พลิกมุมคิดธุรกิจแบรนด์เก๋า
ตำนานบทใหม่
“นันยาง 70 ปี”
ในวิถีคน Gen3
คุณจักรพล จันทวิมล
กรรมการผู้จัดการ
บริษัท นันยางมาร์เก็ตติ้ง จำกัด
24 พฤษภาคม 2566
การเดินทางอันยาวนานของรองเท้าผ้าใบนันยาง และรองเท้าแตะสุดคลาสสิคอย่าง ตราช้างดาว ที่อยู่คู่กับคนไทยมากว่า 70 ปี จากรุ่นบุกเบิกจนมาถึงเจนเนอเรชันที่ 3 ภายใต้การนำ
ของ “จักรพล จันทวิมล” ซึ่งวันนี้ได้มาเผยเรื่องหลังบ้านของครอบครัวนันยาง
ในการรับ-ส่งธุรกิจอย่างไร? ถึงไม่สะดุด! และพร้อมจะส่งไม้ต่อให้กับทายาทรุ่นต่อไปได้อย่างมั่นคง
กดที่รูปเพื่อขยายตาราง
นันยาง ธุรกิจกงสีของครอบครัวใหญ่
นันยาง ก่อตั้งโดยคุณวิชัย-คุณบุญสม ซอโสตถิกุล ถือเป็นรุ่นบุกเบิก เริ่มต้นการนำเข้ารองเท้าจากสิงคโปร์มาขาย
ขายดีมากจนตัดสินใจซื้อแบรนด์และโนฮาวทั้งหมดมาผลิตที่ประเทศไทย และกลายเป็นนันยางอย่างที่ทุกคนรู้จักกันดี
- คุณวิชัยและคุณบุญสม มีลูกทั้งหมด 9 คน รุ่นหลานซึ่งเป็นเจนเนอเรชันที่ 3 มี 24 คน และปัจจุบันรุ่น 4 มีทายาทกว่า 30 คน เรียกว่าเป็นครอบครัวใหญ่
- จักรพล ถือเป็นน้องคนเล็กสุดของรุ่น 3 ซึ่งวันนี้กำลังทำหน้าที่นำพาธุรกิจนันยางให้เดินไปข้างหน้า
- การสืบทอดในธุรกิจครอบครัว ค่อนข้างอิสระ สามารถเลือกได้จะทำที่บ้าน หรือประกอบอาชีพตามความถนัด แต่อย่างน้อยก็มีบทบาทเป็นผู้ถือหุ้น
กฎครอบครัว เริ่มต้นหาประสบการณ์จากภายนอก
สำหรับจักรพล หลังจากเรียนจบคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มทำงานแรกด้วยการเป็นพนักงานขาย ของบริษัท เอสซีจี เปเปอร์ จำกัด (มหาชน)
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตนเองไม่มีความคิดจะทำงานที่บ้านตั้งแต่แรก
ขณะเดียวกันครอบครัวเองก็ไม่ให้ทำด้วย เนื่องจากครอบครัวมีความคิดว่าใครที่จะทำงานที่บ้านควรมีประสบการณ์ทำงานจากภายนอก 2-3 ปีก่อน เพื่อจะได้เรียนรู้ระบบการทำงานต่างๆ
- 2 ปีกับการทำงานในเอสซีจี เปเปอร์ ได้เรียนรู้การดูแลลูกค้า ระบบการทำงานระหว่างเพื่อนร่วมงาน หัวหน้า
ผู้จัดการ - จากนั้นไปเรียนต่อปริญญาโทด้าน Marketing Communication ที่ประเทศอังกฤษ 1 ปี ตั้งใจจะกลับมาทำงานด้านเอเจนซี่โฆษณา แต่สุดท้ายก็กลับไปทำงานที่นันยางในปี 2553
กลับสู่ธุรกิจครอบครัวในฐานะ Professional
การกลับไปทำธุรกิจครอบครัว โดยเฉพาะของนันยาง จะมี 2 Position ด้วยกัน คือ 1. ผู้บริหาร กับ 2. พนักงาน ณ วันนั้นจักรพลเข้าไปในฐานะเจ้าหน้าที่การตลาด เป็นระดับพนักงานทั่วไป
- เวลานั้นนันยางเป็นระบบบริษัทแล้ว ในสายงานมีลำดับขั้น มี Professional ทำงานร่วมกัน กว่าจะไปถึง MD ถึงแม้จะเป็นคุณป้า แต่ก็ต้องผ่านหัวหน้า ผู้จัดการฝ่าย ผู้จัดการทั่วไป
