K WEALTH / บทความ / Market Update / ประเด็นร้อน : เกาะติดผลประชุม FED ส่งผลต่อการลงทุนอย่างไร ?
22 กันยายน 2565
3 นาที

ประเด็นร้อน : เกาะติดผลประชุม FED ส่งผลต่อการลงทุนอย่างไร ?


​​​​“

● ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% เป็นครั้งที่ 3 ติดต่อกันตามคาด พร้อมส่งสัญญาณเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องต่อไปเพื่อสกัดเงินเฟ้อ


● เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย ทั้งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยุโรป และจีน ผู้ลงทุนจึงควรติดตามข่าวสารและลงทุนด้วยความระมัดระวัง


● FedEx เปิดเผยว่า จากปริมาณการจัดส่งทั่วโลกของบริษัทที่ลดลง อาจเป็นสัญญาณเตือนเศรษฐกิจโลกที่กำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย



FED ขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ตามคาด ด้วยมติเอกฉันท์


คืนวันที่ 21 ก.ย. 65 ที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีมติขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ตามคาด โดยเป็นการขึ้นดอกเบี้ย 0.75% เป็นครั้งที่ 3 ติดต่อกัน ด้วยมติเป็นเอกฉันท์ 12-0 สู่ระดับ 3.00-3.25% เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อหลังจากเงินเฟ้อสหรัฐฯ ล่าสุด ณ ส.ค. 65 อยู่ที่ 8.3% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ โดยคณะกรรมการมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายที่ระดับ 2%



ตลาดตอบรับเชิงลบ หลังรู้ผลประชุม FED


ณ 21 ก.ย. 65 ดัชนีตลาดหุ้นหลักๆ ของสหรัฐฯ มีการปรับตัวลดลงหลังรู้ผลการประชุม FED เช่น Dow Jones -1.70% S&P 500 -1.71% Nasdaq -1.79% เทียบกับวันก่อนหน้า ส่วนกองทุนหลักของกองทุนหุ้นสหรัฐฯ อย่างกองทุน US Advantage Fund ซึ่งเป็นกองทุนหลักของ K-USA ก็ปรับตัวลดลง -0.59% เทียบกับวันก่อนหน้า กองทุน Invesco QQQ Trust ซึ่งเป็นกองทุนหลักของ K-USXNDQ ก็ปรับตัวลดลง -1.79% เทียบกับวันก่อนหน้า และกองทุน iShares Core S&P 500 ETF ซึ่งเป็นกองทุนหลักของ K-US500X ก็ปรับตัวลดลง -1.71% เทียบกับวันก่อนหน้าเช่นกัน


การขึ้นดอกเบี้ย 0.75% เป็นครั้งที่ 3 ติดต่อกัน ถือเป็นการดำเนินการที่เข้มงวดที่สุดของ FED นับตั้งแต่ที่ FED ใช้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นเป็นเครื่องมือสำคัญด้านนโยบายการเงินในช่วงทศวรรษ 1990 สำหรับการแถลงข่าวของนายเจอโรม พาวเวล ประธาน FED หลังเสร็จสิ้นการประชุม ได้มีการส่งสัญญาณว่าจะเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องต่อไป ซึ่งเป็นมาตรการที่เหมาะสมในการสกัดเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขณะนี้ และยอมรับว่าไม่มีวิธีการใดที่ไร้ความเจ็บปวดในการเอาชนะเงินเฟ้อ ซึ่งอาจต้องแลกมาด้วยภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและตัวเลขการว่างงานที่สูงขึ้น


การประชุม FED​ รอบนี้มีการเปิดเผยประมาณการการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Dot Plot) โดยคณะกรรมการมองว่าปี 2022 ดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 4.4% นั่นคือช่วง 4.25-4.50% แสดงว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 1.25% กับการประชุมอีก 2 ครั้งที่เหลือของปีนี้ โดยจะมี 1 ครั้งที่ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% และอีก 1 ครั้งที่ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ส่วนปี 2023 คณะกรรมการมองว่าดอกเบี้ยจะขึ้นไปที่ 4.6%


สำหรับคาดการณ์ GDP ปี 2022 อยู่ที่ 0.2% ลดลงจากคาดการณ์เดือนมิถุนายนที่ 1.7% ส่วนปี 2023 อยู่ที่ 1.2% ลดลงจากคาดการณ์เดือนมิถุนายนที่ 1.7% สะท้อนมุมมองเชิงลบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ


ด้านตัวเลขการว่างงานปี 2022 คาดไว้ที่ 3.8% ส่วนปี 2023 คาดไว้ที่ 4.4% สะท้อนว่าปีนี้ตลาดแรงงานยังแข็งแกร่ง ส่วนปีหน้าตลาดแรงงานอาจได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ แต่ถือว่ายังแข็งแกร่ง


