18 ม.ค. 62

ถ้าจิตพิสัยไม่ได้มีแค่ในห้องเรียน

คะแนนเฉลี่ย

ออมและลงทุน

​​​​ถ้าจิตพิสัย จะไม่ได้มีแค่ในห้องเรียน


 

คุณเคยเล่นเกมแล้วแอบใส่สูตรโกงเอาไอเท็มพิเศษ หรือเล่นเกมจนไม่ยอมหลับยอมนอนมั้ย?
คุณเคยขับรถฝ่าไฟแดง หรือจอดรถในที่ห้ามจอดมั้ย?
แล้วคุณเคยโพสต์ข่าวลือ ชำระภาษีล่าช้า หรือชอปปิงออนไลน์แล้วไม่จ่ายเงินมั้ย?

 

          ​จะเป็นอย่างไร ถ้าอีกหน่อยพฤติกรรมต่างๆ ของเราจะถูกหยิบมาประเมินเป็นตัวเลขเพื่อวัดคะแนนจิตพิสัยในสังคม ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมด้านดีหรือไม่ดี พฤติกรรมในโลกความเป็นจริงหรือโลกออนไลน์ และคะแนนนั้นอาจไปมีผลต่อด้านอื่นๆ ของชีวิต คล้ายๆ คะแนนจิตพิสัยในห้องเรียนที่ใครทำดีได้แต้มบวก ใครทำไม่ดีได้แต้มติดลบ

 

ตัวเงินไม่ได้บอกทุกอย่าง

          สำหรับโลกทุนนิยมแบบที่เคยเป็นมา เรามักวัดสถานะทางสังคมกันด้วยตัวเลขต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น GDP เพื่อดูความเติบโตของประเทศ อัตราการว่างงาน เพื่อบอกถึงสัดส่วนคนมีงานทำหรือตกงาน จำนวนเงินที่มีในบัญชี ขนาดบ้านที่อยู่ รุ่นรถยนต์ที่ขับ หรือข้าวของที่ใช้เพื่อวัดฐานะความร่ำรวย

 

          ส่วนในด้านความประพฤติที่พอทราบกันอยู่ ก็อย่างเช่นพฤติกรรมการชำระสินเชื่อที่จะถูกนำมาคำนวณเป็น Credit Score ซึ่งเป็นคะแนนที่บอกประวัติการใช้สินเชื่อ ความตั้งใจในการชำระหนี้ เพื่อเอามาประเมินความสามารถในการก่อและชำระหนี้ในอนาคต

 

          ​ในอีกทางหนึ่ง ตัวเลขในเชิงทุนนิยมต่างๆ เหล่านี้ อาจไม่ได้บอกถึงคุณงามความดีของคน ความอยู่ดีมีสุข หรือความน่าอยู่ของสังคมได้เสมอไปนัก

 


เมื่อทำดี แล้วมีแต้ม

          ในหลายประเทศเริ่มมีการใช้ Digital Social Credit (DSC) ซึ่งเป็นการให้คะแนนกับคนที่มีส่วนช่วยทำให้สังคมน่าอยู่ขึ้น หรือคนในสังคมมีความสุขขึ้น ยกตัวอย่างเช่น นักข่าวที่ค้นพบแหล่งของเสียของชุมชน ศิลปินที่ช่วยทำให้เมืองสวยงามขึ้น หรือคนสุขภาพแข็งแรงที่สามารถทำให้คนอื่นๆ หันมาออกกำลังกายได้ ก็จะได้รับการยกย่องและมีคะแนนหรือรางวัลให้

 

          ​องค์กรที่ทำเรื่องนี้อย่าง Time Banking ของสหรัฐอเมริกา ริเริ่มโดย Edgar Cahn ที่ต้องการส่งเสริมความสัมพันธ์ในชุมชน ชวนคนมาแลกเปลี่ยนเวลาช่วยเหลือคนอื่นๆ ด้วยทักษะที่ตัวเองถนัด ไม่ว่าจะเป็น สอนเย็บผ้า ช่วยจูงสุนัขออกไปเดินเล่น หรือสอนเพื่อนบ้านทำอาหาร โดย 1 ชั่วโมง จะได้รับ 1 คะแนน และสามารถนำคะแนนเหล่านั้นไปขอรับความช่วยเหลือ หรือส่งมอบคะแนนไปยังผู้ที่ต้องการรับความช่วยเหลือต่อได้

 

คะแนนที่เกิดจากร่องรอยบนโลกออนไลน์

          Fintech หลายราย เริ่มมีแนวคิดที่จะนำร่องรอยต่างๆ ที่เกิดจากพฤติกรรมใช้งานในโลกออนไลน์ (Digital Footprint) มาเป็นอีกทางเลือกในการประเมินคะแนน ภายใต้ความเชื่อว่า ร่องรอยเหล่านั้นเป็นตัวสะท้อนถึงอุปนิสัยหรือตัวตนที่แท้จริงของบุคคล

 

