18 มี.ค. 62

PVD มีดี มากกว่าที่คิด

คะแนนเฉลี่ย

เกษียณ

​​​​PVD มีดี มากกว่าที่คิด

          กองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือที่เรียกสั้นๆ ว่า PVD นั้น หลายคนอาจจะไม่ค่อยนึกถึงหรือให้ความสำคัญกับสิ่งนี้สักเท่าไหร่ ทั้งๆ ที่ PVD นั้น มีความสำคัญและมีประโยชน์กับเราอย่างมาก แต่กว่าที่เราจะเห็นถึงประโยชน์ก็อาจจะเป็นตอนที่เราอยู่ในช่วงท้ายของชีวิตการทำงานแล้ว จะดีกว่าไหม ถ้าเราหันมาให้ความสำคัญและบริหารจัดการให้เงินใน PVD ของเราเริ่มทำงานตั้งแต่วันนี้ รายละเอียดจะเป็นอย่างไร K-Expert มีคำแนะนำในเรื่องนี้มาฝาก​


• ก่อนอื่นผู้เขียนมีเรื่องเกี่ยวกับการลงทุนใน PVD มาเล่าให้ฟังค่ะ 
          o เนื่องจากช่วงเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา ผู้เขียนทำงานบริษัทและได้มีการหักเงินเดือนส่วนหนึ่งเข้าไปเก็บสะสมไว้ใน PVD มาตลอดและเป็นการสะสมเงินในลักษณะขั้นบันได(ทยอยเพิ่มอัตราสะสมตามอายุงาน) ซึ่งผู้เขียนก็สะสมไป แต่ไม่เคยสนใจมาก่อนว่ากองทุนเอาเงินไปลงทุนอะไร จะได้รับผลตอบแทนเท่าไหร่ จนกระทั่งได้ยินเพื่อนๆ บ่นว่า “ทำไมปีนี้ได้กำไรน้อยลง” ผู้เขียนจึงถามว่า ทำไมแต่ละปีถึงได้กำไรมากน้อยแตกต่างกัน จึงได้คำตอบว่า การที่เราหักเงินไปเก็บสะสมทุกเดือนใน PVD นั้น สามารถนำไปลงทุนในนโยบายการลงทุนแบบอื่นๆ นอกจากตราสารหนี้ได้ด้วย เช่น ตราสารทุน เหมือนกับเพื่อนที่เลือกนโยบายการลงทุนในตราสารทุนแล้วกองทุนทำกำไรให้ โดยบางปีกำไรสูงถึง 10% ด้วยกัน ในขณะที่ผู้เขียนเพิ่งมาทราบภายหลังว่าลงทุนในตราสารหนี้นั้นได้กำไรเฉลี่ยแล้วแค่ปีละประมาณ 2%-3% เท่านั้นเอง ทำให้จำนวนเงินสะสมของผู้เขียนและเพื่อนมีความแตกต่างกันอย่างมาก นี่จึงเป็นเรื่องหนึ่งที่ทำให้ผู้เขียนเห็นว่าการสะสมเงินใน PVD นั้น เราสามารถบริหารให้เงินเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับเงินสะสมในช่วงบั้นปลายชีวิตของเรา


          o แล้วคุณทราบหรือไม่ว่าในระหว่างทางที่เราเก็บเงินสะสมเข้าไปทุกเดือนๆ นั้น เงินของเราไม่ได้ถูกเก็บไว้เฉยๆ เพราะเงินส่วนนี้จะถูกนำไปลงทุนตามนโยบายการลงทุนที่เราได้เลือกไว้ โดยมีผู้จัดการกองทุนซึ่งเป็นมืออาชีพเป็นผู้บริหารจัดการเงินลงทุนให้เรา ซึ่งในปัจจุบันหลายบริษัทได้เปิดโอกาสให้ลูกจ้างได้เลือกรูปแบบหรือนโยบายการลงทุนที่เรียกว่า “Employee’s Choice” ทำให้สามารถเลือกแผนการลงทุนได้ว่าจะให้มีสัดส่วนของสินทรัพย์ลงทุนเท่าไหร่บ้าง โดยหลักๆ แล้วจะมีการลงทุนทั้งหมด 3 รูปแบบด้วยกันคือ เน้นลงทุนในตราสารทุน เน้นลงทุนในตราสารหนี้ และลงทุนผสมระหว่างตราสารทุนและตราสารหนี้ แต่จากสถิติที่ผ่านมาการลงทุนในตราสารทุนมักจะให้ผลตอบแทนในกรณีที่ถือลงทุนระยะยาวได้สูงสุด แต่ก็มีโอกาสขาดทุนได้สูงเช่นกัน​


