26 ก.ย. 60

อินเทอร์เน็ตหรือโมบาย ก็ทำธุรกรรมการเงินได้อย่างปลอดภัย

คะแนนเฉลี่ย

ออมและลงทุน

​​​​อินเทอร์เน็ตหรือโมบาย ก็ทำธุรกรรมการเงินได้อย่างปลอดภัย


“รู้วิธีป้องกันและระมัดระวังทุกครั้งที่ทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ผ่านอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง
หรือโมบายแบงก์กิ้ง เพื่อช่วยให้เราทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ได้อย่างปลอดภัย”



          เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า การทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้งหรือโมบายแบงก์กิ้งช่วยให้ชีวิตเราง่ายและสะดวกสบายมากขึ้น และคงไม่สามารถปฏิเสธได้อีกเช่นกันว่า การทำธุรกรรมแบบนี้มีโอกาสเกิดความเสี่ยงตามมาด้วย เพื่อช่วยลดความกังวลใจที่เกิดขึ้น K-Expert มีแนวทางในการทำธุรกรรมการเงินอย่างปลอดภัยมาฝากกันครับ


การใช้อินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง (ทำธุรกรรมผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์และเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต)
              ความเสี่ยงที่เรามักพบในกรณีของอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้งก็คือ Phishing ซึ่งเป็นการปลอมแปลงเว็บไซต์ให้เหมือนกับเว็บไซต์จริงของสถาบันการเงิน เพื่อล่อลวงให้เรากรอกข้อมูลสำคัญต่างๆ โดยเฉพาะชื่อผู้ใช้งาน รหัสผ่าน รวมถึงข้อมูลบัตรเครดิตนั่นเองครับ โดยมิจฉาชีพมักจะใช้วิธีส่งข้อมูลมาทางอีเมลหรือ SMS และแอบอ้างว่ามาจากสถาบันการเงิน หน่วยงานราชการ หรือเป็นแคมเปญชิงโชค ชิงรางวัลต่างๆ เพื่อให้เราหลงเชื่อ รวมถึงการโทรศัพท์เข้ามาล่อลวงให้เราเปิดเผยข้อมูล โดยอ้างว่าเราติดหนี้เขาอยู่ จะโอนเงินรางวัลมาให้เรา หรือบอกว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน เพื่อให้เรารีบบอกข้อมูลส่วนตัวกับเขาไป


วิธีป้องกันคือ
               • ไม่คลิกลิงก์จากอีเมลหรือ SMS เพื่อเข้าสู่ระบบที่ให้กรอกข้อมูลส่วนตัว แต่ควรเข้าเว็บไซต์ด้วยการพิมพ์ชื่อเว็บไซต์เอง
               • เมื่อเข้าเว็บไซต์เพื่อทำธุรกรรมการเงินให้สังเกตตรงแถบที่ระบุชื่อเว็บไซต์ ซึ่งจะต้องขึ้นต้นด้วย https://  จึงจะถือว่าเป็นเว็บเพจที่มีความปลอดภัย เพราะมีการเข้ารหัสเพื่อป้องกันไม่ให้ถูกลักลอบดูข้อมูลที่มีการรับส่งระหว่างผู้ใช้งานกับสถาบันการเงิน  นอกจากนี้ ให้คลิกที่สัญลักษณ์แม่กุญแจบนแถบ URL เพื่อตรวจสอบว่าเป็นเว็บไซต์ของธนาคารจริงหรือไม่
               • ระลึกไว้เสมอว่า สถาบันการเงินทุกแห่งไม่มีนโยบายส่งอีเมลหรือ SMS ไปให้คลิกลิงก์เข้ามาที่เว็บไซต์เพื่อทำธุรกรรมและไม่มีนโยบายโทรศัพท์มาสอบถามข้อมูลส่วนตัว หากใครเจอเหตุการณ์แบบนี้ให้ปฏิเสธการให้ข้อมูลไปเลยครับ และรีบติดต่อกลับไปยัง Contact Center ของสถาบันการเงินนั้นๆ
               • เก็บรักษาข้อมูลส่วนตัว เช่น เลขบัตรประชาชน วันเดือนปีเกิด เลขที่บัญชี เลขบัตรเอทีเอ็ม/บัตรเดบิต/บัตรเครดิต เพื่อป้องกันไม่ให้มิจฉาชีพใช้ข้อมูลส่วนตัวเหล่านี้ในการสวมรอยได้


