10 มิ.ย. 63

วิธีการจัดการเงิน หลังผ่านพ้นช่วงวิกฤติโควิด

คะแนนเฉลี่ย

ออมและลงทุน

​วิธีการจัดการเงิน หลังผ่านพ้นช่วงวิกฤติโควิด


​​​เป็นที่ทราบกันดีว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (COVID-19)  ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรงและเป็นวงกว้าง  ทำให้คาดกันว่าเศรษฐกิจโลก ซึ่งรวมถึงประเทศไทยจะเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างมาก  จะเห็นได้ว่าในช่วงที่ผ่านมา มีหลายธุรกิจต้องปิดตัวเองลง หรือต้องพยุงตัวเองให้อยู่รอด ด้วยการปรับลดค่าใช้จ่ายลง โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงาน  ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มขอความร่วมมือ ให้สลับกันลาหยุดแบบไม่รับเงินเดือน ขอปรับลดเงินเดือน หรือบางธุรกิจถึงกับเลิกจ้างพนักงาน  สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้เราเริ่มไม่มั่นใจว่า  เราจะสามารถดำเนินชีวิตและมีฐานะการเงินเป็นปกติ จนสามารถผ่านพ้นวิกฤติการณ์นี้ได้หรือไม่  และการที่คาดการณ์ว่าภาวะเศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ย่อมส่งผลให้การลงทุน  ทั้งการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์หรือตลาดตราสารหนี้มีการปรับตัวลงอย่างรวดเร็ว  เราจะมีวิธีการจัดการเรื่องการเงินและการลงทุนนี้ไปได้อย่างไร  K-Expert มีคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการจัดการเงินและการลงทุน หลังผ่านพ้นวิกฤติโควิด มาฝากกัน 


1. หยุดการใช้จ่ายเกินตัว  

ควรมีการจัดลำดับความสำคัญของค่าใช้จ่าย  และตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น  ซึ่งเป็นสิ่งที่พึงกระทำในช่วงเศรษฐกิจถดถอยและรายได้หดหายไป  วิธีการตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ให้เริ่มจากการจดบันทึกว่าแต่ละเดือนเรามีรายได้เข้ามาเท่าไร  และจดรายการใช้จ่ายแต่ละรายการว่าเราใช้จ่ายออกไปเท่าไร  จะทำให้เรารู้สถานะทางการเงินของตัวเอง  เพราะความมั่นคงทางการเงินเกิดได้ต่อเมื่อเรามีรายได้มากกว่ารายจ่าย  


หากรายจ่ายของเราสูง ให้พิจารณาตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออก  โดยเราควรจะรู้ว่าในแต่ละเดือน เรามีค่าใช้จ่ายเพื่อใช้ดำรงชีพต่อเดือนประมาณเท่าไหร่  สำหรับการลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น วิธีง่ายที่สุด คือ การจัดกลุ่มและเรียงลำดับค่าใช้จ่ายประเภทต่าง ๆ  โดยเริ่มจากการจำแนกรายจ่ายที่เป็นค่าใช้จ่ายประจำและจำเป็น  ได้แก่ ค่าเช่าบ้าน ค่าสาธารณูปโภค เงินผ่อนชำระกู้ซื้อบ้าน เงินผ่อนชำระค่ารถ และการจ่ายชำระบัตรเครดิต เป็นต้น  ซึ่งรายจ่ายพวกนี้จะถูกจัดไว้ในความสำคัญลำดับต้น  กลุ่มที่สอง คือ ค่าใช้จ่ายรายวัน ค่าอาหาร ค่าเดินทาง และกลุ่มสุดท้าย ค่าสินค้าที่ยังไม่มีความจำเป็น (สินค้าฟุ่ยเฟื่อยต่าง ๆ )  ซึ่งค่าใช้จ่ายกลุ่มสุดท้ายนี้ ควรเป็นรายจ่ายแรก ๆ ที่ควรตัดทิ้ง  


