15 ธ.ค. 60

เงินทอง…เรื่องที่คนมีคู่ต้องเคลียร์ก่อนแต่ง

คะแนนเฉลี่ย

ออมและลงทุน

​“จัดการเงินอย่างไรให้ชีวิตคู่ข้าวใหม่ปลามันลงตัว”


 

          ในวันที่คนสองคน ตัดสินใจจับมือกันเข้าประตูวิวาห์ “ความรัก” อาจเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ แต่สำหรับการสร้างฐานะครอบครัวให้มีความสุขแล้ว หลีกไม่พ้นเรื่องการจัดการเงินของทั้งสองคนค่ะ วันนี้ K-Expert จึงอยากนำเรื่องการเงินที่คู่แต่งงานใหม่มักจะต้องเจอ ให้ทุกคู่สามารถสร้างครอบครัวที่อบอวลไปด้วยความรัก มีความสุขสมหวังจากการเงินที่งอกเงยได้ตามหน้าที่การงานและความต้องการที่มากขึ้นในครอบครัวกัน ดังนี้ค่ะ


 

คิดให้ครบกับหนี้สินก้อนโต : บ้านให้ซื้อเผื่อ รถให้ซื้อแค่พอจำเป็น
            บ้าน : สำหรับปัจจุบันแล้ว เรื่องการซื้อบ้านหรือคอนโด เพื่อแยกอยู่อาศัยจากครอบครัว ดูจะเป็นเรื่องปกติที่คู่แต่งงานต่างก็เลือกทำกัน และด้วยค่าบ้านที่สูงมาก การขอสินเชื่อเพื่อซื้อบ้านจึงอาจเป็นหนี้ก้อนโตก้อนแรกในชีวิต ข้อชวนคิด ปกติเรามักจะเลือกซื้อบ้านแค่ตามวงเงินกู้ที่ได้รับ คำถามที่ว่า “เงินเดือนเท่านี้จะกู้ซื้อบ้านได้ที่เท่าไหร่” จึงเป็นคำตอบในเรื่องนี้ ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว ถ้าเรามั่นใจว่างานที่ทำจะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นในทุกๆ ปีอย่างแน่นอน อย่างการเป็นพนักงานประจำ นั่นก็แสดงว่าเราจะสามารถผ่อนชำระได้มากขึ้นในทุกๆ ปีเช่นกัน การคิดเผื่อและเลือกซื้อบ้านที่มีขนาดใหญ่ขึ้นอีกนิด เพื่อรองรับคนในครอบครัวในอนาคตไว้ล่วงหน้า เช่น ลูกหรือคุณพ่อคุณแม่ รวมทั้งเลือกทำเลบ้านที่สามารถตอบโจทย์ในอนาคต เช่นใกล้ที่ทำงาน ใกล้บ้านคุณพ่อคุณแม่ หรือใกล้โรงเรียนที่ตั้งใจให้ลูกเรียน ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ควรนำมาตัดสินใจค่ะ แนะนำให้ทำ เก็บเงินดาวน์ให้มากขึ้นก่อนซื้อบ้าน หรือการขอกู้ร่วม 2คน โดยให้ภาระผ่อนต่อเดือนของทั้งคู่ไม่เกิน 30% ของเงินเดือน จะช่วยให้การซื้อบ้านขนาดใหญ่ขึ้น โดยไม่ต้องขอสินเชื่อก้อนใหญ่จนเกินความสามารถผ่อนชำระ เพราะในชีวิตคนเรา จะไม่ได้ซื้อบ้านได้บ่อยนัก ดังนั้นการวางแผนที่จะเป็นหนี้ก้อนโตระยะยาวแบบนี้ ให้เป็นภาระหนี้ที่เกิดขึ้นครั้งเดียวในชีวิต จึงมีข้อดีมากกว่าข้อเสีย ได้แก่ การผ่อนชำระหนี้ก้อนโตในวันที่เรามีภาระไม่มาก(ยังไม่มีลูก) ผ่อนชำระได้นานอีก 30-35ปี  และราคาบ้านที่ยังไม่แพงเมื่อเทียบกับราคาที่จะซื้อใหม่ในอนาคต  และที่สำคัญต้องอย่าลืมคุ้มครองภาระหนี้ด้วยทำประกันคุ้มครองภาระหนี้ MRTA นะคะ เพราะกว่าจะผ่อนหมด ถ้าเกิดเรื่องไม่คาดฝัน บ้านในฝันอาจเป็นภาระในครอบครัวแทน ไม่ดีแน่ๆ ค่ะ


