09 ก.ย. 63

วิธีสร้างสุข ณ จุดที่ยืนอยู่สำหรับคนทำงาน

คะแนนเฉลี่ย

ออมและลงทุน

​​​​​​​วิธีสร้างสุข ณ จุดที่ยืนอยู่สำหรับคนทำงาน


          ณ จุดที่ชีวิตดำเนินมาถึงช่วงวัย ที่เราเรียกว่าวัยทำงาน ต้องบอกเลยว่าเป็นช่วงชีวิตที่ทำงานได้แบบไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย สิ่งที่เป็นแรงผลักดันให้หลายคนเกิดพลังในการทำงาน เช่น อยากมีรายได้สูงๆ หวังความก้าวหน้า หรือบางคนรู้สึกว่าสนุก ท้าทายที่ได้ทำ ผู้เขียนเองก็เคยผ่านช่วงความรู้สึกนั้นมาแล้ว ลองมาดูซิว่า ในวัยทำงานมีใครเป็นแบบผู้เขียนบ้าง

          ถ้าย้อนภาพกลับไปในวันที่เริ่มก้าวสู่วัยทำงานอย่างเต็มตัว ถ้านึกไม่ออก ง่ายๆ เลยคืออายุจะเข้าใกล้เลข 3 ล่ะ ตอนนั้นมุ่งมั่นและทุ่มเทในการทำงานมาก ในสมองมีแต่เรื่องงาน คิดอย่างเดียวว่างานต้องสำเร็จและออกมาดี วิถีชีวิตจึงเริ่มต้นจากการไปทำงานแต่เช้ากลับดึก ดึกแค่ไหนนะเหรอ ก็กลับถึงบ้าน 4 ทุ่ม ไปถึงที่ทำงานตั้งแต่ 7 โมงเช้า เรียกได้ว่าที่ทำงานเป็นบ้านหลังที่ 2 และถ้าวันไหนกลับบ้านเร็ว อย่างเช่นถึงบ้านสัก 6 โมงเย็น ที่บ้านจะตกใจมากคิดว่าเราไม่สบายหรือเปล่าถึงกลับบ้านเร็ว เรื่องอาหารการกินไม่ต้อพูดถึงกลับดึกขนาดนี้ ร้านอาหารมื้อดึกที่พึ่งพาอยู่เสมอจะเป็นร้านสะดวกซื้อที่เปิดแบบ 24 ชั่วโมง แต่ก็มีมื้อพิเศษสังสรรค์ยามดึกกับทีมงานบ้างในเวลาที่ทำงานสำเร็จ ส่วนเรื่องออกกำลังกายหรือไปเที่ยวไหนลืมไปได้เลย เพราะวันหยุดคือวันพักผ่อนนอนให้เต็มทีเลยจ้า การใช้ชีวิตแบบนี้ผู้เขียนไม่เคยรู้สึกเลยว่าจะมีผลกระทบอะไรกับชีวิต คิดว่ามันเป็นเรื่องปกติ

          จนกระทั่งวันหนึ่ง เริ่มมีสัญญาณเตือนทางร่างกาย อยู่ๆ มีอาการปวดท้อง ซึ่งคิดว่าเป็นเรื่องปกติของผู้หญิงที่เกิดขึ้นเป็นกันประจำทุกเดือน ก็ไม่ได้สนใจอะไรทานยาแก้ปวดไปเดี๋ยวก็หายทำงานต่อได้สบายมาก เป็นแบบนี้มาหลายเดือน “แต่เดือนนี้ทำไมทานยาแก้ปวดไปแล้วไม่หายล่ะ” สุดท้ายตัดสินใจไปหาหมอ 