สำหรับคาดการณ์เงินเฟ้อ (PCE) ปี 2022 อยู่ที่ 5.4% เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายนเล็กน้อยที่ 5.2% ส่วนปี 2023 คาดไว้ที่ 2.8% เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายนที่ 2.6% ด้านเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core PCE) ปี 2022 คาดไว้ที่ 4.5% และปี 2023 คาดไว้ที่ 3.1%



มุมมองการลงทุน


● ธนาคารโลก (World Bank) ได้ออกรายงานเตือนว่า เศรษฐกิจโลกกำลังเข้าใกล้ภาวะถดถอยเนื่องจากธนาคารกลางทั่วโลกกำลังเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ โดยเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จีน และยูโรโซน จะชะลอตัวลงอย่างรุนแรง และเศรษฐกิจโลกอาจเผชิญภาวะถดถอยได้ในปี 2566


● กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มองว่า เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงที่จะชะลอตัวลงอีกในไตรมาส 3 ของปีนี้ และคาดการณ์ว่าปี 2566 บางประเทศอาจเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งจากรายงานของ IMF ล่าสุดเดือน ก.ค. 65 ได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของโลกลงเหลือ 3.2% ในปี 2565 และ 2.9% ในปี 2566


● ราจ สุบรามาเนียม ซีอีโอของ FedEx ได้ให้สัมภาษณ์กับ CNBC ว่า เศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยซึ่งสะท้อนได้จากรายได้ไตรมาสแรกจนถึงวันที่ 31 ส.ค. 65 ที่อ่อนแอกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์จากปริมาณการจัดส่งทั่วโลกที่ลดลง ทั้งในระดับสากลและในสหรัฐฯ หลังจากการให้สัมภาษณ์ดังกล่าว ซึ่งถือเป็นหนึ่งในรูปแบบสัญญาณเตือนภัยเศรษฐกิจโลก ราคาหุ้นของ FedEx ณ 16 ก.ย. 65 ก็ร่วงลง 21% ภายในวันเดียว



คำแนะนำการลงทุน


ผู้ที่ถือกองทุนหุ้นสหรัฐฯ เช่น K-USA อยู่ แนะนำให้ถือต่อและรอประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ส่วนผู้ที่ต้องการลงทุนเพิ่ม ยังไม่แนะนำให้ลงทุนตอนนี้


ผู้ที่รับความเสี่ยงจากการลงทุนได้ และลงทุนได้ระยะยาว 


          o ผู้รับความเสี่ยงได้ปานกลาง >> แนะนำกระจายการลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายทั่วโลก ผ่านกองทุนรวมผสม K-GINCOME ที่สามารถทยอยลงทุนและถือลงทุนได้แทบทุกสถานการณ์


          o ผู้ที่รับความเสี่ยงได้สูง >> แนะนำพิจารณาทางเลือกในการแบ่งเงินลงทุนบางส่วนมาทยอยลงทุนกองทุนหุ้นจีน (เช่น K-CHX, K-CHINA, K-CCTV) กองทุนหุ้นเวียดนาม (เช่น K-VIETNAM) กองทุนหุ้นญี่ปุ่น (เช่น K-JP, K-JPX) หรือกองทุนหุ้นไทย (เช่น K-STAR) เพื่อโอกาสรับผลตอบแทนในระยะยาว


สำหรับผู้ที่ยังกังวลกับความผันผวนของตลาดหุ้น แนะนำพักเงินในกองทุน K-CASH เพื่อรอจังหวะเข้าลงทุน อีกครั้ง


ขอขอบคุณข้อมูลจาก KAsset, THE STANDARD WEALTH, กรุงเทพธุรกิจ, Infoquest


Disclaimer: “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน”



บทความโดย K WEALTH TRAINER สุวิมล ยิ่งเจริญรุ่งโรจน์ CFP®
KBank LIVE
 

ติดตามข่าวสารการเงินจาก
K WEALTH ฟรี!

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

จับตา FED อาจขึ้นดอกเบี้ยแรง หลังเงินเฟ้อสหรัฐฯ พุ่งเกินคาด
ประเด็นร้อน : ถอดรหัส กองทุนสหรัฐฯ แตะบวก สวนทางน้ำมัน-ตราสารหนี้
ประเด็นร้อน : เงินเฟ้อพุ่งสะเทือนตลาดหุ้นทั่วโลก ได้จังหวะปรับพอร์ตฟิต กองทุนไหนจะได้ไปต่อ