22 เม.ย. 62

ความขี้เกียจทางการเงิน

คะแนนเฉลี่ย

ออมและลงทุน

​​​​ความขี้เกียจทางการเงิน
 

          ​คนเราส่วนใหญ่ไม่ชอบความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเพราะว่าการเปลี่ยนนำมาซึ่งความไม่แน่นอนหรือการคาดเดาผลลัพธ์ได้ยาก ไม่คุ้นเคย หรือแม้แต่ทำให้เกิดความเครียด ทั้งที่หลายครั้งการเปลี่ยนจะทำให้เราดีขึ้นก็ตาม

 

            บางทีอาจใช้คำว่าคนเรา “ขี้เกียจ" เวลาต้องทำอะไรที่ต่างไปจากเดิม ก็ย่อมได้

 

          ผมมักจะยกเรื่องความขี้เกียจของคนในทางการเงินมาเปรียบเทียบและชักชวนให้คนรอบตัวหรือแม้แต่เมื่อยามมีโอกาสบรรยายความรู้ในฐานะ K-Expert บนเวทีต่างๆ เสมอๆ ว่าการขยับเรื่องบางเรื่องเพียงเล็กน้อยถ้าทำให้เรามีเงินเหลือในกระเป๋ามากขึ้น หรือสูญเสียน้อยกว่าที่เคยเป็น แล้วมันทำให้ชีวิตดีขึ้น เรามีเหตุผลใดกันที่จะไม่ลุกขึ้นมาทำกันในทันที           

 

          เรากำลังคุยกันถึงพฤติกรรมคนครับ และพฤติกรรมทางการเงินอย่างหนึ่งที่มนุษย์แทบจะทุกคนมีในตัวคือ “การยึดติดกับสภาพที่เป็นอยู่" หรือ status quo bias ใช่แล้วครับ คำบ้านๆ ที่ผมเรียกว่าความขี้เกียจทางการเงินนี่แหละครับ

 

ขี้เกียจแล้วจะเจอกับอะไร

          1. จ่ายมากกว่าที่ควรต้องจ่าย เพราะเมื่อเราใช้โทรศัพท์มือถือโปรเดิมตั้งแต่ออกเครื่องใหม่ ซึ่งช่วงแรกอาจจะถูกอยู่สัก    8 รอบบิล หลังจากนั้นก็จะปรับเป็นราคาที่สูงขึ้น เมื่อเราขี้เกียจเราก็จ่ายแพงขึ้นทันทีโดยไม่ได้กลับมาเปลี่ยนแปลงอะไรได้ การสมัครสมาชิกใดๆ แล้วให้มีการตัดบัตรเครดิตในราคาถูกช่วงแรก แล้วต้องยกเลิกทางโทรศัพท์หรือเปลี่ยนแปลงได้ในภายหลัง ต่างเข้าข่ายการใช้ความเข้าใจเรื่อง นิสัยความขี้เกียจนี้ทั้งสิ้น การไม่ยอมกรอกใบ ลย.01 หรือแบบแจ้งรายการเพื่อลดหย่อนภาษีที่แต่ละคนต่างมีค่าลดหย่อนไม่เท่ากันในแต่ละปีตั้งแต่ต้นปี ทำให้เราให้เงินยืมแบบไม่มีดอกเบี้ยแก่รัฐไปก่อนในทุกเดือน อันนี้ก็ถือว่าเป็นการใช้นิสัยความขี้เกียจโดยไม่ตั้งใจของพวกเราซึ่งในมุมนึงก็ไม่ได้ถึงกับเสียหายอะไรมากถ้าจะมาขอคืนภาษีกันในปีถัดไป แต่ถ้าใครคิดว่าจะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงอะไรอีกสักหน่อยก็จะทำให้มีเงินในกระเป๋าเหลือในแต่ละเดือนเพิ่มขึ้นทันที

                        

          2. วางแผนผิดพลาดเกิดความยุ่งยากในภายหลัง เพราะเรื่องบางเรื่องที่เราตัดสินใจในวันเริ่มต้นจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงเมื่อถึงเวลา เช่น ในวันที่อายุน้อย ทำงานมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มีประกันชีวิต เราจำเป็นต้องระบุผู้รับประโยชน์ ซึ่งบางทีการระบุบุพการีในตอนแรกกับการที่ต้องเปลี่ยนแปลงผู้รับประโยชน์เมื่อเรามีครอบครัวใหม่ หรือมีการหย่าร้าง ก็จำเป็นอย่างมาก กับการวางแผนการส่งต่อทางการเงินในผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะคล้ายกันนี้ หรือแม้แต่การยึดติดอยู่กับกองทุน ตัวใดตัวหนึ่งโดยไม่ได้สนใจที่จะเปลี่ยนแปลงทั้งเรื่องของสัดส่วนสินทรัพย์เสี่ยงที่ควรเพิ่มหรือลดในบางปี หรือแม้แต่การมองหากองทุนที่ดีกว่าเมื่อเวลาเปลี่ยนไป เช่นนี้ก็ถือเป็นข้อเสียที่ความขี้เกียจทำให้เราได้น้อยหรือเสียมากกว่าที่ควรจะเป็น