 

    รถยนต์ : เพราะรถซื้อแล้วราคามีแต่ “ลด” ข้อชวนคิด จึงเน้นเลือกซื้อตามความจำเป็นต้องใช้งานเป็นหลักค่ะ เช่นถ้าทั้งสองคนทำงานในเมืองเหมือนกัน ละแวกใกล้ๆกัน การใช้รถยนต์แค่คันเดียว แบบอีโคคาร์ ทั้งประหยัดน้ำมัน ไม่ต้องไปจ่ายค่าจอดรถแสนแพงในเมือง และค่าใช้จ่ายดูแลรักษาที่จะตามมา ต่อคันตกเดือนละเกือบหมื่น ให้รถเป็นตัวช่วยให้เราประหยัดเวลาและค่าเดินทาง แทนการรับภาระที่เกิดจากรถยนต์กันดีกว่านะ

คะ


 

คิดร่วมกันกับรายจ่ายบ้าน : ลดรายจ่าย ออมอย่างมีวินัย
          รายจ่ายรายเดือน : เป็นเรื่องจริงที่ว่า การที่ได้มาอยู่ร่วมกันทำให้เราสามารถลดรายจ่ายได้ในหลายๆ เรื่องค่ะ ไม่ว่าจะค่าเดินทาง ค่ากิน แนะนำให้ทำ บันทึกรายรับรายจ่ายของทั้งสองคน เพื่อจะได้ทราบรายจ่ายไม่จำเป็นอะไรที่พอจะลดลงได้ จะมีเงินที่ช่วยกันเก็บออมได้มากน้อยแค่ไหน นอกจากจะช่วยสร้างความเข้าใจในรายรับและรายจ่ายที่จำเป็นของแต่ละคน เช่น เงินก้อนสำหรับดูแลคุณพ่อคุณแม่ เงินก้อนสำหรับจ่ายค่าประกันชีวิต และยังสร้างแนวทางร่วมกันในการสร้างฐานะการเงินในบ้านได้อย่างดีเยี่ยมด้วยค่ะ

 
          เป้าหมายอื่นๆ : รายจ่ายอีกก้อนที่ช่วยสร้างความสัมพันธ์ชีวิตคู่ อาจเป็นเงินก้อนสำหรับท่องเที่ยว พักผ่อนตามกิจกรรมไลฟ์สไตล์ที่ต้องการ สำหรับเงินก้อนนี้

 
แนะนำให้ทำ การเขียนเป้าหมายให้ชัด และเก็บออมตามช่วงเวลาที่ต้องการ เช่น ท่องเที่ยวมัลดีฟส์ ในอีก 24 เดือนข้างหน้า ต้องใช้เงิน 100,000 บาท แค่นี้ก็ทำให้รู้ว่าการช่วยกันทยอยฝากเงินในบัญชีเงินฝากปลอดภาษี 24 เดือน เพียงเดือนละ 4,200 บาท จนครบ 24 เดือน ดังนั้นการเก็บเงินเพื่ออนาคตและเรื่องในปัจจุบันก็ทำได้ไปพร้อมๆ กันค่ะ

