19 มี.ค. 62

โปะหนี้บ้าน หรือลงทุน LTF แบบไหนดีกว่ากัน

คะแนนเฉลี่ย

ออมและลงทุน

​​​​​​​​​​​โปะหนี้บ้าน หรือลงทุน LTF แบบไหนดีกว่ากัน​​​


          จากประสบการณ์การพูดคุยกับลูกค้าหลายๆ ท่านที่เลือกลงทุนในกองทุน LTF อย่างต่อเนื่อง การเลือกลงทุน LTF ในครั้งแรก อาจเลือกด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน เช่น อยากลดหย่อนภาษี อยากได้ผลตอบแทนสูง เพื่อนแนะนำให้ซื้อ เพื่อนเคยลงทุนแล้วได้ผลตอบแทนดี หรือเพื่อนซื้อมายังไม่เคยขาดทุนเลย เป็นต้น โดยผู้ที่เคยลงทุน LTF มีจำนวนไม่น้อยที่ยังมีภาระหนี้บ้านคงค้างอยู่กับสถาบันการเงิน จึงมีคำถามยอดฮิตที่มักจะถามต่อมาก็คือ ควรที่จะนำเงินไปโปะหนี้บ้านที่ต้องเสียดอกเบี้ย หรือจะนำมาลงทุน LTF ก่อนดีกว่ากัน คำถามที่หลายๆ คนมีข้อสงสัย และมีมุมมองที่แตกต่างกัน K-Expert มีแนวทางในการพิจารณามาฝากกันดังนี้


          • การเลือกที่จะโปะหนี้ จะช่วยให้ปิดหนี้ได้เร็วยิ่งขึ้น รู้จำนวนดอกเบี้ยที่สามารถประหยัดได้เป็นจำนวนที่แน่นอน โดยการโปะหนี้เพิ่ม 1% จากยอดเงินกู้ในทุกๆ ปี เช่น จ่าย​เพิ่มปีละ 30,000 บาท หรือ 2,500 บาทต่อเดือน จะช่วยปิดหนี้บ้านได้เร็วกว่ากำหนดถึง 43 เดือน หรือเกือบๆ 4 ปี และประหยัดดอกเบี้ยไปได้ถึง 437,589 บาท สำหรับยอดเงินกู้ 3,000,000 บาท ระยะเวลากู้ 20 ปี ซึ่งจ่ายเพิ่มจากค่าผ่อนปกติเดือนละ 21,500 บาท เป็น 24,000 บาท 
          • การลงทุนในกองทุน LTF นอกจากจะช่วยลดหย่อนภาษีเมื่อลงทุนถูกต้องตามเงื่อนไขแล้ว เงินที่ครบกำหนดก็สามารถนำไปใช้เพื่อเป้าหมายการเงินเรื่องอื่นๆ ได้ ทั้งนี้ การลงทุนยังมีโอกาสได้รับเงินปันผลระหว่างที่ถือและกำไรจากมูลค่าหน่วยลงทุนที่มีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยผลตอบแทนการลงทุนดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยย้อนหลัง 5 ปี ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 8.59% (ณ 31 ม.ค. 62) ​หากเลือกนำเงิน​ก้อนจำนวนเดียวกันที่เอาไปโปะหนี้ 30,000 บาท มาลงทุนในกองทุน LTF ที่มีโอกาสได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนรวมเงินปันผลเฉลี่ยประมาณ 8% ต่อปี ทุกๆ ปี เป็นระยะเวลา 16 ปี เงินก้อนนี้ก็จะโตถึง 909,728 บาท ซึ่งสูงกว่าดอกเบี้ยที่ประหยัดได้จากการโปะหนี้จำนวน 437,589 บาท ถึง 472,139 บาทเลยทีเดียว อย่างไรก็ดี ผู้ลงทุนก็ต้องยอมรับว่าการลงทุนกองทุน LTF มีความเสี่ยงสูง มีโอกาสที่จะไม่ได้รับผลตอบแทนที่เท่ากันในทุกๆ ปี ซึ่งในบางปีก็มีโอกาสที่จะขาดทุนได้สูงด้วยเช่นเดียวกัน

