25 ต.ค. 62

เทคนิควางแผนภาษีสำหรับ ชาว Millennial

คะแนนเฉลี่ย

ภาษี

เทคนิควางแผนภาษีสำหรับ ชาว Millennial


          ​​​​พูดถึง “ภาษี หัก ณ ที่จ่าย” ที่โดนหักทุกๆเดือนหรือทุกๆครั้งที่มีรายได้ บางคนอาจไม่ได้สนใจเพราะมองว่าเป็นจำนวนเงินที่ไม่ได้เยอะในแต่ละเดือน แต่พอรวมๆกันทั้งปีแล้วกลับเป็นจำนวนเงินที่ไม่น้อยเลยทีเดียว วันนี้เราจะมาดูวิธีวางแผนภาษีของกลุ่มชาว Millennial กันว่าจะวางแผนภาษีอย่างไรกันได้บ้าง 


ทำความรู้จักกลุ่ม Millennial คือใคร 

          Millennial คือ กลุ่มคนที่มีอายุตั้งแต่ 19-39 ปี หรือเกิดในช่วง ค.ศ. 1980-2000 ซี่งเป็นกลุ่มคนทำงานในช่วงต้น เติบโตมาพร้อมกับการพัฒนาของออนไลน์และเทคโนโลยี มีความคิดเป็นของตัวเอง ติดตามเทคโนโลยีใหม่ๆอยู่เสมอ สนใจการดูแลสุขภาพ ต้องการความสำเร็จอย่างรวดเร็ว คิดนอกกรอบ สนใจด้านการลงทุนและเข้าถึงสื่อออนไลน์ได้มากที่สุด ชอบใช้เวลาพบปะเพื่อนฝูง ชอบออกไปทานอาหารนอกบ้าน ให้ความสำคัญกับสังคม ดังนั้น การตัดสินใจจะซื้ออะไร หรือจะลงทุนอะไรนั้น ต้องถามความคิดเห็นเพื่อนก่อนเสมอ โดยส่วนใหญ่จะเชื่อในคำแนะนำจากเพื่อนๆ ถ้ายังไม่แน่ใจ ก็จะหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อความมั่นใจในการตัดสินใจของตนเองเพิ่มเข้าไปอีก 

เทคนิควางแผนภาษีสำหรับชาว Millennial

          สำหรับชาว Millennial ที่อยู่ในช่วงเริ่มต้นการทำงาน ที่สนใจด้านการลงทุนเพิ่มจากการทำงานประจำ มีรายได้จากการ “ลงแรงทำงาน” และมีรายได้จากการ “ลงทุน ให้เงินทำงานแทนเรา” ลองสำรวจดูว่ามีรายได้ที่เสีย “ภาษีหัก ณ ที่จ่าย” ที่เป็นรายได้จากการออมเงินหรือลงทุนบ้างหรือไม่ เพราะเราสามารถบริหารจัดการภาษีด้วย 3 เทคนิควางแผนภาษีดังนี้

          1. กรณีที่มีรายได้จาก ดอกเบี้ยเงินฝากประจำ ดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลต่างๆที่ถูกหักภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% และเรามีฐานภาษีที่ต่ำอยู่ในช่วงที่ไม่เสียภาษีหรือฐานภาษีไม่เกิน 10% มีรายได้สุทธิน้อยกว่า 500,000 บาท แนะนำให้ยื่นรวมเงินได้เพื่อขอคืนภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% และเสียภาษีตามฐานปกติของเราได้ ตัวอย่างเช่น เราเสียฐานภาษี 5% แต่ถูกหักภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% เราสามารถขอคืนภาษีที่หักเกิน 10% คืนมาได้ 
.
  2. กรณีที่มีการลงทุนในกองทุนหุ้นที่มีการจ่ายเงินปันผล ลองสำรวจดูว่ามีการหักภาษี ณ ที่จ่ายหรือไม่ เงินปันผลที่ถูกหัก ณ.ที่จ่าย 10% หากเราไม่เสียภาษีเลยหรือเสียในฐาน 5% มีรายได้สุทธิน้อยกว่า 300,000 บาท แนะนำให้ยื่นรวมเงินได้เพื่อขอคืนภาษีหัก ณ. ที่จ่ายได้ 10% เราสามารถขอคืนภาษีที่หักเกิน 5% คืนมาได้

  3. กรณีที่มีการลงทุนหุ้นสามัญที่จดทะเบียนและได้รับเงินปันผล การวางแผนภาษีโดยการขอคืนภาษีเงินปันผล (เครดิตภาษีเงินปันผล) ที่กิจการถูกหักซ้ำซ้อนในรูปแบบนิติบุคคลและการจ่ายเงินปันผลของบุคคลธรรมดา โดยปกติกำไรของบริษัทจะถูกหัก ณ ที่จ่ายไปก่อนนำมาจ่ายเงินปันผล ยกตัวอย่างเช่น บริษัท A ได้กำไร 100 บาท ต้องเสียภาษีนิติบุคคล 20 บาท คงเหลือกำไรเพื่อจ่ายเงินปันผล 80 บาท หากบริษัทต้องการจ่ายเงินปันผลแก่บุคคลธรรมดาจะต้องถูกหัก ณ ที่จ่ายอีก 10% เป็นเงิน 8 บาท  คงเหลือจ่ายเงินปันผลได้เพียง 72 บาท จากกำไร 100 บาท สำหรับภาษี​นิติบุคคลและบุคคลธรรมดาถูกหัก 28 บาท ที่ถูกหักซ้ำซ้อนกัน เราสามารถขอคืนได้ และเสียภาษีตามฐานภาษีของเราเอง ดังนั้น สำหรับผู้มีเงินได้เสียภาษีในอัตราที่ต่ำกว่าภาษีนิติบุคคล (20%) แนะนำให้ใช้สิทธิขอคืนภาษีเงินปันผล