 
คิดเผื่อ 1 สเตปกับค่าเรียนลูก : เมื่อรู้ว่ามีลูก รายจ่ายก้อนใหญ่คือค่าเรียนลูก
          ระยะเวลาสั้น : ทันทีที่รู้ว่ากำลังจะมีลูก  หลายๆ บ้านมักอยากหาที่เรียนพิเศษพัฒนาทักษะต่างๆ ของลูกก่อนเข้าโรงเรียน สิ่งที่ตามมาคือ ค่าเรียนตามสถาบันต่างๆ ที่แพงหูฉี่ ข้อชวนคิด ก่อนวัยเรียน การสร้างทักษะที่สำคัญคือการเข้าสังคม และการมีสมาธิเพื่อเรียนรู้ในเรื่องต่างๆ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่เป็นผู้สร้างทักษะให้ลูกได้ เช่น จากการพาลูกเดินเล่นรอบบ้าน หรือการให้ลูกนั่งคาร์ซีท และนั่ง High Chair ทานอาหาร หรือการงดไม่ให้ลูกเล่นอุปกรณ์สื่อสาร ไอแพดต่างๆ นอกจากจะประหยัดค่าเรียนแล้ว ยังทำให้เรามีความสุขจากการเห็นทักษะลูกได้ในทุกๆ วันค่ะ แนะนำให้ทำ ตั้งเป้าหมายทยอยเก็บเงินเพื่อเป็นทุนสำหรับการเรียนลูกล่วงหน้าอย่างน้อย 1 ระดับชั้น เช่น ถ้าลูกอายุ 6 เดือน แสดงว่ายังมีเวลา  30 เดือนสำหรับเตรียมเงินเพื่อค่าเรียนระดับอนุบาล  และอาจเก็บเงินเพื่อค่าเรียนระดับประถมศึกษา ในอีก 66 เดือน ข้างหน้าได้  ถ้ามีเงินเก็บได้เยอะ ก็เก็บได้พร้อมๆ กันไปหลายๆ ระดับชั้นได้ค่ะ

 
         ระยะเวลายาว : คุณพ่อคุณแม่ควรมีเป้าหมายในใจว่าต้องการให้ลูกเรียนไปจนถึงระดับใด จะได้รู้ตัวและทยอยเก็บล่วงหน้า เช่นถ้าความตั้งใจคือ อยากให้ลูกเรียนปริญญาโทต่างประเทศ นั่นคือจะต้องมีเงินทุนประมาณ 10 ล้านบาท (รวมการเพิ่มค่าเทอมต่อปี ในอัตราปีละ 5 %) ข้อชวนคิด การวางแผนทยอยเก็บเงินหรือลงทุนเพื่อเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนระยะยาว จะช่วยให้ถึงเป้าหมายได้มากขึ้น แนะนำให้ทำ ตั้งเป้าหมายทยอยเก็บเงินก้อนนี้ตั้งแต่ลูกยังเล็ก เช่นอายุ 1 ขวบ ทยอยลงทุนต่อเนื่องนาน 20 ปี ผ่านกองทุนรวมหุ้น (อัตราผลตอบแทน 10%ต่อปี) เดือนละ 13,200 บาท เพื่อเป็นทุน 10 ล้านบาทตามกำหนด และแนะนำให้ทำประกันเน้นคุ้มครองชีวิตคุณพ่อคุณแม่ ให้ครอบคลุมกับเป้าหมายนี้ ได้แก่ประกันตลอดชีพ หรือประกันชั่วระยะเวลา คุ้มครองความเสี่ยงจากเรื่องไม่คาดฝัน ให้ลูกยังคงได้เรียนตามที่ตั้งใจ

          การเงินในครอบครัวอาจเป็นเรื่องบอบบาง และไม่ใช่ทุกอย่าง แต่การจัดการเงินในบ้านที่ขาดการวางแผน ก็อาจทำลายความสุขในการสร้างภาพครอบครัวที่ต้องการได้  หันมาพูดคุยและร่วมใจกันจัดการเงินนะคะ



ให้คะแนนบทความ

ฝ่ายพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้า

ธนาคารกสิกรไทย