12 ธ.ค. 61

Update สิทธิลดหย่อนภาษีในปี 2561

คะแนนเฉลี่ย

ภาษี

​​​​​​​​​Update สิทธิลดหย่อนภาษีในปี 2561

​​​​​          ช่วงปลายปี  สำหรับมนุษย์เงินเดือนทั่วไป คงไม่มีเรื่องไหนที่จะฮอตฮิตไปกว่าการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี  ซึ่งนอกจากมาตรการภาษีที่เปลี่ยนแปลงในปี 2560 แล้ว  ในปี 2561 ยังมีมาตรการลดหย่อนภาษีเพิ่มเข้ามาอีกหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการมีบุตร เงินบริจาคที่สามารถหักได้ 2 เท่าของเงินบริจาคจริง หรือ สิทธิลดหย่อนภาษีเฉพาะกิจปี 2561-2562   ซึ่งถ้าเราทราบว่ามีค่าใช้จ่ายหรือสิทธิอะไรที่ช่วยลดหย่อนภาษีได้  ก็จะช่วยให้เราเสียภาษีน้อยลง ทั้งนี้เพื่อมิให้พลาดกับสิทธิลดหย่อนภาษี  K-Expert ขอทบทวนมาตรการภาษีที่เปลี่ยนแปลงในปี 2560  พร้อมทั้งupdate สิทธิลดหย่อนภาษีที่เพิ่มขึ้นในปี 2561 มาฝากกันค่ะ


มาตรการภาษีที่เปลี่ยนแปลงในปี 2560

  
          นอกจากมาตรการภาษีที่เปลี่ยนแปลงในปี 2560 ที่ช่วยลดเงินได้สุทธิแล้ว ยังมีสิทธิลดหย่อนภาษีอื่น ๆ ที่มีอยู่เดิม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา-คนพิการหรือทุพพลภาพ, ประกันชีวิต-สุขภาพ, กองทุน LTF-RMF, ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อบ้าน รวมถึงเงินบริจาค  และสิทธิลดหย่อนที่เพิ่มขึ้นในปี 2561 ซึ่งได้แก่ 

สิทธิหย่อนภาษีที่เพิ่มขึ้นในปี 2561            
​​ 
มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการมีบุตร
          1. ค่าลดหย่อนฝากครรภ์และคลอดบุตร ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 60,000 บาท โดยมีเงื่อนไขดังนี้
               • ต้​องจ่ายเป็น “ค่าฝากครรภ์” และ “ค่าคลอดบุตร”
               • จำนวนเงินสูงสุดต่อครรภ์ คือ 60,000 บาท
               • ถ้าจ่ายสำหรับการคลอดบุตรคนเดิม แต่จ่ายมากกว่า 1 ปี ให้ลดหย่อนตามปีที่ใช้ แต่รวมกันต้องไม่เกิน 60,000 บาท
               • สิทธิลดหย่อนภาษีดังกล่าว หากใช้สิทธิเบิกค่าคลอดบุตรจากสวัสดิการอื่น จะสามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้แค่ส่วนที่ยังไม่เกิน 60,000 บาท
               • ใช้สิทธิได้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป​ 
​          2. ค่าลดหย่อนสำหรับบุตรคนที่ 2 เพิ่มอีก 30,000 บาทต่อคน รวมเป็นค่าลดหย่อนสำหรับบุตรคนที่ 2 เป็น 60,000 บาท  สำหรับบุตรชอบด้วยกฎหมาย (ไม่รวมบุตรบุญธรรม) ตั้งแต่คนที่สองเป็นต้นไป ที่เกิดในหรือหลังปีพ.ศ. 2561  โดยในการนับลำดับบุตรให้นับลำดับของบุตรทุกคนไม่ว่าจะมีชีวิตอยู่หรือไม่ก็ตาม​

มาตรการเงินบริจาค เมื่อรวมกับเงินบริจาคอื่นๆ แล้ว ต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้พึงประเมินหลังหักค่าใช้จ่าย และหักลดหย่อนอื่น ๆ​
​          1. เงินบริจาคให้แก่สถานพยาบาลของรัฐ  สามารถหักลดหย่อนได้ 2 เท่าของจำนวนเงินที่บริจาค โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อสถานพยาบาลของรัฐ ที่เข้าข่ายลดหย่อนได้ที่เวปไซด์กรมสรรพากร​
          2. เงินบริจาคเข้ากองทุนวิจัยและนวัตกรรม 4 กองทุน  ประกอบด้วย กองทุนเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ฯ, กองทุนสนับสนุนการวิจัย, กองทุนเพื่อการพัฒนาระบบมาตรวิทยา และกองทุนเพื่อการพัฒนาระบบสาธารณสุข  สามารถนำค่าใช้จ่ายหักลดหย่อนภาษีได้  2 เท่า
        ​  3. เงินบริจาคสถาบันการศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ ซึ่งได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการพัฒนาการจัดการศึกษาโดยสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ (คพอต) ว่าเป็นสถาบันการศึกษาที่มีศักยภาพสูง  ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสถาบันการศึกษาที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ ECC  สามารถนำค่าใช้จ่ายมาหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของจำนวนเงินที่บริจาค​​
          4. เงินบริจาคช่วยเหลือเหตุอุทกภัยในเมืองไทย และประเทศลาวในช่วงปี 2561  สามารถนำเงินบริจาคมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้เท่ากับจำนวนเงินที่บริจาคจริง  โดยต้องเป็นการบริจาคให้กับส่วนราชการตามโครงการของทางราชการ หรือบริจาคผ่านบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่นที่ได้แจ้งชื่อต่อกรมสรรพากร  เพื่อเป็นสื่อกลางในการเป็นตัวแทนรับบริจาค​