ถัดไปให้ลิสต์รายจ่ายที่สามารถลดหรือประหยัดได้ เช่น ค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม  สามารถลดลงได้อีกไหม  ซึ่งหากเราตัดลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลงได้  ก็เท่ากับเรามีเงินออมที่สามารถมาใช้ในการดำรงชีวิตได้เพิ่มขึ้น  ทั้งนี้ หากทำการตัดหรือลดรายจ่ายในกลุ่มที่สองและสามแล้ว  ยังรู้สึกว่ารายจ่ายยังคงสูงกว่ารายได้ หรือสถานะการเงินยังมีความตึงตัวอยู่  ลองพิจารณาปรับลดค่าใช้จ่ายประจำที่มีความสำคัญในลำดับต้น ๆ เช่น ในเรื่องภาระหนี้สิน ไม่ว่าจะเป็น การชำระค่าผ่อนบ้านหรือรถ การจ่ายชำระบัตรเครดิต เราสามารถมีวิธีการลดภาระหนี้หรือลดภาระการตึงตัวทางการเงินได้  โดยการขอความช่วยเหลือในการพักชำระเงินต้นหรือพักชำระดอกเบี้ยได้ ด้วยการติดตามและขอเข้ามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของแต่ละสถาบันเพื่อบรรเทาภาระลูกหนี้จากผลกระทบวิกฤติโควิด  



2. ต้องระมัดระวังเรื่องการลงทุน 

การลงทุนในช่วงวิกฤติ หรือหลังจากโควิดผ่านพ้นไป  จะมีความผันผวนมากขึ้น  มีการคาดการณ์ว่า หลังการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด คาดว่าทุกประเทศทั่วโลกต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ  ดังนั้น การลงทุนจะมีความผันผวนมากขึ้น  กลยุทธ์การลงทุนในยามตลาดผันผวนอย่างนี้ จึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ  สิ่งสำคัญในการลงทุนยามนี้จึงไม่ใช่การหาผลตอบแทนให้ได้สูงที่สุดเพียงอย่างเดียว  หากแต่เป็นการควบคุมหรือกระจายความเสี่ยงไปยังสินทรัพย์หลาย ๆ ประเภทในสัดส่วนที่เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้  ซึ่งการกระจายการลงทุน เปรียบเสมือนการแบ่งไข่เก็บในตะกร้าหลาย ๆ ใบ  ถ้าตะกร้าใบหนึ่งตก ก็ยังเหลือตะกร้าใบอื่น ๆ อยู่  เช่นเดียวกับการลงทุน หากเราเอาเงินทั้งหมดลงทุนในตลาดหุ้น ในช่วงที่ตลาดหุ้นเจอพิษโควิด ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลงเหลือ 1,024 จุด เมื่อ 23 มี.ค. 63 จากดัชนีฯ เมื่อสิ้นปีที่ 1,579 จุด  ซึ่งถือเป็นการปิดต่ำสุดในรอบ 8 ปี  นับได้ว่าตลาดหุ้นไทยมีการปรับฐานลงรวมประมาณ 555 จุด  หากเรานำเงินลงทุนในตลาดหุ้นไทยทั้งหมด  ก็อาจะจะส่งผลให้การลงทุนของเราติดลบถึงเกือบ 35% ตามสภาวะของตลาดหุ้นไทย  ซึ่งหากเรามีการกระจายการลงทุนไปในตลาดหุ้นไทย ตราสารหนี้  และสินทรัพย์ทางเลือก เช่น ทองคำ เป็นต้น  ในช่วงที่หากตลาดหุ้นไทยปรับตัวลง  ก็ยังมีผลตอบแทนจากตราสารหนี้และทองคำ  มารองรับผลขาดทุนจากตลาดหุ้นไทยได้บ้าง  ซึ่งนอกจากการจัดสรรเงินลงทุนไปยังสินทรัพย์หลาย ๆ ประเภท  จะช่วยลดความเสี่ยงแล้ว  สินทรัพย์บางประเภทอาจจะสร้างผลตอบแทนได้อย่างสม่ำเสมอ  ท่ามกลางความไม่แน่นอนอย่างเช่นปัจจุบันได้



