18 พ.ค. 64

ประกันแพ้วัคซีนโควิด-19 เลือกยังไงให้ชนะ

คะแนนเฉลี่ย

ประกัน

​​​​​ประกันแพ้วัคซีนโควิด-19 เลือกยังไงให้ชนะ​​


          สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในบ้านเรายังไม่น่าไว้วางใจ แม้ว่าจะมีคนไทยบางส่วนได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปบ้างแล้วก็ตาม ซึ่งจากข้อมูลของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ณ วันที่ 15 พฤษภาคม 2564 มีการฉีดวัคซีนไปแล้ว 2,242,150 โดส โดยมีผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 1,462,762 ราย และเข็มที่ 2 จำนวน 779,388 ราย แต่ถือว่ายังเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับประชากรทั้งประเทศ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีแผนการฉีดวัคซีนระยะที่ 2 ในเดือน มิ.ย.-ก.ค. 2564 สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ป่วย 7 กลุ่มโรค และระยะที่ 3 ใน เดือน ส.ค. 2564 สำหรับประชาชนทั่วไป หากใครได้ตามข่าวจะเห็นว่าหลายคนมีความกังวล ซึ่งหากกังวลใจว่าเมื่อเราหรือคนในครอบครัวได้รับวัคซีนแล้วจะมีอาการแพ้หรือไม่ และควรวางแผนรับมือกับความเสี่ยงนี้อย่างไร K-Expert มีคำแนะนำมาฝาก  

อาการแพ้วัคซีนโควิด-19 เป็นอย่างไร

          ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับอาการแพ้วัคซีนโควิด-19 กันก่อนว่าเป็นอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า อาการไม่พึงประสงค์หลังได้รับวัคซีนแบ่งเป็น 2 ระดับคือ
               1. อาการไม่รุนแรง ได้แก่ มีไข้ต่ำ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย และปวดบริเวณที่ฉีด โดยอาการเหล่านี้จะหายได้ภายใน 1-2 วัน
               2. อาการรุนแรง ได้แก่ มีไข้สูง แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ปวดศีรษะรุนแรง ปากเบี้ยว กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีจุดเลือดออกจำนวนมาก ผื่นขึ้นทั้งตัว อาเจียนมากกว่า 5 ครั้ง ชัก และหมดสติ
          ดังนั้น เมื่อได้รับการฉีดวัคซีนแล้วต้องเฝ้าระวังอาการหลังฉีด 30 นาที เพื่อดูว่ามีการแพ้วัคซีนหรือไม่


​ใครมีความเสี่ยงที่จะแพ้วัคซีนโควิด-19

          ข้อมูลจากรายงานภาวะแพ้จากการฉีดวัคซีน Pfizer-BioNTech เข็มแรกในสหรัฐอเมริกา พบว่า ผู้ที่เกิดภาวะแพ้รุนแรงนั้น ได้แก่
               1. ผู้ที่มีประวัติแพ้ยา อาหาร หรือแมลงกัดต่อย
               2. ผู้ที่มีประวัติแพ้รุนแรง รวมผู้ที่เคยแพ้วัคซีนพิษสุนัขบ้าและวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 
          ดังนั้น คนที่รู้ตัวว่าตัวเองมีประวัติแพ้เหล่านี้มาก่อนควรสังเกตอาการของตัวเองอย่างใกล้ชิดหลังได้รับการฉีดวัคซีน

