควรศึกษาและอ่านรายละเอียดของแผนธุรกิจที่ผู้ออกนำเสนอไว้บน Funding Portal ซึ่งเป็นตัวกลางที่เชื่อมโยงระหว่างบริษัทและผู้ลงทุนที่ได้รับการรับรองจาก ก.ล.ต.รวมไปถึงดูงบกำไรขาดทุน ผลการดำเนินงาน ฯลฯ เพื่อประกอบการตัดสินใจ
• ดูความน่าเชื่อถือและความสามารถในการชำระหนี้จากการประเมิน Credit Score โดยศูนย์ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ
• เนื่องจากผู้ระดมทุนในคราวด์ฟันดิงส่วนใหญ่เป็น SMEs หรือ Start Up ที่เพิ่งทำธุรกิจได้ไม่นานหรือเพิ่งเริ่มทำ จึงทำให้ไม่สามารถย้อนดูผลงานในอดีตได้ ถือเป็นความเสี่ยงที่ไม่ควรมองข้าม
หมายเหตุ :
การลงทุนในหุ้นกู้ :
https://www.kasikornbank.com/th/personal/invest/pages/bond.aspx
การระดมทุนผ่านผู้ให้บริการระบบคราวด์ฟันดิง :
https://www.sec.or.th/TH/Pages/LawandRegulations/Crowdfunding.aspx#summary