03 ก.ย. 62

3 สัญญาณเตือนว่าธุรกิจอาจมีปัญหา

คะแนนเฉลี่ย

สินเชื่อ/ธุรกิจ

​3 สัญญาณเตือนว่าธุรกิจอาจมีปัญหา


          การขอสินเชื่อสามารถใช้เป็นเงินทุนในการต่อยอดทางธุรกิจได้ในภาวะเศรษฐกิจที่รุ่งเรือง อย่างไรก็ตาม จะเป็นภาระทางการเงินในช่วงที่ธุรกิจซบเซาได้เช่นกัน ดังนั้น สินเชื่อมีประโยชน์เพื่อเพิ่มอัตราการสร้างกำไรให้ธุรกิจ แต่ก็เป็นภาระได้เช่นกัน ในฐานะผู้ประกอบการควร สังเกต! สัญญาณเตือนธุรกิจอะไรบ้างที่ธุรกิจอาจเริ่มส่อเค้ามีปัญหา


1. สัญญาณจากการบริหารสินทรัพย์หมุนเวียน 

          สัญญาณเตือนแรก เป็นสัญญาณเตือนที่เห็นอยู่เป็นประจำและต้องหมั่นตรวจสอบความผิดปกติอยู่เสมอ โดยสินทรัพย์หมุนเวียนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจคงหนีไม่พ้น 2 ปัจจัย ดังนี้

          1.1 การเรียกเก็บลูกหนี้การค้า 
          เนื่องจากลูกหนี้การค้าเป็นแหล่งเงินทุนจมของกิจการ ดังนั้น ในการบริหารสินทรัพย์หมุนเวียนที่ดี ควรจะจัดเก็บลูกหนี้การค้าให้ได้สม่ำเสมอ และบริหารระยะเวลาค้างของลูกหนี้ ซึ่งภาษาวิชาการคือ Aging ของลูกหนี้ให้มีอยู่ในระดับที่เหมาะสม เทคนิคที่ช่วยในการบริหารลูกหนี้คือ การให้ส่วนลดสำหรับลูกหนี้การค้าที่จ่ายคืนเร็วหรือตามกำหนด เพื่อให้บริหารลูกหนี้การค้าได้เหมาะสมขึ้น และจัดการลูกหนี้การค้าที่มีระยะเวลาค้างนานต่อไป

          1.2 การระบายสินค้าคงเหลือ 
          โดยเฉพาะธุรกิจเกี่ยวกับแฟชั่น หรือสินค้าที่ล้าสมัยได้เร็ว ควรจะใช้หลัก First In First Out : FIFO หรือ สินค้าที่เข้าก่อน ระบายสินค้าออกก่อน เพื่อให้ระบายสินค้าที่มีโอกาสล้าสมัยออกไปก่อน และลดโอกาสในการด้อยค่าจากสินค้าคงเหลือที่มาจากสินค้าล้าสมัยได้

          อย่างไรก็ตาม การบริหารลูกหนี้การค้า และสินค้าคงเหลือเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำอยู่เป็นประจำอยู่แล้ว หรือหากมีสัญญาณจาก กำไร (ก่อนดอกเบี้ย) ไม่เพียงพอต่อดอกเบี้ยจ่ายในแต่ละงวด ซึ่งเป็นตัวบ่งบอกที่ชัดเจนว่า กิจการกำลังจะเริ่มมีปัญหาในการชำระหนี้ โดยอาจมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการบริหารสินทรัพย์หมุนเวียน

2. สัญญาณจากภาวะเศรษฐกิจ หรือการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรม 

          ถึงแม้สัญญาณเตือนนี้จะควบคุมเองได้ยาก ก็ควรระมัดระวังการดำเนินธุรกิจหรือการใช้สินเชื่อในภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา หรืออุตสาหกรรมเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้กระทบกับกำไร หรือความสามารถในการชำระหนี้ของกิจการได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงินทุนของกิจการด้วยว่ามีสายป่านยาวมากน้อยเพียงใด จึงควรหมั่นติดตามภาวะการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมด้วย เพื่อให้ปรับตัวได้ทันเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น

3. สัญญาณจากความสัมพันธ์ของผู้เกี่ยวข้องในธุรกิจ 

          ฟังดูไม่น่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำให้ธุรกิจมีปัญหาค้างชำระเลย อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งกันระหว่างผู้เกี่ยวข้องในธุรกิจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ธุรกิจหรือสินเชื่อที่มีอยู่เกิดปัญหาขึ้นได้ เช่น นาย ก. เป็นผู้มีอำนาจจัดการธุรกิจใน บริษัท A จำกัด แต่นาย ข. เป็นเจ้าของหลักประกัน ต่อมาทั้ง 2 คน เกิดความขัดแย้งกันขึ้น จึงนำไปสู่ธุรกิจที่มีปัญหาได้ เนื่องจากต่างฝ่ายต่างคิดว่า ธุระไม่ใช่ นาย ก. ก็ไม่เดือดร้อน เนื่องจากหลักประกันไม่ใช่ของตนเอง ในขณะที่นาย ข. ก็อ้างว่า ตนเองไม่ได้นำเงินไปใช้ ส่งผลให้บริษัท A จำกัด มีปัญหาด้านสินเชื่อกับธนาคารได้ในที่สุด เทคนิคที่ช่วยได้คือ สร้างสมดุลในเรื่องผลประโยชน์ให้มากที่สุด เช่น ถ้าบริษัท A จำเป็นต้องใช้หลักประกัน ก็ควรเป็นกรรมการ หรือผู้มีอำนาจจัดการกิจการเป็นเจ้าของหรือเป็นผู้วางหลักประกัน เพื่อให้มีส่วนได้ส่วนเสียกันอย่างสมดุลได้

          จาก 3 สัญญาณเตือนนั้นเป็นสิ่งเตือนล่วงหน้าว่า กิจการกำลังจะมีปัญหาถึงขั้นจ่ายหนี้ไม่ไหว โดยสามารถขอปรับโครงสร้างหนี้ได้ เช่น ขอปรับจากหนี้สินหมุนเวียน (ระยะสั้น) ให้เป็นหนี้สินระยะยาว ขอปรับภาระการผ่อนชำระลง เพื่อให้สามารถผ่อนชำระได้ไหว ขอตั้งพักดอกเบี้ยค้าง เพื่อชำระหนี้จากดอกเบี้ยใหม่และเงินต้นได้ ทั้งนี้ เมื่อกิจการกำลังจะมีปัญหาการชำระหนี้คืน สามารถติดต่อสถาบันการเงินได้ตลอดเวลา เพื่อขอเจรจาต่อรองเงื่อนไข ก่อนที่จะค้างชำระนานกว่านี้ โดยแต่ละธนาคารอาจมีเงื่อนไขและขั้นตอนที่แตกต่างกัน

บทความที่เกี่ยวข้อง:​​


ให้คะแนนบทความ

สุนิติ ถนัดวณิชย์ CFP®

ฝ่ายพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้า ธนาคารกสิกรไทย