3. วางแผนเก็บเงินในการดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้น 

เพราะหลังจากนี้ไป อาจจะมีโรคระบาดใหม่ ๆ หรือโรคอุบัติใหม่เพิ่มขึ้นมา  ทำให้เราต้องหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพของตัวเองมากขึ้น  แม้เราจะมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินหรือมีเงินเก็บออมไว้แล้ว แต่บางทีอาจจะไม่เพียงพอหากเราเกิดเจ็บป่วย  ดังนั้น เราควรเตรียมพร้อมด้วยการหาประกันมาเป็นหลักในการดูแลสุขภาพ และเป็นสวัสดิการคุ้มครองตัวเอง  เพื่อเตรียมรับมือกับโรคระบาดใหม่ หรือโรคอุบัติใหม่



4. พัฒนาตัวเองและหาช่องทางเพิ่มรายได้  

สำหรับผู้ที่มีรายได้ทางเดียว อาจจะพิจารณาหาช่องทางเพิ่มรายได้ หรือให้เงินช่วยทำงานผ่านการลงทุน  เพื่อลดความเสี่ยงจากการขาดรายได้  โดยเฉพาะหลังวิกฤติโควิด มีการคาดการณ์กันว่า การจ้างงาน อาจจะเปลี่ยนจากการจ้างมนุษย์เงินเดือน มาจ่ายเป็นเวลา หรือจ่ายตามผลงาน ซึ่งจะอิงกับทักษะความสามารถแทน  ตัวแปรดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านเงินเดือน หรือสวัสดิการของมนุษย์เงินเดือนในอนาคต  แต่ในทาง​กลับกัน คนเก่งอาจทำงานได้หลายที่ภายใต้การจ่ายเงินตามความสามารถ ดังนั้น สิ่งที่เราพึงระลึกถึงตลอดเวลา คือ เราต้องหมั่นพัฒนาตัวเอง ก้าวทันโลกที่เปลี่ยนไป เพื่อโอกาสและความก้าวหน้าในชีวิตการงาน  รวมถึงเพื่อให้มั่นใจได้ว่าความรู้ความสามารถที่เรามีจะยังใช้ได้อยู่ในอนาคต



5. ควรออมเงินไว้เพื่อใช้ในยามฉุกเฉิน  

อย่ารอให้ฉุกเฉินก่อนค่อยออม  เงินออมเผื่อฉุกเฉิน คือ เงินออมที่ทุกคนควรต้องเตรียมพร้อมสำหรับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน  และควรเก็บไว้ในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง  ซึ่งขอแนะนำให้มีเงินสำรองสภาพคล่องเผื่อฉุกเฉินไว้ให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายอย่างน้อย 6 เดือน  โดยคุณอาจจะทยอยออม โดยการเบ่งเงินประมาณ 10%-20% ของรายได้มาสะสม  จนได้เงินสำรองสภาพคล่องเผื่อฉุกเฉินครบตามจำนวนที่ต้องการ  เงินสำรองเผื่อฉุกเฉินนี้ควรเก็บไว้ในบัญชีเงินฝากหรือกองทุนที่ถอนออกมาใช้ได้สะดวก  เน้นรักษาเงินต้นมากกว่าทำผลตอบแทนที่สูง  หรือหากอยู่ในช่วงที่ขาดรายได้ ​ ยังไม่สามารถออมเพื่อสภาพคล่องฉุกเฉิน แนะนำให้สมัครบัตรเงินด่วนเตรียมไว้ เอาไว้สำรองหากต้องใช้เงินในการสำรองจ่ายค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในยามจำเป็น  ซึ่งบัตรเงินด่วนนี้ เมื่อมีการกดเงินสดมาใช้จะมีการคิดดอกเบี้ย  ถ้าไม่ใช้ก็ไม่ต้องเสียดอกเบี้ย และควรเอาไว้ใช้ยามจำเป็นจริง  ถ้าหากใครยังไม่มีการสำรองสภาพคล่องเผื่อฉุกเฉินส่วนนี้ บอกได้เลยว่าชีวิตของคุณอยู่ในความเสี่ยง เนื่องจากในช่วงหลังโควิด ภาวะเศรษฐกิจกิจอาจยังชะลอตัว หรืออยู่ในภาวะถดถอยไปอีกระยะหนึ่ง  ซึ่งในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลงหรืออยู่ในภาวะถดถอย ความไม่มั่นคงในหน้าที่การงานจะมีมากขึ้น  เราอาจจะถูกเลิกจ้าง ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว  เงินออมเผื่อฉุกเฉินหรือบัตรเงินด่วนดังกล่าวก็สามารถนำมาใช้ในการดำรงชีวิตในช่วงที่ขาดรายได้  และมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายสำหรับเหตุการณ์ที่มีความจำเป็นต้องใช้เงินขึ้นมา



