K WEALTH / บทความ / Market Update / อัปเดทมาตรการรัฐต้อนรับปี 2566 กระตุ้นกำลังซื้อ หนุนเศรษฐกิจ
21 ธันวาคม 2565
4 นาที

อัปเดทมาตรการรัฐต้อนรับปี 2566 กระตุ้นกำลังซื้อ หนุนเศรษฐกิจ


"


● มาตรการช้อปดีมีคืน 2566 ใช้สิทธิค่าซื้อสินค้าและบริการ ที่เสีย VAT 30,000 บาท เช่นเดียวกับปี 65 ที่เพิ่มเติม คือ ให้สิทธิใบกำกับภาษีแบบอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มอีก 10,000 บาท โดยมีระยะเวลาใช้สิทธิ 1 ม.ค. – 15 ก.พ. 66 จะใช้ประโยชน์สูงสุด หากมีความจำเป็นต้องซื้อสินค้าและบริการอยู่แล้ว และภาษีเป็นส่วนลดตามฐานภาษีของตนเอง


● มาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 2566 ช่วยบรรเทาภาระภาษีลง 15% หากต้องการวางแผนภาษีที่ดินฯ ต้องใช้กลยุทธ์เปลี่ยนประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดินเข้ามาช่วยด้วย


● มาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอน และค่าจดจำนอง เหมาะกับผู้ที่จะซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ไม่ว่าจะมือแรก หรือมือสอง ที่มีราคาซื้อขายและราคาประเมิน ไม่เกิน 3.0 ล้านบาท และจดจำนองไม่เกิน 3.0 ล้านบาทต่อสัญญา จะได้ประโยชน์สูงสุด



"

จากมติการประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 20 ธ.ค. 65 ได้อนุมัติมาตรการภาษีและค่าธรรมเนียม 5 มาตรการ โดยมี 3 มาตรการ ที่จะเป็นประชาชนในวงกว้าง มีรายละเอียดดังนี้


1) มาตรการช้อปดีมีคืน 2566 


กลุ่มผู้ที่ได้ประโยชน์ คือ ผู้ที่มีเงินได้ถึงเกณฑ์เสียภาษีบุคคลธรรมดา (ไม่รวมห้างหุ้นส่วนสามัญ และ คณะบุคคล)
เงื่อนไขในการใช้เงินค่าซื้อสินค้าและบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมถึง หนังสือ E-Book และสินค้า OTOP ที่ลงทะเบียนกับกรมพัฒนาชุมชนแล้ว ใช้หักเป็นค่าลดหย่อนตามจริง สูงสุดไม่เกิน 40,000 บาท โดยแบ่งเป็นการออกใบกำกับภาษีแบบกระดาษหรือแบบอิเล็กทรอนิกส์ ไม่เกิน 30,000 บาท และออกใบกำกับภาษีแบบอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น ไม่เกิน 10,000 บาท

ค่าใช้จ่ายที่ใช้สิทธิในมาตรการช้อปดีมีคืน 2566 ไม่ได้ เช่น ค่าซื้อสินค้าแอลกอฮอล์ และยาสูบ ค่าซื้อรถยนต์ จักรยานยนต์ ค่าที่พักโรงแรม ค่าไกด์นำเที่ยว ค่าสาธารณูปโภค (ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเตอร์เน็ต) และค่าเบี้ยประกัน  

ช่วงระยะเวลาใช้สิทธิ : 1 ม.ค. – 15 ก.พ. 66 (ระยะเวลา 46 วัน)

เอกสารประกอบการใช้สิทธิ ใบกำกับภาษี ที่ระบุชื่อ-สกุล(ผู้ใช้สิทธิ) เลขประจำตัวผู้เสียภาษี ที่อยู่ และจำนวนเงินค่าซื้อสินค้าและบริการ 

คำแนะนำในการใช้สิทธิ : 


1. จะซื้อสินค้าและบริการ หลายๆครั้ง หรือครั้งเดียว แต่ใช้สิทธิสูงสุดไม่เกิน 40,000 บาท (ส่วนแรก ไม่เกิน 30,000 สำหรับใบกำกับภาษีแบบกระดาษ และ ส่วนที่ 2 ไม่เกิน 10,000 บาทสำหรับใบกำกับภาษีแบบอิเล็กทรอนิกส์) ภายในช่วงระยะเวลาที่กำหนด

2. ถ่ายเอกสารใบกำกับภาษีแบบกระดาษ เพื่อป้องกันไม่ให้หมึกเลือน เนื่องจากจะใช้ประกอบการยื่นภาษีในช่วงต้นปี 2567 

3. ค่าธรรมเนียมซื้อขายหุ้น (ค่า Brokerage Fee) ค่าธรรมเนียมในการขายกองทุน (Front-End Fee) ค่าธรรมเนียมในการรับซื้อกองทุน (Back-End Fee) ก็สามารถใช้สิทธิได้

4. อย่าตัดสินใจซื้อสินค้า เพียงเพราะประหยัดภาษี ต้องมีความจำเป็นต้องใช้สินค้าและบริการด้วย จึงจะคุ้ม เพราะประหยัดภาษีสูงสุด 35% ของ 40,000 บาท เท่ากับ 14,000 บาท แปลว่า จ่ายเงินซื้อสินค้าหรือบริการ มีส่วนลด 35% (ตามฐานภาษีของผู้มีเงินได้)


2) มาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 2566


กลุ่มที่ได้รับประโยชน์ : ผู้ที่มีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และมีหน้าที่เสียภาษีที่ดินฯ

กำหนดให้ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 2566 ลงร้อยละ 15 สำหรับที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่ได้การลดภาษี หรือ ได้รับลดภาษีร้อยละ 50 ตาม พรฏ.ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2563 เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษีที่ดิน

ช่วงระยะเวลาใช้สิทธิ : สำหรับผู้เสียภาษีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างปี 2566 โดยเป็นผู้ที่มีชื่อในโฉนด ในฐานะเจ้าของที่ดินและ/หรือผู้ที่มีชื่อในทะเบียนบ้าน ในฐานะเจ้าของสิ่งปลูกสร้าง ณ วันที่ 1 ม.ค. 66 

ล่าสุดกระทรวงมหาดไทย มีการขยายระยะเวลาจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 2566 ออกไปอีก 2 เดือน ทำให้
ภายในเดือน ม.ค. 66 องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จะต้องจัดทำบัญชีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พร้อมจัดส่งข้อมูลให้ผู้เสียภาษีแต่ละรายทราบ
ก่อนวันที่ 1 เม.ย. 66 อปท. ประกาศราคาประเมิน อัตราภาษีจัดเก็บ และรายเอียดที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งส่งแบบประเมินภาษีให้แก่ผู้เสียภาษี
ภายในเดือน มิ.ย. 66 ผู้เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างชำระภาษี กรณีผ่อนชำระ ให้เริ่มชำระงวดที่ 1 ภายในเดือน มิ.ย.66 / งวดที่ 2 ภายในเดือน ก.ค. 66 และงวดที่ 3 ภายในเดือน ส.ค. 66 

คำแนะนำในการใช้สิทธิ :


1. สำหรับผู้ที่มีบ้าน อาคารชุด หลายหลัง ควรวางแผนนำชื่อเข้าทะเบียนบ้าน บ้านหลังที่มีราคาประเมินสูงสุด เพื่อให้ได้รับยกเว้นภาษีจากบ้านหลังหลัก

2. สำหรับผู้ที่มีแผนจะโอนบ้าน/อาคารชุด ให้บุตรอยู่แล้ว ใช้การโอนกรรมสิทธิเพื่อช่วยวางแผนภาษีที่ดินฯได้

3. สำหรับผู้ที่มีที่ดินเปล่า ใช้เทคนิคการเปลี่ยนประเภทการใช้ประโยชน์เป็นประเภทเกษตรกรรม เนื่องจากเสียภาษีอัตราน้อยที่สุด


3) มาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอน และค่าจดจำนองที่ดิน ในครึ่งปีแรกของปี 66


กลุ่มที่ได้ประโยชน์ คือ ผู้ที่กำลังจะซื้อขายบ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านแถวหรืออาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะราคาซื้อขายและราคาประเมิน ไม่เกิน 3 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อสัญญา จะได้ประโยชน์สูงสุด

กำหนดให้ลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิจากอัตรา 2% เป็น 1% (ของปี 65 ลดเหลือ 0.01%) และลดค่าจดจำนองจากอัตรา 1% เป็น 0.01% (เท่ากับปี 65) 

ช่วงระยะเวลาใช้สิทธิ : วันถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา. – 31 ธ.ค. 66​

คำแนะนำในการใช้สิทธิ


1. ในการโอนกรรมสิทธิอสังหาริมทรัพย์ทั้งมือแรก มือสอง ในเงื่อนไขที่ได้รับสิทธิลดค่าธรรมเนียมการโอน และค่าจดจำนอง ดีที่สุด ให้ดำเนินการภายในปี 2565 จะได้ประโยชน์กว่าโอนในปี 2566

ผลกระทบต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ


1.มาตรการช้อปดีมีคืน ปี 66 คาดว่าสูญเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ประมาณ 8,232 ล้านบาท โดยจะทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ประมาณ 56,000 ล้านบาท ทำให้ GDP เพิ่มขึ้น 0.16%

2.มาตรการลดภาษีที่ดินฯ ปี 66 คาด อปท. จะสูญรายได้ประมาณ 6,288 ล้านบาท ซึ่งจะใช้งบประมาณเพื่อชดเชยรายได้ให้ อปท. โดยคาดว่า จะจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มหรือภาษีธุรกิจเฉพาะเพิ่มขึ้น

3.มาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอน และค่าจดจำนองลง คาด อปท.จะสูญรายได้ประมาณ 1,989 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ GDP เพิ่มขึ้น 0.60% เทียบกับกรณีไม่มีมาตรการ

ขอขอบคุณข้อมูล 
ที่มา : มติ ครม. วันที่ 20 ธ.ค. 65 https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/62908
          พรฎ. ลดภาษีที่ดินฯ ปี 2563 http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/A/005/T_0005.PDF



บทความโดย K WEALTH TRAINER สุนิติ ถนัดวณิชย์ CFP®
KBank LIVE
 

ติดตามข่าวสารการเงินจาก
K WEALTH ฟรี!