                              

          3. ขี้เกียจแล้วทำให้รวยขึ้นได้ ข้อนี้อาจจะฟังดูย้อนแย้งกันเองสักหน่อยแต่ถ้าเรามีแนวโน้มไม่ออมเงิน หรือใช้เงินเก่ง ถ้าใช้วิธีตัดเงินออมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพในอัตราสูงสุดกับบริษัท ตัดเงินเข้าบัญชีกองทุนเป็นประจำทุกเดือนแบบอัตโนมัติใน      ตัวเลขที่รับไหว หรือการลงทุน DCA ในกองทุนเพื่อประโยชน์ทางภาษีและแผนเกษียณ ทำเช่นนี้เพียงครั้งแรกครั้งเดียวหลังจากนั้นก็ปล่อยให้ความขี้เกียจทำงานของมันเอง คือตัวเราก็จะไม่พยายามไปเปลี่ยนแปลงอะไรก็เท่ากับบังคับให้ตัวเองมีเงินเก็บโดยไม่รู้ตัว

 

 แก้นิสัยขี้เกียจทางการเงินได้อย่างไร​

            ทางแก้นิสัยขี้เกียจคือต้องฝืนตัวเองแล้วลุกขึ้นสร้างวินัยการเงินให้ได้


          1. เปลี่ยนแปลงปีละครั้ง เรื่องบางเรื่องให้ตั้งหมายกำหนดให้ตัวเองทบทวนปีละครั้ง เช่น การกรอก ลย.01 ในตอนต้นปี การทบทวนพอร์ตการลงทุนทั้งในมิติของสัดส่วนและรายละเอียดสิ่งที่ลงทุนทุกปี ผู้รับประโยชน์ในทรัพย์สิน หรือการทบทวนต้นทุนค่าธรรมเนียม ค่าสมาชิกใดๆ ที่เกิดขึ้นจากการใช้จ่ายแบบบอกรับล่วงหน้าหรือการทำสัญญาที่มีระยะเวลานาน เรื่องนี้ครอบคลุมไปถึงการ refinance บ้านเพื่อให้ได้ต้นทุนดอกเบี้ยที่ต่ำลงบนหนี้ระยะยาวด้วย

      

          ​2. เปลี่ยนทีละเล็กละน้อย ไม่ต้องทำอะไรที่ใหญ่โตในคราวเดียวเพราะต้องทำใจและอาศัยความกล้ามาก ดังนั้น ใครที่ไม่ชอบเก็บเงิน ก็ให้ลองหักเงินเก็บอัตโนมัติสัก 5-10% ดูก่อน ใครมีค่าใช้จ่ายสูงก็ให้ลองขยับลดรายการที่เคยใช้ประจำแต่ไม่ถึงขั้นตัดทิ้ง เช่น ลดแพ็คเก็จไวไฟบ้าน หรือโทรศัพท์มือถือลงให้น้อยกว่าเดิมเล็กน้อย เปลี่ยนการตัดบัญชีเพื่อจ่ายค่าสมาชิกมาเป็นแบบจ่ายด้วยตัวเองทุกเดือน เช่นนี้ก็จะช่วยดัดนิสัยได้แบบไม่รู้ตัว

 

          3. ถ้ารู้ว่าความขี้เกียจช่วยให้ชีวิตดีขึ้น อันนี้ก็หาทางให้ตัวเองเข้าสู่สภาวะไม่ต้องตัดสินใจบ่อยให้มากในเรื่องการออมเงิน การลงทุน การประหยัดภาษี หรือการตัดจ่ายหนี้ที่มากกว่าขั้นมาตรฐาน หรือขั้นต่ำ

 

          ข้อสำคัญของเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องการแก้นิสัยขี้เกียจทางการเงิน แต่เป็นเรื่องของการตระหนักรู้ว่าเรามีนิสัยขี้เกียจทางการเงินอยู่ในเรื่องใด และจะต้องลุกขึ้นมาทำอะไรในทันทีบ้างหรือไม่เท่านั้น เพราะการขยับเพียงเล็กน้อยแล้วทำให้เรามั่งคั่งขึ้นหรือสูญเสียน้อยลงย่อมดีกว่าไม่ทำอะไรเลย ดังนั้น ขอให้ทุกคนโชคดีกับการทบทวนความขี้เกียจของตัวเองครับ


บทความที่เกี่ยวข้อง :

- วิธีรักษาอาการสายตาสั้นทางการเงิน 



ให้คะแนนบทความ

วีระพล บดีรัฐ

ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้า K-Expert ธนาคารกสิกรไทย

ฝ่ายพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้า ธนาคารกสิกรไทย