          ในวันที่ไปหาหมอได้คิวเป็นคนไข้คนสุดท้ายเพราะงานยุ่งมาก ได้เจอหมอทุ่มกว่าๆ  บรรยากาศดูวังเวงนิดๆ เพราะคนไข้เริ่มกลับหมดแล้ว พอเข้าไปหาหมอเล่าอาการให้ฟัง หมอคลำๆ ที่ท้องแล้วทำหน้าเครียดๆ เหมือนคิดอะไรอยู่ หมอหันไปถามพยาบาลว่า หมอเอ็กซเรย์ยังอยู่ไหม หมอบอกกับเราว่าขอเอ็กซเรย์ให้แน่ใจนะคะ มาถึงจุดนี้ตกใจระดับหนึ่ง!! คิดในใจว่าเอ็กซเรย์เลยหรอก็แค่ปวดท้องเองนะ แต่ตอนรู้ผลช็อกยิ่งกว่า หมอบอกว่าโรคที่เป็นต้องผ่าตัด ถ้าไม่ผ่าตัดจะเป็นอันตรายมาก “ผ่าตัดเลยหรอค่ะ!!!”   ตอนนั้นทำอะไรไม่ถูกเลย คุยกับหมอสักพัก ก็ออกมานั่งรอด้านนอก ด้วยบรรยากาศที่ไม่มีคนไข้ในแผนกนั้นเลยเพราะ 2 ทุ่มกว่าแล้ว มีแค่เรา หมอ พยาบาล หดหู่สุดๆ น้ำตาเริ่มซึม คิดไปต่างๆ นานา (ด้วยการผ่าตัดครั้งนี้มีผลกับการมีลูกในอนาคต) “ไม่นะฉันยังไม่ได้แต่งงานเลย ต้องมาโดนผ่าแบบนี้แล้วหรอ” “แล้วจะบอกพ่อแม่ยังไง เขาจะต้องเสียใจแน่ๆ”  และด้วยความที่ไม่กล้าบอกคนในครอบครัว ตัดสินใจโทรหาหัวหน้างาน เพราะคิดว่าคงไปทำงานไม่ได้อีกนานบอกหัวหน้าไว้หน่อยก็ดี พอได้คุยกับหัวหน้าเท่านั้นล่ะ ปล่อยโฮ ร้องไห้หนักมาก TT

         หลังจากได้ปลดปล่อยกับการร้องไห้ชุดใหญ่ไปแล้ว กลับบ้านมาบ้านเริ่มตั้งสติ ทบทวนสิ่งที่ผ่านมาและคิดได้ว่า “จะใช้ชีวิตทำงานหามรุ่งหามค่ำแบบนี้ต่อไม่ได้ เราต้องเปลี่ยน และทำให้ชีวิตดีขึ้นกว่านี้" แล้วมีอะไรบ้างล่ะที่ต้องเปลี่ยนมาให้ความสำคัญ มาดูกันเลยค่ะ


เงินที่หาได้ต้องใส่ใจ 

  ที่ผ่านมา : มีบัญชีอยู่เล่มเดียว คือ บัญชีเงินเดือน รู้แค่ว่าถ้าอยากเก็บเงินหรือได้ดอกเบี้ยมากกว่านี้ ต้องฝากเงินในบัญชีเงินฝากประจำเท่านั้น ส่วนเรื่องภาษีที่ตัวเองเสีย ไม่เคยคิดอะไรเลย รู้แค่ว่าเงินเดือนเข้าถูกหักภาษีไปทุกๆ เดือนก็จบ
          ปัจจุบัน : เริ่มมาทบทวนแล้วตกใจมาก “ทำงานเหนื่อยแทบตาย เงินเดือนหายไปไหน!!” เพราะภาษีที่หัก
ไปในแต่ละเดือน ที่ไม่รู้สึกอะไรในตอนแรก แต่พอรวมๆ ทั้งปีแล้ว เสียภาษีเท่ากับเงินเดือน 1 เดือนเลย ถ้าเปรียบเทียบง่ายๆ เหมือนทำงานไปฟรีๆ เดือนหนึ่ง ดังนั้นต้องจัดการและให้ความสำคัญค่ะ