รู้จักแบบประกันแพ้วัคซีนโควิด-19 

          เมื่อคนไทยส่วนใหญ่กำลังจะได้รับการฉีดวัคซีนในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า บริษัทประกันวินาศภัยหลายแห่งก็ได้ออกแบบประกันแพ้วัคซีนโควิด-19 เพื่อให้ความคุ้มครองสำหรับผู้ที่มีความกังวลใจเรื่องนี้ ซึ่งมีทั้งแบบเดี่ยว คือ ให้ความคุ้มครองเฉพาะการแพ้วัคซีนโควิด-19 และแบบที่แพ็คคู่มากับประกันโควิด คือ ให้ความคุ้มครองการติดโควิดและกรณีที่ได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 นอกจากนี้ บางบริษัทประกันยังให้ความคุ้มครองฟรีกรณีแพ้วัคซีนโควิด-19 แก่ลูกค้าที่ต่ออายุกรมธรรม์โควิดและลูกค้ารายใหม่อีกด้วย
          สำหรับความคุ้มครองของประกันแพ้วัคซีนโควิด-19 ที่พบในตลาดได้แก่
               - เจอ แพ้ จ่าย คือ ผลประโยชน์กรณีได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยได้รับวงเงินคุ้มครอง 
               - ค่ารักษาพยาบาล คือ ผลประโยชน์ค่ารักษาพยาบาลกรณีได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ซึ่งมีทั้งแบบผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก
               - ภาวะโคม่า คือ ผลประโยชน์ภาวะโคม่ากรณีได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 
               - เงินปลอบขวัญ คือ ผลประโยชน์กรณีเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 วัน เมื่อได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนโควิด-19
               - เงินชดเชยรายวัน  คือ ผลประโยชน์เงินชดเชยรายวันจากการเข้าพักรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในกรณีได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนโควิด-19  



         สำหรับอายุรับประกันนั้นบริษัทประกันวินาศภัยส่วนใหญ่จะรับประกันตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 99 ปี โดยมีระยะเวลาคุ้มครอง 1 ปี



เลือกแบบประกันแพ้วัคซีนโควิด-19 อย่างไรให้เหมาะกับตัวเอง 

          สำหรับผู้ที่กังวลใจและต้องการวางแผนรับมือกับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการแพ้วัคซีนโควิด-19 นั้น ขอแนะนำวิธีเลือกแบบประกันแพ้วัคซีนโควิด-19 ดังนี้
          - เช็กแบบประกันโควิดที่มี 
               ลองเช็กดูก่อนว่าแบบประกันโควิดที่มีอยู่นั้นใกล้จะหมดอายุกรมธรรม์แล้วหรือยัง หากใกล้จะหมดอายุแล้วอาจ
พิจารณาต่ออายุกรมธรรม์ กรณีที่บริษัทประกันให้ความคุ้มครองฟรีเมื่อแพ้วัคซีนโควิด-19 แต่หากบริษัทประกันไม่ให้ความคุ้มครองฟรีในเรื่องนี้ อาจพิจารณาทำประกันโควิดฉบับใหม่ โดยเลือกแบบประกันโควิดที่ให้ความคุ้มครองกรณีได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ด้วย ส่วนคนที่ประกันโควิดยังไม่หมดอายุ อาจพิจารณาเลือกซื้อเฉพาะประกันแพ้วัคซีนโควิด-19 เพิ่มเติมได้
          - เช็กความต้องการ ทั้งรูปแบบความคุ้มครองและวงเงิน
               เมื่อต้องการเลือกซื้อประกันแพ้วัคซีนโควิด-19 ถามตัวเองว่าเราต้องการผลประโยชน์ความคุ้มครองในเรื่องใดบ้าง และต้องการวงเงินคุ้มครองจำนวนเท่าไหร่ เช่น ต้องการเฉพาะค่ารักษาพยาบาล หรือต้องการแบบที่เจอ แพ้ จ่ายด้วย ต้องการผลประโยชน์เงินชดเชยรายวันด้วยไหม วันละเท่าไหร่ หากเป็นมนุษย์เงินเดือน มีรายได้ประจำอาจไม่จำเป็นต้องซื้อแบบที่มีเงินชดเชยรายวัน แต่หากทำอาชีพอิสระ ไม่มีรายได้ประจำ เมื่อต้องนอนโรงพยาบาลจะขาดรายได้ จึงจำเป็นต้องซื้อแบบที่มีเงินชดเชยรายวันด้วยนั่นเอง