​         o สำหรับอาวุธลับที่ทำให้เงินสะสมใน PVD มีโอกาสถึงเป้าหมายสูงขึ้นนั้น การเลือกสะสมต่อเดือนให้เหมาะสม โดยเราสามารถสะสมได้ตั้งแต่ 2%-15% ของเงินเดือนขึ้นกับนายจ้าง เมื่อพิจารณาจากรายรับรายจ่ายแล้ว แนะนำให้สะสมเงินใน PVD ให้มากที่สุดเท่าที่เราจ่ายไหว เพราะจะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้เราสะสมเงินได้มากและมีเงินเก็บเพียงพอไว้ใช้ในวัยเกษียณ


          • ประโยชน์ของ PVD มีอะไรบ้าง
               o สร้างวินัยการเก็บเงินอย่างสม่ำเสมอแบบกึ่งบังคับนิดๆ เพื่อไว้ใช้ในยามเกษียณ 
               o เงินเก็บของเราได้รับการบริหารจัดการโดยมืออาชีพ
               o ใช้เป็นค่าลดหย่อนทางภาษีได้​


          • ในส่วนของสิทธิประโยชน์ทางภาษีของ PVD นั้นมีดังนี้
               • 1. เงินสะสมที่เราจ่ายไปทุกเดือนสามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15% ของเงินเดือน และสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท 
               • 2. เงินที่เราได้รับจากกองทุน ส่วนที่เป็นเงินสะสมจะได้รับยกเว้นภาษี แต่สำหรับเงินสมทบ ผลประโยชน์เงินสะสม และผลประโยชน์เงินสมทบนั้น จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีก็ต่อเมื่อออกจากงานเมื่อมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และอายุงาน 5 ปีขึ้นไป
               • กรณีออกจากงานก่อนอายุ 55 ปี จะเลือกขอคงเงิน หรือผลประโยชน์นั้นไว้ทั้งจำนวนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ(ขึ้นอยู่กับนายจ้าง) หรือโอนไปยังกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพสำหรับ PVD เพื่อรออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์
               • นอกจากเงินสะสมของเราแล้ว นายจ้างเองก็จ่ายเงินสมทบร่วมด้วยในทุกเดือนเช่นกัน ซึ่งถือเป็นสวัสดิการที่นายจ้างมอบให้แก่ลูกจ้าง ส่วนนายจ้างจะจ่ายเงินสมทบให้ลูกจ้างเท่าไร ขึ้นอยู่กับนโยบายของบริษัท เงินในส่วนนี้จึงเป็นเงินเก็บที่ในบางครั้งเราอาจจะลืมไปว่าสามารถกลายมาเป็นเงินก้อนใหญ่ก้อนหนึ่งที่จะเอาไว้ใช้ในอนาคตได้​


          จะเห็นได้ว่า เงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้นเป็นเงินก้อนหนึ่งที่เราไม่ควรละเลยที่จะกลับมาทบทวนการลงทุนในทุกๆ ปี รวมถึงทุกช่วงอายุของเราที่เปลี่ยนแปลงไปทุกๆ ปีด้วย เพื่อไม่ให้เสียโอกาส เสมือนกับเรามีการปรับเปลี่ยนพอร์ตการลงทุนของเราเวลาที่นำเงินไปลงทุนในช่องทางอื่นๆ และยังเป็นตัวช่วยในการเก็บเงินสม่ำเสมอได้เป็นอย่างดี เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่ลืมที่จะบริหารเงินทุกๆ ส่วนให้มีประสิทธิภาพสูงสุดก็จะทำให้เป้าหมายการเก็บเงินเพื่อเอาไว้ใช้ตอนเกษียณของเราประสบความสำเร็จได้


บทความที่เกี่ยวข้อง :

ดีอย่างไรเมื่อออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ​

เก็บเงินผ่าน PVD และ RMF พอหรือไม่สำหรับใช้ในยามเกษียณ


ให้คะแนนบทความ

ปณิดา ถีนานนท์

ฝ่ายพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้า ธนาคารกสิกรไทย