13 พ.ย. 58

เทคนิคจัดพอร์ตง่ายๆ สำหรับนักลงทุนมือใหม่

คะแนนเฉลี่ย

ออมและลงทุน

​​​​เทคนิคจัดพอร์ตง่ายๆ สำหรับนักลงทุนมือใหม่


“กันเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินให้เพียงพอก่อนนำเงินไปจัดพอร์ตการลงทุนตามเป้าหมาย
หรือระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้”
– K-Expert -

          เมื่อพูดถึงคำว่า “พอร์ตการลงทุน” หลายๆ คนคงจะนึกถึงกราฟรูปวงกลมที่แบ่งเงินเป็นส่วนๆ เพื่อลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ แต่รู้มั้ยว่า เราควรจัดพอร์ตยังไงที่ทำให้เกิดประโยชน์กับตัวเรามากที่สุด โดย K-Expert ก็มีเทคนิคจัดพอร์ตมาฝาก ซึ่งมี 4 ขั้นตอนด้วยกัน มีอะไรบ้างนั้น ลองมาดูกันเลยค่ะ​

Step 1 จัดพอร์ตให้ดี อย่าลืมกันเงินเผื่อฉุกเฉิน
          ก่อนจะนำเงินลงทุนไปจัดพอร์ต ควรกัน “เงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน” ไว้สักก้อนหนึ่ง ทำไมถึงต้องมีเงินสำรองเก็บไว้ ก็เพราะว่าถ้าเราจำเป็นต้องใช้เงิน เช่น เจ็บป่วย ซ่อมรถ ซื้อเฟอร์นิเจอร์ใหม่ แต่เราเอาเงินทั้งหมดไปลงทุน เราอาจต้องขายสินทรัพย์ที่เราลงทุนไว้เพื่อเอาเงินมาใช้จ่าย เช่น ขายหุ้น ถ้าเป็นช่วงหุ้นขาลง เราอาจต้องขายแบบขาดทุน ทำให้กระทบกับแผนลงทุนที่เราตั้งใจไว้ก็ได้ โดยเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินนี้ ควรมีสัก 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน สามารถเก็บในเงินฝากออมทรัพย์ หรือกองทุนรวมความเสี่ยงต่ำอย่างกองทุนรวมตลาดเงิน เมื่อต้องใช้เงินจะได้เอามาใช้จ่ายได้ทันทีค่ะ

Step 2 เข้าใจตัวเองก่อนว่าจัดพอร์ตเพื่ออะไร
          จริงๆ แล้วการลงทุนไม่จำเป็นต้องจัดพอร์ตเสมอไป ถ้าเราไม่อยากรับความเสี่ยง คิดว่าฝากเงินอย่างเดียวก็บรรลุเป้าหมายได้ หรือต้องการผลตอบแทนไม่สูงมากประมาณ 1.5%-3% ต่อปี ก็สามารถออมในเงินฝากประจำปลอดภาษี 24 หรือ 36 เดือน หรือเลือกเป็นกองทุนรวมตลาดเงินก็ได้ค่ะ เช่น เก็บเงินไปเที่ยวในอีก 1 ปี ใช้เงิน 24,000 บาท ก็สามารถเก็บออมในบัญชีเงินฝากหรือกองทุนรวมตลาดเงินเดือนละ 2,000 บาท โดยไม่ต้องแบ่งเงินไปลงทุนในหุ้นค่ะ 
      แต่ถ้าอยากได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น ก็ต้องมาจัดพอร์ตกัน โดยพอร์ตของเราหน้าตาจะเป็นยังไง ก็ขึ้นอยู่กับ “ความสำคัญ” และ “ระยะเวลา” ของเป้าหมาย เช่น เก็บเงินเป็นค่าเรียนของลูกในอีก 10 ปี ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญ แต่มีระยะเวลาออมนาน ก็พอจะแบ่งเงินไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้น หรือกองทุนรวมหุ้น สัก 30-50% ของเงินลงทุน เพื่อสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้น ที่เหลือก็ลงทุนในตราสารหนี้หรือเงินฝาก แต่ถ้าเป็นเป้าหมายระยะยาว อย่างแผนเกษียณ มีเวลาเก็บออมเป็นสิบๆ ปี แบบนี้มีสัดส่วนของหุ้นหรือกองทุนรวมหุ้นมากหน่อยเกินครึ่งหนึ่งของพอร์ตก็สามารถทำได้ค่ะ