คนที่ยังไม่มีประกันสุขภาพ ควรตัดสินใจยังไงดี  
          สำหรับคนที่ยังไม่มีประกันสุขภาพในสถานการณ์โควิดแบบนี้อาจจะตัดสินใจไม่ถูกว่าควรจะทำเฉพาะประกันโควิดหรือ ประกันแพ้วัคซีนโควิด-19 หรือควรทำประกันสุขภาพไปเลยทีเดียว มีทางเลือกแนะนำดังนี้   
          - หากจ่ายเบี้ยไหว แนะนำให้ทำประกันสุขภาพก่อน เพราะให้ความคุ้มครองครอบคลุมทั้งเรื่องโควิดและการแพ้วัคซีน ซึ่งต้องไม่ลืมว่า หลังจากทำประกันสุขภาพไปแล้ว ประกันยังไม่คุ้มครองทันทีเนื่องจากมีระยะเวลารอคอย 30 วันสำหรับโรคทั่วไป ส่วนโรคร้ายแรงอาจมีระยะเวลารอคอยถึง 90 วัน หากวางแผนไปฉีดวัคซีนหลังทำประกันสุขภาพ ควรรอให้พ้นระยะเวลารอคอยนี้ก่อน  
          - หากยังไม่พร้อมทำประกันสุขภาพตอนนี้ แต่มีความกังวลใจ แนะนำให้ซื้อเฉพาะประกันโควิดหรือประกันแพ้วัคซีนโควิด-19 เพราะค่าเบี้ยไม่แพง ซึ่งโดยปกติประกันโควิดจะมีระยะเวลารอคอย 14 วันถึงเริ่มคุ้มครอง ส่วนประกันแพ้วัคซีนโควิด-19 แนะนำให้ซื้อก่อนฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 วัน ดังนั้น อย่าลืมศึกษารายละเอียดเงื่อนไขให้เข้าใจก่อนตัดสินใจเลือกแบบประกันที่ตอบโจทย์ความต้องการ และหากเลือกวิธีนี้ต้องระวังว่า เมื่อสุขภาพไม่ดีหรือมีโรคเกิดขึ้นแล้ว ถ้าต้องการทำประกันสุขภาพ บริษัทประกันอาจพิจารณารับประกันแบบเพิ่มเบี้ย รับแบบยกเว้นโรคที่เป็นมาก่อน หรือไม่รับประกันเลยก็เป็นได้

          ​นอกจากนี้ ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้เตรียมแนวทางช่วยเหลือกรณีที่คนไทยได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ไว้ด้วยเช่นกัน โดยจะจ่ายเงินชดเชยในกรณีบาดเจ็บ/เจ็บป่วยต่อเนื่อง ไม่เกิน 100,000 บาท กรณีเสียอวัยวะ/พิการ ไม่เกิน 240,000 บาท และกรณีเสียชีวิต/ทุพพลภาพถาวร ไม่เกิน 400,000 บาท อยากให้ลองพิจารณาดูว่าตรงกับความต้องการและเพียงพอแล้วหรือไม่ หากได้รับผลกระทบจากการแพ้วัคซีนโควิด-19 ขึ้นมา  

          ด้วยสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นนี้ทำให้เราต้องใช้ชีวิตแบบ New Normal กันต่อไป หากทุกคนร่วมมือร่วมใจ ดูแลตัวเอง และคนในครอบครัวเป็นอย่างดี มีความรับผิดชอบต่อสังคม รวมถึงหาวิธีป้องกันและรับมือกับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เชื่อว่าอีกไม่นานทุกอย่างจะกลับสู่ภาวะปกติ แล้วเราจะผ่านเรื่องนี้ไปได้ด้วยกัน



​ที่มา: 

ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง: 



ให้คะแนนบทความ

สุวิมล ยิ่งเจริญรุ่งโรจน์ AFPT

ฝ่ายพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้า ธนาคารกสิกรไทย