          ผู้เขียนเริ่มศึกษาและพบทางเลือกในการลงทุนที่เหมาะกับคนไม่มีเคยเวลาอย่างเราๆ (ก็เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการทำงานนี่นะ) ด้วยการลงทุนในกองทุนรวม ที่มีผู้จัดการกองทุนที่มีความเชี่ยวชาญคอยดูแลบริหารเงินให้ และเลือกใช้บริการ K-Saving Plan ที่เป็นบริการหักบัญชีเงินฝากเพื่อนำเงินไปลงทุนอัตโนมัติทุกเดือน ส่วนกองทุนที่เลือกลงทุนควรเป็นกองทุนลดหย่อนภาษี เพราะอะไรนะหรอคะ “ก็เสียดายเงินเดือนที่หายไปไง” 

          ตัวอย่างเช่น เสียภาษีฐาน 20% หากลงทุนในกองทุนลดหย่อนภาษี 100,000 บาท ก็จะช่วยประหยัดภาษี หรือเหมือนได้เงินเดือนกลับคืนมา 20,000 บาทเลยทีเดียว ซึ่งปัจจุบันกองทุนที่สามารถนำมาใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ คือ กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF)  และ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)


สุขภาพกายต้องดูแลและเตรียมพร้อม 

  ที่ผ่านมา : อย่างที่เล่าไปตอนต้นเลยค่ะ วิถีชีวิตในช่วงนั้นกลับบ้านดึก ทานข้าวดึก เรื่องออกกำลังกายไม่ต้องพูดถึงไม่มีเวลาเลย นี่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ร่างกายอ่อนแอนำไปสู่โรคภัยแบบไม่คาดฝัน!!
  ปัจจุบัน : เมื่อเริ่มป่วยเลยคิดได้ สุขภาพสำคัญมากๆ รวมถึงค่ารักษาพยาบาลก็สำคัญไม่แพ้กัน ดังนั้นต้องมีการป้องกันและเตรียมพร้อมค่ะ

  ป้องกันด้วยการแบ่งเวลาออกกำลังกาย แบบง่ายๆ ที่บ้านสักครึ่งชั่วโมงพอให้ได้เหงื่อ เช่น การวิ่ง หรือเล่นฮูล่าฮูป (เลือกทำอันนี้เพราะง่ายที่สุดเลย) และที่สำคัญปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการรับประทานอาหาร ทานให้ตรงเวลาและเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ไม่ทำงานจนเพลินกลับบ้านดึกค่ะ

          เตรียมพร้อมค่ารักษาพยาบาล จากการป่วยครั้งนั้นต้องใช้เงินก้อนในการผ่าตัด หลังจากปรึกษาคุณหมอแล้วตัดสินใจผ่าตัดแบบส่องกล่องเพราะฟื้นตัวได้เร็วกว่า โดยค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 120,0000 บาท (โรงพยาบาลเอกชน)  ซึ่ง ณ ตอนนั้นผู้เขียนเองยังไม่มีประกันสุขภาพ เลยเริ่มกลับมาดูว่าจะใช้อะไรช่วยจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้บ้าง พบว่ามี
          - สวัสดิการที่ทำงาน เบิกได้แต่ไม่เต็ม
          - ประกันสังคม สามารถเบิกได้กรณีผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง  ถ้าใครอยากรู้สิทธิประโยชน์ในการรักษาของประกันสังคม ลองดูเพิ่มเติมจากเว็บไซต์ของประกันสังคมได้นะ
          - อีกทางเลือก คือการทำประกันสุขภาพ ช่วยได้ในกรณีที่สวัสดิการที่ทำงานไม่พอ หรืออยากได้รับการรักษาเฉพาะ เช่น ผ่าตัดส่องกล้อง หลังจากตอนนั้นก็มีคำถามในใจว่าเราป่วยเป็นโรคแล้วจะทำประกันได้หรือไม่ ซึ่งได้คำตอบมาว่าทำได้แต่จะไม่ครอบคลุมโรคที่เคยเป็น ดังนั้นหากใครยังมีสุขภาพแข็งแรง (ยังไม่ป่วยแบบผู้เขียน TT ) ถือว่าเป็นโอกาสดีในการที่จะเลือกทำประกันสุขภาพ​ ยิ่งวัยทำงานที่มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคมากมาย เช่น โรคปลอกประสาทอักเสบ โรคเครียดลงกระเพาะ โรคความดันโลหิตสูง ออฟฟิศซินโดรม โรคหัวใจ เป็นต้น (ข้อมูลจากโรงพยาบาลกรุงเทพ) อย่างน้อยตอนเจ็บป่วยจะได้ลดความกังวลเรื่องค่ารักษาพยาบาลไปบ้าง

