K WEALTH / บทความ / Market Update / เลือกหุ้นกู้แบบไหน ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น
05 สิงหาคม 2565
3 นาที

เลือกหุ้นกู้แบบไหน ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น


​​“

● ในช่วงครึ่งปีหลัง มีหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดอีกประมาณ 320,000 ล้านบาท โดย 3 อันดับ เป็นหุ้นกู้จากกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ การเงิน และพลังงาน โดยต้องติดตามว่าจะเป็นการกู้ยืมเพื่อไถ่ถอนหุ้นกู้รุ่นก่​อนหน้า หรือเพื่อบริหารต้นทุนการกู้ยืมมากน้อยเพียงใด


● นักลงทุนหุ้นกู้อาจกังวลว่าจะเสียโอกาสในการได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น จากการส่งสัญญาณขึ้นอัตราดอกเบี้ยจาก ธปท. ไม่เร่งตัวเท่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) แนะนำให้เลือกลงทุนตามระยะเวลาการใช้เงินในอนาคต อัตราดอกเบี้ย อันดับความน่าเชื่อถือ และเงื่อนไขในการเรียกร้องหากมีการผิดนัดชำระหนี้


● คำแนะนำในการหาอัตราผลตอบแทนคาดหวังของตลาด คือ ดูจากอัตราผลตอบแทนในระยะเวลาที่เท่ากันใน Yield Curve ของ Zero Coupon Bond บวกด้วย Credit Rating



นักลงทุนตราสารหนี้ไทยโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นพันธบัตรรัฐบาล หรือหุ้นกู้ภาคเอกชน ที่ผ่านมาถือว่าเป็นช่วงที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำ และกำลังจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) กำลังจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตลอดปีนี้ สำหรับใครที่มีความกังวลว่าจะเลือกลงทุนในพันธบัตรหรือหุ้นกู้ชุดไหนดี ปัจจัยที่ต้องพิจารณาเพื่อให้ตอบโจทย์ในการลงทุนของตนเองควรมีอะไรบ้าง บทความนี้มีคำตอบให้ช่วยตัดสินใจได้



สถานการณ์หุ้นกู้ระยะยาวที่จะครบกำหนดในช่วงที่เหลือของปี 65- ปี 67

ThaiBMA คาดว่าในปี 2565 จะมียอดการออกและเสนอขายหุ้นกู้เอกชนทะลุ 1 ล้านล้านบาท เช่นเดียวกับปี 64 ที่มียอดเสนอขายอยู่ที่ 1.3 ล้านล้านบาท โดยการออกหุ้นกู้เอกชนในช่วงไตรมาส 2 ปี 65 ยังคงเติบโตจากไตรมาสแรก เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ และมองว่าทิศทางอัตราดอกเบี้ยจะปรับตัวขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง โดยตัวเลขการออกหุ้นกู้เอกชนในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 มีมูลค่า 660,121 ล้านบาท คิดเป็น 64% ของมูลค่าการออกทั้งปี 2564 หรือ เพิ่มขึ้น 27% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน


ล่าสุดศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้รวบรวมข้อมูลจาก ThaiBMA (ข้อมูล ณ วันที่ 10 มิ.ย. 65) ในช่วงเกือบครึ่งปีหลังของปี 65 – ปี 67 พบว่ามีหุ้นกู้ระยะยาวที่ครบกำหนดไถ่ถอน ประมาณ 3.2 แสนล้านบาท 6.2 แสนล้านบาท และ 7.1 แสนล้านบาท ตามลำดับ ในขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ออกมาส่งสัญญาณว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ โดยบริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทยคาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงไตรมาส 3 ปี 65 จึงเป็นสาเหตุให้ต้องจับตาว่าการออกหุ้นกู้เพื่อชำระเงินกู้และการต่ออายุหุ้นกู้ที่ครบกำหนด จะเพิ่มขึ้นเพื่อควบคุมต้นทุนทางการเงินของผู้ออกตราสารหนี้หรือไม่ โดยกลุ่มธุรกิจที่มีหุ้นกู้ครบกำหนดมากที่สุด 3 ลำดับแรก คือ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มการเงิน และกลุ่มพลังงาน




เลือกลงทุนหุ้นกู้อย่างไร ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น

หลักการในการเลือกลงทุนหุ้นกู้ มีทั้งเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทน เงื่อนไขในการเรียกร้อง เช่น ด้อยสิทธิ/ไม่ด้อยสิทธิ มีหลักประกัน/ไม่มีหลักประกัน อันดับความน่าเชื่อถือ(โอกาสในการเบี้ยวหนี้) เป็นต้น อ่านไปอ่านมาอาจดูเข้าใจยาก ลองดูตัวอย่างกันดีกว่า 


