18 ธ.ค. 61

เจาะข้อดีของการลงทุน LTF แบบ Passive (Review KS50LTF)

คะแนนเฉลี่ย

ภาษี

​​​​​เจาะข้อดีของการลงทุน LTF แบบ Passive (Review KS50LTF) 

​​​​          เหลืออีกเพียงแค่ไม่กี่วันก็ใกล้จะหมดปี 2561 แล้ว หลายๆ คนกำลังวางแผนซื้อกองทุนรวมเพื่อลดหย่อนภาษี ซึ่งกองทุนรวมลดหย่อนภาษีที่ได้รับความนิยมมากคงหนีไม่พ้น กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ช่วงเวลานี้หลายๆ คนอาจจะเตรียมเงินลงทุนไว้พร้อมแล้ว แต่ปัญหาคือ ไม่รู้จะเลือกกองทุน LTF กองไหนดี เพราะแต่ละกองทุนมีนโยบายการเลือกหุ้นที่แตกต่างกัน แล้ว LTF แบบไหนที่เหมาะกับตัวเรา วันนี้ K-Expert จะมาแนะนำกองทุนรวม LTF แบบ Passive ที่เน้นลงทุนในบริษัทชั้นนำของประเทศไทย มีนโยบายการลงทุนที่เข้าใจง่าย และที่สำคัญ ค่าธรรมเนียมไม่​แพงมาฝากครับ​


          ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกองทุนรวมแบบ Passive กันก่อน ซึ่งกองทุนแบบที่ว่าเป็นกองทุนที่ใช้กลยุทธ์การลงทุนเชิงรับที่พยายามบริหารให้ผลตอบแทนของกองทุนใกล้เคียงกับดัชนีให้มากที่สุด ซึ่งดัชนีที่ว่าสำหรับหุ้นไทยแล้วส่วนใหญ่คือดัชนี SET50 ที่ลงทุนในบริษัทที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดที่ใหญ่ที่สุด 50 ตัวแรกของประเทศไทย โดยมากมักเป็นหุ้นขนาดใหญ่ มีพื้นฐานปัจจัยดี และมีความมั่นคง ผู้อ่านหลายๆ ท่านคงจะเคยได้ยินชื่อเสียงของบริษัทขนาดใหญ่เหล่านี้ บางคนอาจจะใช้สินค้าและบริการเป็นประจำ ทำให้สามารถเข้าใจในธุรกิจของบริษัทขนาดใหญ่เหล่านี้ได้ไม่ยาก สำหรับกองทุน LTF ของ บลจ.กสิกรไทย ปัจจุบันมีอยู่ 8 กองทุน โดยมีเพียงหนึ่งกองทุนเท่านั้นที่เป็นแบบ Passive นั่นคือ กองทุนเปิดเค เซ็ท 50 หุ้นระยะยาว (KS50LTF) ซึ่งจุดเด่นหลักๆ ของกองทุนแบบนี้ คือ


I : รูปแบบการลงทุน 
          จุดเด่นหนึ่งที่น่าสนใจของกองทุนแบบ Passive คือ มีการกระจายความเสี่ยงค่อนข้างดี เนื่องจากมีการกระจายเงินลงทุนในหุ้นประมาณ 50 ตัว ทำให้ลงทุนแทบจะครบทุกหมวดอุตสาหกรรมของดัชนี โดยจะเห็นตัวอย่างได้จากกลุ่มอุตสาหกรรมและหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรกของกองทุน KS50LTF จากเอกสารหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญหรือที่มักเรียกกันว่า Fund Fact Sheet ตามภาพด้านล่าง (ข้อมูล ณ 30 พ.ย. 61)




II : ค่าธรรมเนียม 
          โดยทั่วไปมีการคิดค่าธรรมเนียมในการจัดการและค่าธรรมเนียมในการซื้อขายที่ต่ำ เพราะกองทุนลงทุนในหุ้นตามดัชนี โดยกองทุนจะลงทุนตามสัดส่วนของหุ้นต่างๆ ใกล้เคียงกับส่วนประกอบของดัชนี และไม่จำเป็นต้องทำรายการซื้อขายหุ้นบ่อยๆ ทำให้ต้นทุนของกองทุนแบบนี้ไม่สูงนัก ส่งผลให้ค่าธรรมเนียมต่ำกว่ากองทุนแบบอื่น ยกตัวอย่างเช่น กองทุน  KS50LTF ที่มีค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่กองทุนเรียกเก็บรวม 0.89% ของมูลค่า NAV ต่อปี (ข้อมูลจาก Fund Fact Sheet ณ 30 พ.ย. 61) ซึ่งถือว่ามีค่าธรรมเนียมบริหารการจัดการที่ถูกกว่ากองทุน LTF แบบ Active ทั่วไป 



​          ดังนั้น กองทุนแบบ Passive จึงถือว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ตอบโจทย์สำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในกองทุน LTF ที่ลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ล้อไปกับพอร์ตของดัชนี SET50 ซึ่งมีนโยบายการลงทุนที่เข้าใจง่ายและกระจายความเสี่ยงที่ดี และมีค่าธรรมเนียมบริหารการจัดการที่ถูกกว่ากองทุน LTF แบบ Active ทั่วไป อย่างไรก็ตาม นักลงทุนควรมีเวลาลงทุนอย่างน้อย 7 ปีปฏิทิน และไม่ต้องการเงินปันผล รวมถึงสามารถรับความผันผวนของราคาหุ้นในพอร์ตการลงทุน ซึ่งอาจจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นหรือลดลงจนต่ำกว่ามูลค่าที่ลงทุนและทำให้ขาดทุนได้  

          คำเตือน: การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง ควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีในคู่มือการลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุน / ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวม มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต​​​

บทความที่เกี่ยวข้อง:

​Workshop ที่เกี่ยวข้อง: 
- LTF จัดการดี มีแต่คุ้ม 


ให้คะแนนบทความ

ฝ่ายพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้า

ธนาคารกสิกรไทย