Step 3 จัดพอร์ตทั้งที ต้องแบ่งสัดส่วนเงินลงทุนให้เหมาะ
          สำหรับเป้าหมายลงทุนทั่วไปที่ไม่ได้มีข้อจำกัดเรื่องความสำคัญของเป้าหมายหรือระยะเวลาแล้วล่ะก็ การจัดพอร์ตให้ดีควรพิจารณา “ความเสี่ยงที่ยอมรับได้” โดย K-Expert ก็มีพอร์ตลงทุนมาแนะนำ 3 แบบให้เลือกลงทุน เรียกว่า K-Expert Standard Portfolio (การจัดสรรสินทรัพย์ลงทุนแบบพื้นฐาน) ซึ่งลงทุนในสินทรัพย์ 4 ประเภท ได้แก่ หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ ตราสารหนี้ไทย และตราสารหนี้ต่างประเทศ โดยพอร์ตที่ K-Expert แนะนำมีการลงทุนต่างประเทศด้วย เพราะเราไม่ควรลงทุนกระจุกอยู่แต่ในประเทศ เพื่อลดความเสี่ยงจากปัจจัยในประเทศ เช่น ภาวะเศรษฐกิจ การเมือง​

​ระดับความเสี่ยง
​หุ้นไทย
​หุ้นต่างประเทศ
​ตราสารหนี้ไทย 
​ตราสารหนี้ต่างประเทศ
​ต่ำ
​-
-​
​80%​​20%
​ปานกลาง
​20%
​10%
​50%
​20%​
​สูง
​40%
​15%​
​30%​
​15%​​

Step 4 ติดตามข่าวสาร ปรับพอร์ตลงทุนให้ทันสถานการณ์
          เมื่อเลือกได้แล้วว่าเราควรจัดสรรเงินลงทุนของตัวเองยังไงดี สิ่งที่เราควรทำเพิ่มเติมก็คือ กำหนดกรอบการลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภท เช่น รับความเสี่ยงได้สูง มีสัดส่วนหุ้นไทย 40% และกำหนดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นไทยให้อยู่ในช่วง ±10% ดังนั้น ถ้าหุ้นขึ้นจนทำให้หุ้นไทยในพอร์ตมีสัดส่วนสูงเกิน 50% (40% + 10%) ก็ควรขายหุ้นส่วนเกินออกไปให้สัดส่วนหุ้นไทยกลับมาอยู่ที่ 40% แล้วนำเงินที่ได้ไปลงทุนในตราสารหนี้แทน หรือในทางกลับกัน ถ้าหุ้นตกจนทำให้หุ้นไทยในพอร์ตมีสัดส่วนต่ำกว่า 30% (40% - 10%) ก็ต้องนำเงินไปซื้อหุ้นเพิ่ม อาจเป็นเงินทุนก้อนใหม่หรือขายตราสารหนี้ในพอร์ตมาซื้อก็ได้

          นอกจากนี้ หมั่นติดตามข่าวสารอยู่เสมอ ทั้งข่าวเศรษฐกิจ การเมือง ในและต่างประเทศ เพื่อปรับพอร์ตลงทุนของเราให้สอดคล้องกับสภาวะการลงทุน เช่น เศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัว ตลาดหุ้นสหรัฐก็มีแนวโน้มสดใส เราก็สามารถนำเงินไปลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐ เพื่อโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงขึ้น เป็นต้น

          เมื่อการติดตามพอร์ตลงทุนเป็นเรื่องสำคัญ K-Expert จึงได้คิดค้น K-Expert MyPort (ผู้ช่วยจัดการสินทรัพย์ออนไลน์) ที่เราสามารถรวมสินทรัพย์ทุกประเภทจากทุกสถาบันการเงินไว้ในที่เดียว ช่วยทำให้การติดตามพอร์ตลงทุนเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นค่ะ​


ให้คะแนนบทความ

ฝ่ายพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้า

ธนาคารกสิกรไทย