     1.หุ้นกู้ A ของบริษัทที่ทำธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ เป็นหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกัน มีระยะเวลา 3 ปี ให้ผลตอบแทนที่ 3.9% ต่อปี 


     2.หุ้นกู้ B ของบริษัทผลิตปูนซีเมนต์ เป็นหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกัน มีระยะเวลา 3 ปี ให้ผลตอบแทนที่ 4.1% ต่อปี หากเราเป็นนักลงทุนคงเลือกลงทุนในหุ้นกู้ B แต่อย่าลืม ดูอันดับความน่าเชื่อถือประกอบด้วย ซึ่งต้องบอกว่าทั้ง 2 หุ้นกู้ที่ยกตัวอย่างมานี้มีอยู่จริง โดยอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทและอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ อยู่ที่ BBB+ ซึ่งจัดอันดับโดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด 


ลองดูตัวอย่างเพิ่ม เป็นหุ้นกู้ที่เปิดขายสำหรับนักลงทุนรายใหญ่ หรือ นักลงทุนสถาบัน 


     3.หุ้นกู้ C ของบริษัทที่ทำธุรกิจหลักทรัพย์ เป็นหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน มีระยะเวลา 2 ปี ให้ผลตอบแทนที่ 3.80% ต่อปี 


     4.หุ้นกู้ D ของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เป็นหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ มีหลักประกัน มีระยะเวลา 2 ปี ให้ผลตอบแทนที่ 6.75% ต่อปี 


ทั้งตัวอย่างหุ้นกู้ C และหุ้นกู้ D ซึ่งบริษัทและหุ้นกู้ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ แปลว่า ความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระไม่สามารถระบุได้ ทำให้การประเมินความเสี่ยงอาจไม่ตรงกับข้อเท็จจริง และกรณีนี้ นักลงทุนอาจต้องตัดสินใจจากผลตอบแทนเท่านั้น นั่นคือ เลือกลงทุนในหุ้นกู้ D แต่ระวังว่า มีโอกาสเสี่ยงสูงกว่า หุ้นกู้ C ไม่งั้น ทำไมจึงต้องให้ผลตอบแทนจูงใจกว่า ก็อาจค้นหาข้อมูลประกอบก่อนการตัดสินใจเลือก 


จากข้อมูลการออกหุ้นกู้ใหม่ ซึ่งสามารถดูได้ที่สมาคมตราสารหนี้ไทย หรือ www.thaibma.com ที่จะมีการให้ข้อมูล อัตราดอกเบี้ย ระยะเวลา และเงื่อนไขต่างๆ เพื่อใช้ในการเปรียบเทียบและตัดสินใจในการลงทุนหุ้นกู้ได้ นอกจากนี้ยังมีการระบุวัตถุประสงค์ในการออกหุ้นกู้ใหม่ เช่น เพื่อนำไประดมทุนอะไร หรือเพื่อนำไปไถ่ถอนหุ้นกู้เดิมที่ครบกำหนด สำหรับการนำไปไถ่ถอนหุ้นกู้เดิมจะถูกเรียกว่า rollover ซึ่งจากสถานการณ์แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่กำลังจะปรับขึ้น จะส่งผลต่อนักลงทุนได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น และผู้ออกหุ้นกู้ใหม่จะมีต้นทุนการเงินที่สูงขึ้นเช่นกัน ดังนั้น ผู้ออกหุ้นกู้ จึงอยากรีบออกหุ้นกู้เพื่อล็อกต้นทุนการเงินที่ต่ำไว้ก่อน ในมุมของนักลงทุนก็จะมีข้อกังวลในการเลือกลงทุนหุ้นกู้ ว่าควรระยะสั้นแค่ไหน จะมีแนวทางในการเลือกลงทุนอย่างไร



ดอกเบี้ยสักเท่าไร ถึงคุ้มที่จะลงทุน

เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยกำลังจะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้นักลงทุนที่ลงทุนหุ้นกู้ที่กำลังจะออกใหม่ได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น และผู้ออกหุ้นกู้ก็จะมีต้นทุนสูงขึ้น ดังนั้น ตัวช่วยในการตัดสินใจของนักลงทุนคือ การพิจารณาอัตราผลตอบแทนคาดหวังของตลาด ในระยะเวลาที่เท่ากัน และ Credit Rating เท่ากัน เช่น จากตัวอย่างหุ้นกู้ A และหุ้นกู้ B เมื่อเปิดดูอัตราผลตอบแทนที่คาดหวัง คือ Yield Curve ของ Zero Coupon Bond ในระยะเวลา 3 ปี อยู่ที่ 2.06% ต่อปี แต่ 2.06% ต่อปี เป็นเพียงอัตราผลตอบแทนที่คาดหวังกรณีของตราสารหนี้ภาครัฐ ซึ่งหากเป็นตราสารหนี้เอกชนที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ย่อมต้องคาดหวังผลตอบแทนที่สูงขึ้น ดังนั้นในระยะเวลา 3 ปีเท่ากัน ต้องดูอัตรา Credit Spread (ส่วนต่างผลตอบแทนระหว่างพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้เอกชน) โดยดูที่ Credit Rating BBB+ ด้วย ซึ่งข้อมูล Credit Spread ณ วันที่ 30 มิ.ย. 65 อยู่ที่ 1.99% ต่อปี เมื่อรวมทั้งสองตัวเลขแล้วจะกลายเป็น 4.05% ต่อปี (= 2.06% + 1.99%) ซึ่งหุ้นกู้ B เป็นหุ้นกู้ที่ให้ผลตอบแทนใกลัเคียงกับตลาดมากที่สุด เป็นต้น