ปัจจัยในการตัดสินใจเลือกโปะบ้านหรือลงทุน LTF ลองมาดูกันว่ามีปัจจัยอะไรบ้าง​
          1.  ต้องการใช้เงินหลังจากถือลงทุนครบ 7 ปีหรือไม่ 
               หากไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงิน การเลือกที่จะโปะหนี้ก็จะช่วยลดดอกเบี้ยจ่ายลงได้ แต่หากเรามีความต้องการใช้จ่ายเงินส่วนนี้ในอนาคต การเลือกลงทุนในกองทุน LTF นอกจากจะช่วยลดหย่อนภาษีแล้ว ยังสามารถขายคืนแล้วนำเงินมาใช้จ่ายได้เมื่อลงทุนครบตามเงื่อนไขที่กำหนดแล้ว แต่ก่อนที่จะเริ่มต้นลงทุน แนะนำให้ศึกษารายละเอียดกองทุน เงื่อนไขการลงทุนและถือครองกองทุน LTF เพิ่มเติม รวมถึงต้องมั่นใจว่าสามารถทำได้ครบตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้

          2. ความเสี่ยงจากการลงทุนที่รับได้ และผลตอบแทนจากการลงทุนในช่วงที่ผ่านมา 
              การลงทุนในกองทุน LTF ส่วนใหญ่จะลงทุนในหุ้นที่มีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูงหากลงทุนได้ระยะยาว แต่ในบางปีอาจขาดทุนได้เกือบๆ ครึ่งหนึ่งของเงินที่ลงทุนได้เลย อย่างเช่นช่วงที่เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 51 หุ้นไทยให้ผลตอบแทนติดลบถึง  -42.62% เลยทีเดียว (ดัชนีต้นปีอยู่ที่ 784.23 จุด สิ้นปีอยู่ที่ 449.96 จุด) แต่หลังจากนั้น 10 ปีต่อมา ตั้งแต่ปี 52 ถึงปี 61 การลงทุนหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีสูงถึง 18.39% ต่อปี และในปี 61 ที่ผ่านมาก็เป็นอีกปีที่ผลตอบแทนติดลบถึง -8.08% (ผลการดำเนินงานย้อนหลัง 1 ปี ณ 28 ธ.ค. 61) ดังนั้น ก่อนที่จะลงทุนในกองทุน LTF ก็ควรรู้ว่า เราสามารถรับความเสี่ยงจากการขาดทุนได้มากน้อยแค่ไหน หากเงินลงทุนหายไปเกือบครึ่งหนึ่งรับได้ไหม โดยการลงทุนในกองทุน LTF ไม่อยากให้เลือกลงทุนโดยมองที่ผลตอบแทนที่จะได้รับเพียงอย่างเดียว คงต้องเผื่อใจไว้เวลาที่ขาดทุนด้วย

          3. เปรียบเทียบดอกเบี้ยบ้านที่ต้องจ่ายกับฐานภาษีปัจจุบัน 
               ในส่วนของภาษีที่ประหยัดได้จากการลดหย่อนจะต้องพิจารณาร่วมกับระยะเวลาการลงทุน โดยเงื่อนไขการถือครองกองทุน LTF อย่างน้อย 7 ปีปฏิทิน เช่น การลงทุนในปี 62 จะสามารถขายคืนได้ในต้นปี 68 เป็นต้นไป หากเลือกลงทุนในช่วงปลายปี เท่ากับมีระยะเวลาลงทุนประมาณ 5 ปีกับอีก 2 เดือน หากการกู้บ้านอยู่ในช่วงดอกเบี้ยต่ำ เช่น ในช่วงเริ่มกู้บ้านใหม่ๆ 3 ปีแรก เป็นช่วงที่เสียดอกเบี้ยต่ำ ประมาณ 3%-4% ต่อปี เทียบกับผลตอบแทนที่ได้จากการประหยัดภาษี ยกตัวอย่างเช่น หากเรามีฐานภาษี 25% เฉลี่ยแล้วสามารถประหยัดภาษีได้ประมาณปีละ 5% ซึ่งประหยัดภาษีได้มากกว่าดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายต่อปี โดยสามารถนำเงินส่วนที่ประหยัดภาษีได้ไปโปะบ้านเพิ่มได้ แต่หากอยู่ในช่วงเสียอัตราดอกเบี้ยสูง เช่น เสียดอกเบี้ยปีละ 6% ขึ้นไป เทียบกับฐานภาษีที่ประหยัดได้ปีละ 5% ดูแล้วอาจไม่คุ้มที่จะลงทุนในกองทุน LTF เป็นต้น