          ยกตัวอย่างเช่น Tala ที่นำพฤติกรรมการใช้งานโทรศัพท์มือถือ มาคำนวณเป็นคะแนนเพื่อประเมินความสามารถในการชำระหนี้และปล่อยสินเชื่อในประเทศกำลังพัฒนา โดยวิเคราะห์จากข้อมูลต่างๆ อย่างวิธีการบันทึกชื่อ ช่วงเวลาที่โทรบ่อย ความถี่ในการโทรหาคนในครอบครัว ข้อความที่ส่ง รวมไปถึง App ที่ใช้ในเครื่อง

 

          ​หรือบริษัทประกันภัยอย่าง Kin ที่ดูจากพฤติกรรมเจ้าของบ้านในการนำอุปกรณ์ที่ใช้งานผ่านการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต เข้ามาใช้ในบ้าน เพื่อประเมินหาค่าเบี้ยประกันภัย เช่น บ้านที่ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับท่อน้ำรั่ว อาจจะได้รับส่วนลดค่าเบี้ย เป็นต้น

 

คะแนนจิตพิสัยในสังคม

          ยิ่งไปกว่านั้น ยุคที่สังคมออนไลน์เริ่มกลมกลืนเข้าไปกับสังคมปกติที่เราดำรงชีวิต ข้อมูลจำนวนมหาศาลที่เรียกว่า Big Data กำลังถูกแปรเพื่อนำมาใช้ในการต่างๆ มากมาย และปัจจุบันประเทศจีนก็เริ่มนำมาใช้กับระบบการให้คะแนนที่เรียกว่า Social Credit หรือคะแนนความน่าเชื่อถือทางสังคม เพื่อสอดส่องดูแลพฤติกรรมพลเมือง โดยเริ่มนำร่องมาตั้งแต่ปี 2014 และจะใช้จริงทั่วประเทศภายในปี 2020

 

          Social Credit เป็นระบบการให้คะแนนบุคคลจากพฤติกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันทั้งโลกออฟไลน์และออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการชำระบิล การจ่ายภาษี ปริมาณการซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การทำตามกฎจราจร ความกตัญญู ข้อความที่แชท หรือสเตตัสที่โพสต์ลง Social Media โดยติดตามจากการตรวจสอบใบหน้าและท่าทางผ่านกล้องวงจรปิดที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ และจากข้อมูล Digital Footprint ผ่านการเข้าเว็บหรือการใช้งานบน App ต่างๆ

 

          ​สำหรับคนที่มีคะแนนในเกณฑ์ดี มีโอกาสจะได้รับสิทธิพิเศษ เช่น ได้ทุนการศึกษา กู้เงินได้มากขึ้น เข้าถึงเครื่องบินหรือรถไฟได้ ส่วนลดในการซื้อสินค้า หรือโอกาสที่มากขึ้นในเว็บไซต์หาคู่ ในทางตรงข้าม คนที่มีคะแนนไม่ดีอาจถูกตัดสิทธิการเดินทางด้วยรถไฟหรือเครื่องบิน ลดความเร็วอินเตอร์เน็ต หมดสิทธิพาตัวเองหรือลูกเข้าโรงเรียนดังๆ หมดโอกาสได้งานดีๆ หรือห้ามทำธุรกรรมกับสถาบันการเงิน เป็นต้น

 

ธนาคารความดีในไทย

          สำหรับในประเทศไทย วันนี้อาจยังไม่ไปถึงขั้นที่ใช้ Big Data มาประเมินคะแนนบุคคล แต่ก็มีหลายชุมชนที่ได้ทดลองใช้การทำความดีมาเป็นส่วนประกอบในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้

อย่าง ธนาคารความดี" ของชุมชนตำบลหนองสาหร่าย จ.กาญจนบุรี ที่ให้สมาชิกจดบันทึกความดีที่ทำ แล้วนำมาใช้แทนหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ ตัวอย่างความดี เช่น การประหยัด การนิยมใช้ของไทย ละเว้นอบายมุข มีมารยาท ประพฤติตนอยู่ในศีลธรรม หรือมีส่วนร่วมในสังคม เป็นต้น ยิ่งมีพฤติกรรมดีหลายข้อ ยิ่งมีโอกาสได้รับวงเงินกู้ที่สูงขึ้น

 

          จากที่เล่ามาทั้งหมด สังเกตไหมว่า ในอนาคต ลำพังการมีความรับผิดชอบทางการเงินผ่านการชำระหนี้ให้ตรงเวลาเพียงอย่างเดียว คงไม่พอที่จะแสดงให้เกิดความน่าไว้วางใจได้ แต่รูปแบบการใช้ชีวิต พฤติกรรมที่คุณเป็น ความดีที่คุณมี จะเป็นตัวกำหนดคะแนนของตัวคุณเอง

 

แล้ววันนี้ คุณคิดว่า คุณมีคะแนนจิตพิสัยทางสังคมเป็นอย่างไร?​​


 

บทความที่เกี่ยวข้อง : 

5 พฤติกรรมทำเจ็บ เก็บเงินไม่อยู่

- 4 พฤติกรรมที่ทำให้ไม่มีเงินเก็บ​

ให้คะแนนบทความ

บุษยพรรณ วัชรนาคา CFP®

ฝ่ายพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้า ธนาคารกสิกรไทย