ทั้งนี้ นอกจากเราจะต้องมีการปรับตัวในการจัดการเรื่องการเงินและการลงทุนแล้ว หลังผ่านพ้นวิกฤติโควิด เรายังต้องมีการปรับตัวให้คุ้นชินกับการใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์  เทคโนโลยีจะเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะเข้ามามีบทบาทต่อการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน  ด้วยสถานการณ์วิกฤติโควิด ส่งผลให้คนเริ่มคุ้นชินกับการใช้ดิจิทัล ส่งผลให้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เกิดขึ้นเร็วมาก มีการใช้เทคโนโลยีกับการทำงานที่บ้าน การซื้อสินค้า ตลอดจนการทำธุรกรรมทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการโอนเงิน การชำระบิล การเปิดบัญชีเงินฝาก การซื้อขายสับเปลี่ยนกองทุนหรือหุ้นกู้ผ่านทางแอปพลิเคชันของธนาคารต่าง ๆ ในสมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้น  ซึ่งเมื่อคนเริ่มคุ้นชินกับเทคโนโลยี และเริ่มวางใจในความปลอดภัยมากขึ้น  เราน่าจะได้เห็นหลายบริษัทมีนโยบายให้พนักงานสามารถทำงานที่บ้านมากขึ้น  ซึ่งเป็นผลมาจากการที่มีเทคโนโลยีมากมายที่ช่วยให้การทำงานที่บ้านเป็นเรื่องง่าย  จนในที่สุด การทำงานที่บ้านจะกลายเป็นมิติใหม่และเป็นเรื่องปกติของคนทำงานในยุคนี้  ซึ่งทำให้สามารถประหยัดเวลาในการเดินทาง  ด้านการซื้อสินค้า ลูกค้าไม่ต้องเดินทางมาซื้อหรือทดลองสินค้า  แต่ลูกค้าสามารถสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์ หรือสามารถทดลองสินค้าโดยไม่ต้องใช้พนักงาน (personal touch)  ส่วนการทำธุรกรรมทางการเงินผู้บริโภคเองก็น่าจะนิยมทำธุรกรรมทางการเงินผ่านทางแอปพลิเคชันมากขึ้น เช่น การขอสินเชื่อ การทำบัตรเครดิต การจ่ายชำระค่างวดสินเชื่อ  อีกทั้งสถาบันการเงินเองก็มีการพัฒนาเพิ่มบริการธุรกรรมทางการเงินอื่น ๆ ผ่านทางออนไลน์มากขึ้น  ซึ่งจะช่วยลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปสาขา พร้อมทั้งเพิ่มความสะดวกในการทำธุรกรรมทางการเงินให้แก่ผู้บริโภค​​


ให้คะแนนบทความ

อิสราภรณ์ บุรณิกานนท์ CFP®

ฝ่ายพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้า ธนาคารกสิกรไทย