          ความเสี่ยงของการทำธุรกรรมการเงินที่พบยังอยู่ในรูปแบบการถูกดักจับข้อมูลโดยที่เราไม่รู้ตัว ซึ่งมักเกิดตอนที่เราทำธุรกรรมการเงินด้วยการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านเครือข่ายไร้สายแบบสาธารณะ (Public Wi-Fi) หรือทำธุรกรรมการเงินผ่านคอมพิวเตอร์สาธารณะซึ่งอาจมีซอฟต์แวร์อันตราย (Malware) แฝงตัวอยู่ ทั้งนี้ Malware ที่ว่าอาจอยู่ในคอมพิวเตอร์ส่วนตัวของเรา โดยแฝงมากับการดาวน์โหลดซอฟต์แวร์ เพลงหรือหนังแบบละเมิดลิขสิทธิ์จากเว็บไซต์ต่างๆ หรือไฟล์รูปภาพในอีเมลก็เป็นได้ครับ


 วิธีป้องกันคือ
              • หลีกเลี่ยงการทำธุรกรรมการเงินด้วยการเชื่อมต่อเครือข่ายไร้สายที่ให้บริการฟรีตามร้านค้าหรือที่สาธารณะ (Public Wi-Fi) 
              • หลีกเลี่ยงการใช้คอมพิวเตอร์สาธารณะ
              • หลีกเลี่ยงการดาวน์โหลดซอฟต์แวร์หรือไฟล์จากแหล่งผิดกฎหมาย
              • ติดตั้งซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัสที่ถูกกฎหมาย และอัปเดตอย่างสม่ำเสมอ

          นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงที่เกิดจากตัวเราเอง เช่น การตั้งชื่อผู้ใช้งานและรหัสผ่านสำหรับทำธุรกรรมการเงินแบบเดียวกับที่ใช้ในอีเมลหรือเว็บไซต์ขายสินค้าหรือบริการต่างๆ หรือการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวตามเว็บบอร์ดหรือเว็บไซต์ซื้อขายสินค้าหรือบริการทั่วไป ซึ่งกรณีนี้เราสามารถป้องกันได้โดยการเปลี่ยนรหัสผู้ใช้งานในการทำธุรกรรมการเงิน และหลีกเลี่ยงการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวตามเว็บบอร์ด หรือเว็บไซต์สมัครสมาชิกต่างๆ ที่มีความน่าเชื่อถือน้อย

การใช้โมบายแบงก์กิ้ง (ทำธุรกรรมผ่านแอปพลิเคชันทางโทรศัพท์มือถือ)
              สำหรับการทำธุรกรรมการเงินบนมือถือผ่านแอปพลิเคชันของสถาบันการเงินนั้นมีความปลอดภัยสูง เนื่องจากในการยืนยันตัวตนจะใช้ตัวเครื่องมือถือควบคู่ไปกับรหัส OTP (One-Time Password) ดังนั้น ความเสี่ยงหลักๆ ที่เกิดขึ้นจะมาจากการที่เราทำโทรศัพท์มือถือหาย ทำให้มิจฉาชีพสามารถเข้าไปดูข้อมูลต่างๆ ได้นั่นเองครับ
 
 วิธีป้องกันคือ
              • ป้องกันระดับตัวเครื่อง ด้วยการตั้งรหัสผ่านในการเข้าใช้งานโทรศัพท์มือถือ และตั้งค่าให้ล็อคหน้าจออัตโนมัติ
              • ป้องกันระดับแอปพลิเคชัน ด้วยการตั้งรหัสผ่านที่คาดเดาได้ยาก คือไม่ใช้ตัวเลขซ้ำกัน ตัวเลขเรียงกัน เลขวันเดือนปีเกิด หรือเลขเบอร์มือถือ เป็นต้น
              • ระมัดระวังการทำธุรกรรมในที่สาธารณะ ซึ่งอาจมีคนอื่นแอบดูการกดรหัส
              • เมื่อทำธุรกรรมการเงินเสร็จแล้ว ควร logout ออกจากระบบทันที
              • ไม่ควรใช้งานอินเทอร์เน็ตด้วยเครือข่ายไร้สาย (Wi-Fi) เพราะมีความเสี่ยงในการถูกดักจับและขโมยข้อมูล
              • หากโทรศัพท์หายควรแจ้งธนาคารเพื่อยกเลิกการใช้บริการระบบโมบายแบงก์กิ้ง

          เมื่อรู้ถึงความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้นจากการใช้งานอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้งและโมบายแบงก์กิ้งในการทำธุรกรรมการเงิน และรู้วิธีป้องกันแล้ว หากได้นำไปใช้จริงน่าจะช่วยให้ผู้ใช้งานมีความมั่นใจในความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม เราเองในฐานะผู้ใช้งานก็ไม่ควรประมาท เมื่อทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ใดๆ ก็ตาม ควรใส่ใจระมัดระวัง และตรวจเช็กความถูกต้องของการทำธุรกรรมทุกครั้งก่อนยืนยันการทำรายการ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการปกป้องทรัพย์สินของเรานั่นเองครับ


ให้คะแนนบทความ

ฝ่ายพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้า

ธนาคารกสิกรไทย