คำแนะนำเลือกหุ้นกู้ ยามอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น

ในสถานการณ์ที่อัตราดอกเบี้ยกำลังจะขึ้น นักลงทุนควรเลือกหุ้นกู้ โดย 


     - เลือกระยะเวลาการลงทุนให้สอดคล้องกับการใช้เงินในอนาคต และไม่ต้องกังวลว่าจะเสียโอกาสได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นในอนาคต เนื่องจากแนวโน้มการขึ้นอัตราดอกเบี้ยไม่ได้มีอัตราเร่งเท่ากับธนาคารกลางสหรัฐฯ 


     - อย่าเลือกที่อัตราดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว ควรเปรียบเทียบกับอัตราผลตอบแทนที่คาดหวังของตลาด นั่นคือ นำ Yield Curve ของ Zero Coupon Bond* เพื่อกำหนดอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล (ตามระยะเวลาลงทุน) + Credit Spread** (ตามระยะเวลา และ Credit Rating) ที่เป็นอัตราผลตอบแทนชดเชยความเสี่ยง และที่สำคัญอย่าลืมพิจารณาด้วย Credit Rating ของหุ้นกู้นั้นอยู่ในระดับที่ลงทุนได้ หรือ Investment Grade หรือไม่ ซึ่งก็คือ BBB ขึ้นไป ไม่สนใจประจุ +หรือ – หากต่ำกว่า BBB จะกลายเป็น High Yield Bond ซึ่งมีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระเพิ่มขึ้น 


     - อีกปัจจัยที่ต้องพิจารณาก่อนเลือกลงทุนหุ้นกู้ คือ เงื่อนไขในการเรียกร้อง หากเกิดการผิดนัดชำระ เช่น หุ้นกู้ด้อยสิทธิย่อมมีสิทธิเรียกร้องต่ำกว่าหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ หุ้นกู้มีหลักประกันมีความเสี่ยงต่ำกว่าหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันเนื่องจากมีหลักประกันสำหรับการกู้ยืมในหุ้นกู้นี้ ซึ่งจะสะท้อนในอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดด้วย โดยความเสี่ยงยิ่งสูงหรือสิทธิยิ่งต่ำ อัตราดอกเบี้ยก็ควรสูงขึ้นด้วย 


อย่างไรก็ตาม หากไม่อยากทำการบ้านในการเลือกลงทุนหุ้นกู้โดยตรง ยังมีทางเลือการลงทุนกองทุนตราสารหนี้ระยะยาว ที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารหนี้เช่นเดียวกัน แต่มีผู้เชี่ยวชาญอย่างผู้จัดการกองทุนช่วยดูแลการเลือกลงทุนในหุ้นกู้และพันธบัตรให้ เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่มีเวลาติดตาม หรือไม่อยากรอหุ้นกู้ที่ยังไม่ออก หรือหากได้รับเงินครบกำหนดมาแล้ว และยังอยู่ในระหว่างการตัดสินใจเลือกลงทุนหุ้นกู้ใหม่ ก็สามารถนำเงินนั้นมาพักในกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นก็ได้ เพื่อเพิ่มโอกาสได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ 



ขอขอบคุณข้อมูลจาก: 

* Yield Curve ของ Zerp Coupon Bond ณ วันที่ 30 มิ.ย. 65 https://www.thaibma.or.th/EN/Market/YieldCurve/Zero.aspx 

** Credit Spread ณ วันที่ 30 มิ.ย. 65 https://www.thaibma.or.th/EN/Market/YieldCurve/Corporate.aspx​



บทความโดย K WEALTH TRAINER สุนิติ ถนัดวณิชย์ CFP®
KBank LIVE
 

ติดตามข่าวสารการเงินจาก
K WEALTH ฟรี!

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

เรื่องต้องรู้ ก่อนลงทุนในหุ้นกู้ Crowdfunding
Green Bond คืออะไร น่าลงทุนจริงหรือ
กองทุนตราสารหนี้ร่วง แต่ทำไมควรทยอยซื้อ และถือต่อ

ผลิตภัณฑ์ที่แนะนำ