สุขภาพใจต้องเติมความสุขอยู่เสมอ

  ที่ผ่านมา : ในหัวสมองของผู้เขียนมีแต่เรื่องงานกับงานเท่านั้น กลัวทำงานไม่เสร็จ ไม่ไว้ใจให้ใครมาทำงานแทน กดดันตัวเอง มีความเครียดกับงานโดยไม่รู้ตัว 
          ปัจจุบัน : เริ่มเปลี่ยนความคิด การทำงานหนักต้องมีวันหยุดพักบ้าง อันนี้จริงนะคะผู้เขียนทดลองมาแล้ว เพราะหลังจากที่เราได้ไปเที่ยวพักผ่อน เป็นการผ่อนคลายความเหนื่อยล้าจากการทำงาน ช่วยทำให้สมองปลอดโปร่งกลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม และถือว่าเป็นการเติมพลังสร้างสุขให้กับชีวิตอีกด้วยค่ะ แต่ใช่ว่าผู้เขียนจะมีเวลาไปเที่ยวบ่อย “ก็งานมันเยอะอะนะ” ต้องมีการวางแผนกันสักหน่อยค่ะ

          อันดับแรกเลยวางแผนตารางงานหาวันหยุดล่วงหน้า จะได้เป็นการจัดสรรเวลา เพื่อจัดการงานต่างๆ ให้เสร็จสิ้นก่อนวันหยุด เที่ยวได้อย่างสบายใจ อันดับต่อมาอันนี้สำคัญมากๆ จัดทริปและวางงบประมาณในการไปเที่ยวครั้งนี้ จะเริ่มต้นเที่ยวในประเทศไทยก่อนก็ได้นะคะ แต่ถ้าใครยังไม่รู้จะวางแผนเที่ยวยังไงหรือจะไปที่ไหนดี ลองดูกิจกรรมการท่องเที่ยวในไทยที่น่าสนใจได้ที่เว็บไซต์ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยก็ได้ หรือจะเช็กโปรโมชันของบัตรเครดิตที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว เช่น ค่าที่พัก ค่าอาหาร เติมน้ำมัน ฯลฯ ซึ่งจะได้ทั้งสะสมแต้มและรับส่วนลดกับร้านค้าที่ร่วมรายการด้วยค่ะ ​


          มาถึง ณ จุดๆ นี้ต้องบอกเลยว่าการสร้างสุขให้กับชีวิตอยู่ที่ตัวเราค่ะ เพียงแค่กล้าที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง อย่ามองข้ามกับการให้ความสำคัญทั้งในเรื่องงาน วางแผนเรื่องเงิน การดูแลสุขภาพกาย และที่สำคัญอย่าลืมสุขภาพใจด้วยค่ะ หากเราสามารถสร้างสมดุลได้โดยไม่ละเลยสิ่งหนึ่งสิ่งใดการสร้างสุขให้ชีวิตในวัยทำงานก็ไม่ใช่เรื่องยากเลยค่ะ  ขอให้ทุกคนสนุกกับการทำงานที่รักและมีความสุขกับการใช้ชีวิตไปพร้อมๆ กันนะคะ​





บทความที่เกี่ยวข้อง: 


​ผลิตภัณฑ์ หรือ Tools ที่เกี่ยวข้อง :

​K-Saving Plan  

​กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) 

​กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)  

​ประกันสุขภาพ 

​​


ให้คะแนนบทความ

นารีรัตน์ กำเลิศทอง AFPT

ฝ่ายพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้า ธนาคารกสิกรไทย