          ทั้งนี้ ในปี 62 มีเรื่องของมาตรการลดภาษีที่น่าสนใจ ดังนี้

          1. ค่าท่องเที่ยวไทย ทั้งเมืองหลักและเมืองรองตั้งแต่ 30 เม.ย.-30 มิ.ย. 62 ลดหย่อนภาษีท่องเที่ยวไม่เกิน 2 หมื่นบาท  สำหรับค่าแพคเกจทัวร์ ค่าที่พักในโรงแรม รีสอร์ท หรือโฮมสเตย์ โดยไม่รวมถึงค่ารถ ค่าน้ำมัน ค่าเครื่องบิน เที่ยวในเมืองรอง 55 จังหวัด ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 20,000 บาท แต่ถ้าเที่ยวในเมืองหลักลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท ทั้งนี้ เมื่อรวมใช้สิทธิทั้งจังหวัดรองและจังหวัดหลักต้องไม่เกิน 2 หมื่นบาท 

          2. ค่าลดหย่อนเพื่อการใช้จ่าย แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มที่คล้ายกัน ได้แก่ 

               2.1.ค่าลดหย่อนซื้อสินค้า (OTOP) ที่ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชน ใช้สิทธิได้ตั้งแต่ 30 เม.ย.-30 มิ.ย. 62 

               2.2 ค่าลดหย่อนซื้อสินค้าเพื่อการศึกษา และอุปกรณ์เกี่ยวกับการกีฬา เช่น อุปกรณ์เครื่องเขียน ชุดนักเรียน นักศึกษา แต่ไม่รวมถึงคอมพิวเตอร์ ชุดออกกำลังกาย รวมถึงเสื้อผ้า รองเท้า ลูกฟุตบอล ไม้เทนนิส ไม้แบด เป็นต้น โดยซื้อจากผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและได้รับใบกำกับภาษี ใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม – 30 มิถุนายน 2562

               2.3 ค่าซื้อหนังสือทุกประเภท และ E-book ที่จ่ายให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น โดยสิทธิลดหย่อนของกลุ่มนี้นานกว่ากลุ่มอื่น สามารถใช้สิทธิได้ตั้งแต่ 1 มกราคม - 31 ธันวาคม 2562 ครับ โดยทั้ง 3 กลุ่มนี้ได้นำมาลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกินกลุ่มละ 15,000 บาท

          3. ซื้อบ้านหรือคอนโดมิเนียมเป็นบ้านหลังแรก มูลค่าไม่เกิน 5 ล้านบาท  สามารถใช้สิทธิ์หักลดหย่อนภาษีได้ทันที 200,000 บาท เงื่อนไข คือต้องมีการโอนกรรมสิทธิ์ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 เมษายน - 31 ธันวาคม 2562 และผู้ซื้อต้องถือครองกรรมสิทธิ์ติดต่อกันอย่างน้อย 5 ปี นับตั้งแต่วันที่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ 

          นอกเหนือจากการขอคืนภาษีหัก ณ ที่จ่ายแล้ว การใช้สิทธิลดหย่อนให้เต็มที่แล้ว การลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษีอย่างกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่ใช้สิทธิลดหย่อนได้ในปี 62 เป็นปีสุดท้ายในปีนี้ ก็เป็นอีกตัวเลือกที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ สำหรับผู้ที่มีรายได้เยอะ รับความเสี่ยงได้สูงและต้องเสียภาษีฐานสูงๆ ครับ 

          อย่างไรก็ดี การวางแผนภาษีในช่วงต้นของวัยทำงานควรมองให้รอบด้าน ไม่เน้นเรื่องการลงทุนเพื่อลดภาษีเพียงอย่างเดียว เพราะอนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน นอกจากเรื่องการลงทุนและการวางแผนภาษีแล้ว ควรมองด้านการป้องกันความเสี่ยงและการวางแผนเกษียณเพื่ออนาคตไปพร้อมๆกัน ซึ่งเงินลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ที่ไว้ออมเงินเพื่อเกษียณ และการป้องกันความเสี่ยงด้วยการทำประกันชีวิต ประกันสุขภาพและประกันบำนาญก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจนำมาลดหย่อนภาษีได้ด้วย เพื่อจะได้มีความมั่งคั่งและความมั่นคงควบคู่ไปด้วยกันครับ



ให้คะแนนบทความ

คนอง ศรีพิบูลพานิชย์ CFP®

ฝ่ายพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้า ธนาคารกสิกรไทย