​เงินลงทุนในธุรกิจ Startup ไม่เกิน 100,​000 บาท  เป็นการสนับสนุนสำหรับธุรกิจ Startup  โดยสิทธิลดหย่อนภาษีนี้จะเริ่มต้นตั้งแต่ 1 มกราคม 2561-31 ธันวาคม 2562  หากมีการเข้าไปลงทุนปีไหน ก็สามารถใช้สิทธิในปีนั้น ๆ ได้​

มาตรการภาษีท่องเที่ยวเมืองรอง ลดหย่อนได้ตามจริง ไม่เกิน 15,000 บาท  โดยต้องเป็นการเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดเมืองรอง 55 จังหวัดในช่วงวันที่ 1 มกราคม – 31 ​ธันวาคม 2561  และมีเงื่อนไขเป็นค่าที่พักในโรงแรม-โฮมสเตย์ที่จดทะเบียนหรือผ่านการรับรอง  หรือค่าใช้จ่ายทัวร์-มัคคุเทศก์ที่ประกอบธุรกิจตามกฎหมาย​

มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคให้แก่พรรคการเมือง  โดยการบริจาคเงิน หรือให้การสนับสนุนเงินหรือทรัพย์สิน ในการจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรคการเมือง  สามารถนำไปหักลดหย่อนได้ตามที่บริจาค แต่รวมกันแล้วไม่เกิน 10,000 บาท  เริ่มปีภาษี 2561 เป็นต้นไป​

มาตรการช้อปช่วยชาติ โดยกำหนดชนิดสินค้าที่สามารถนำรายจ่ายมาหักลดหย่อนภาษีได้จำนวน 3 ประเภทสินค้า ได้แก่ 
          1) ยางล้อรถยนต์ ยางล้อรถจักรยานยนต์ ยางล้อรถจักรยาน ที่ซื้อจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งได้ซื้อยางล้อดังกล่าวจากผู้ผลิตที่ซื้อวัตถุดิบยางจากการยางแห่งประเทศไทย  โดยผู้เสียภาษีต้องมีหลักฐานเป็นใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป และคูปองแสดงการซื้อยางจากการยางแห่งประเทศไทย  
          2) การซื้อหนังสือ ทั้งหนังสือที่เป็นสิ่งพิมพ์ และ E-Book  แต่ไม่รวมถึงนิตยสารและหนังสือพิมพ์  ต้องมีหลักฐานการซื้อเป็นใบเสร็จรับเงินหรือใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป และ            
          3) สินค้าโอท้อป ที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชน  

โดยต้องมีหลักฐานการซื้อสินค้าเป็นใบเสร็จรับเงินหรือใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป และต้องระบุว่าเป็นรายการซื้อสินค้าโอท้อป  ทั้งนี้มาตรการช้อปช่วยชาติจะเริ่มตั้งแต่ 15 ธ.ค. 2561-16 ม.ค. 2562  และกำหนดให้สามารถนำค่าใช้จ่ายจากทั้ง 3 รายการมาหักลดหย่อนภาษีได้ในวงเงินไม่เกิน 15,000 บาท ส่วนการยื่นหักลดหย่อนภาษีนั้น อาจจะมีการเหลื่อมปี เช่น ถ้าใช้จ่ายภายในปี 2561 ไม่ครบวงเงิน 15,000 บาท และมีการใช้ต่ออีกในปี 2562 ตามวันที่กำหนด  ส่วนที่ใช้ต่อในปี 2562 จะต้องนำไปยื่นภาษีในช่วงต้นปี 2563​

ทั้งนี้  เพื่อช่วยให้เสียภาษีน้อยลง  ควรใช้สิทธิลดหย่อนภาษีอย่างครบถ้วน  นอกจากนี้ผู้เสียภาษีต้องมีการ update มาตรการทางภาษีและสิทธิลดหย่อนภาษีที่เปลี่ยนแปลงอย่างสม่ำเสมอ    และก่อนตัดสินใจใช้สิทธิลดหย่อนภาษี  ควรจะต้องมีการคำนวณเสียภาษี จะได้รู้ว่าควรจะใช้สิทธิลดหย่อนเพิ่มเป็นเงินเท่าไร เพื่อให้คุ้มค่ามากที่สุด  โดยเฉพาะการเที่ยวเมืองรอง หรือช้อปช่วยชาติ  อยากให้พิจารณาให้รอบด้าน ถึงความจำเป็นในการใช้จ่ายและกำลังซื้อของตัวเอง  โดยการเที่ยวหรือช้อปแต่พอดี  เพื่อป้องกันการเป็นหนี้ที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้จ่ายมากเกินไปนั่นเอง ​
 
บทความที่เกี่ยวข้อง:  

​Workshop ที่เกี่ยวข้อง : 
- 5 กลยุทธ์พิชิตภาษี


ให้คะแนนบทความ

อิสราภรณ์ บุรณิกานนท์ CFP®

ฝ่ายพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้า ธนาคารกสิกรไทย