          การเลือกที่จะโปะบ้านหรือลงทุนอาจมีปัจจัยอื่นที่นอกเหนือการควบคุม อย่างเรื่องผลตอบแทนจากการลงทุนที่เรา ไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ สำหรับผู้ที่เคยลงทุนในกองทุน LTF มาบ้างแล้ว หรืออาจยังไม่เคยลงทุนในกองทุน LTF มาก่อน แต่อาจเคยลงทุนในหุ้นรายตัว หรือกองทุนรวมหุ้นบ้าง แนะนำให้ลองกลับมาทบทวนผลตอบแทนจากการลงทุนในรอบปีที่ผ่านมาว่าได้รับผลตอบแทนมากกว่าต้นทุนดอกเบี้ยบ้านที่ต้องจ่ายหรือไม่ เพื่อเป็นแนวทางในการช่วยตัดสินใจ​

          สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยลงทุน LTF กองทุนรวมหุ้นหรือหุ้นรายตัวมาก่อน กรณีที่รับความผันผวนจากการลงทุนได้น้อย ไม่มั่นใจ ไม่มีเวลาศึกษาข้อมูลเรื่องการลงทุน แนะนำให้เลือกวิธีโปะบ้านก่อน แต่ถ้ามีความจำเป็นต้องใช้เงินหลังลงทุน 7 ปีปฏิทิน ฐานภาษีสูงอยู่ในช่วงตั้งแต่ 20% ขึ้นไป หรือมีรายได้สุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 7.5 แสน ขึ้นไป มั่นใจว่าสามารถสร้างผลตอบแทนและผลประโยชน์ทางภาษีจากการลงทุนใน LTF ได้มากกว่าดอกเบี้ยบ้านที่ต้องจ่าย จะเลือกลงทุน LTF ก่อน   ก็ได้ แต่หากฐานภาษีต่ำกว่า 20% ลงมา แล้วอยากลงทุน LTF ก็สามารถลงทุนได้ แต่เราต้องรับความเสี่ยงจากการลงทุนเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่ยังไม่เสียภาษี จะไม่แนะนำให้ลงทุนในกองทุน LTF เลย เพราะนอกจากจะไม่ได้ลดหย่อนภาษีแล้ว อาจต้องเสียภาษีเพิ่มด้วย กรณีที่ขายคืนตอนที่มีกำไรและมีรายได้เพิ่มอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี​

​          ส่วนใครที่ยังลังเล ไม่แน่ใจและไม่รู้จะเลือกแบบไหนดี จะแบ่งเงินครึ่งหนึ่งไปลงทุน LTF และอีกครึ่งหนึ่งนำไปโปะหนี้ก็ได้ แต่ก่อนที่จะโปะหนี้หรือลงทุน LTF อย่าลืมกันเงินไว้ใช้จ่ายเผื่อฉุกเฉินอย่างน้อย 6 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือนไว้ด้วยก็ดี เผื่อมีเหตุการณ์จำเป็นต้องใช้เงิน จะได้ไม่ต้องไปขายกองทุน LTF เพราะนอกจากต้องคืนสิทธิลดหย่อนทางภาษีที่ได้รับแล้ว ยังต้องจ่ายเบี้ยปรับจากการลงทุนแบบผิดเงื่อนไข 1.5% ต่อเดือน แถมกำไรที่เกิดขึ้นยังต้องเสียภาษีอีกด้วย​

เรื่องที่เกี่ยวข้อง :


ให้คะแนนบทความ

คนอง ศรีพิบูลพานิชย์ CFP®

ฝ่ายพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้า ธนาคารกสิกรไทย