ซึ่งจักรพลต้องเรียนรู้ว่าตนเองมีหน้าที่อะไร และต้องทำตามขั้นตอนของบริษัท - เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว งานด้านสื่อสารการตลาดยังไม่มีอะไรให้ทำมากนัก ในฐานะเจ้าหน้าที่การตลาดของจักรพลจึงไม่ค่อยได้ทำอะไร เลยต้องพยายามหาอะไรทำ ตรงนี้มองว่าเป็นจุดที่แตกต่างจาก Professional ทั่วไป คือ พนักงาน ถ้าไม่มีงานก็อยู่เฉยๆ แต่พนักงานที่มีหมวกอีกใบในฐานะลูกหลานเจ้าของ จึงมี Passion มากกว่าปกติ ต้องหาอะไรทำ ตอนนั้นมีสมัคร Facebook ให้บริษัท ทำเรื่องการสื่อสารด้วยอีเมล ถือเป็นอะไรที่ใหม่มาก ใช้เวลากว่า 3 เดือน ในการพูดคุยให้คนรุ่นก่อนเข้าใจเรื่องเหล่านี้
อยู่บ้านคือ ลูกหลาน ที่ทำงานคือ Professional
การทำงานกับคนในครอบครัวจำเป็นต้องแยกแยะให้ชัดเจน หลายธุรกิจครอบครัวมักทำพลาดกับเรื่องนี้
- บ้านคือบ้าน ไม่ควรคุยเรื่องงานที่บ้าน และโต๊ะกินข้าวคือเวลากินข้าว ฉะนั้น อย่าประชุมงานที่โต๊ะกินข้าว สิ่งที่ต้องทำคือ จัดตารางการประชุมอย่างเป็นประจำ เช่น ทุกวันจันทร์ 9 โมง มีใครต้องประชุมบ้าง นัดหมายให้เป็นระบบ
- สิ่งที่ทายาทต้องเข้าใจ คือ วันใดที่เข้ามาทำงานที่บ้าน วันนั้นคุณจะสิ้นสุดการเป็น “เจ้าของ” เพราะความหมายของเจ้าของ คือ ทำได้ทุกอย่าง แต่เมื่อคุณทำงานกับบริษัทที่บ้าน คุณไม่สามารถทำได้ทุกอย่าง นั่นเพราะมีระบบควบคุมอยู่ ไม่ว่าจะเป็น ระบบเถ้าแก่หรือระบบบริษัท
- กำหนดหน้าที่ให้ชัดเจน ให้ตำแหน่งกับลูกหลาน ไม่ว่าจะตำแหน่งใหญ่หรือเล็ก เพราะการให้ตำแหน่ง คือ การให้ความรับผิดชอบ
เสนอไอเดียใหม่แบบไม่ให้โดนปฏิเสธ
ทายาทหลายคนเจอปัญหาถูกปฏิเสธไอเดียหรือความคิดใหม่ๆ จากผู้บริหารรุ่นก่อน ทางออกของเรื่องนี้ทำได้ไม่ยาก
- หลีกเลี่ยงการเสนอไอเดียบนโต๊ะกินข้าว ทายาทส่วนใหญ่ใช้ความเป็นลูกหลานพูดคุยกันแบบสบายๆ เพราะคิดว่าจะจบได้ง่าย แต่ผลที่ได้มักจะตรงกันข้าม
- ให้นำเสนอไอเดียในห้องประชุม เตรียมข้อมูลการนำเสนอให้พร้อม ทำงานแบบมืออาชีพ ไอเดียเป็นอย่างไร มีกรอบเวลาการทำงานอย่างไร ใช้งบประมาณเท่าไร มีความเสี่ยงแค่ไหน ถ้าจะเจ๊ง เจ๊งได้เท่าไร เหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องนำเสนอให้ครบ เพื่อให้เกิดการตัดสินใจร่วมกัน
เดินเกมธุรกิจในแบบทายาทรุ่นที่ 3
จากพนักงานทั่วไปเรียนรู้และพิสูจน์ตัวเองจนก้าวขึ้นสู่ผู้บริหารระดับสูง วันนี้การนำทัพในแบบจักรพล คือ การมุ่งปรับภาพลักษณ์ให้นันยางดูสดใหม่ เน้นใช้ความคิดสร้างสรรค์มากกว่าทุ่มเงินลงทุน จะเห็นได้จากแคมเปญต่างๆ ที่มีทั้งการ Collabs และการจับกระแสฮิตมาพลิกเป็นยอดขาย อาทิ แบรนด์เก๋า ช้างดาวxห่านคู่ หรือการร่วมกับคนดัง แสตมป์ อภิวัช, หมู อาซาวา ศิลปินญี่ปุ่น หรือแคมเปญช้างดาวพริ้ง ที่กวาดยอดขายกว่า 1 แสนคู่ ใน 21 ชั่วโมง รวมถึงแคมเปญ Anti Bully Red Limited ฉลองแชมป์ให้หงส์แดง ธรรมศาสตร์-จุฬาฯ หรือแม้แต่การเจาะกลุ่มเป้าหมายใหม่ เช่น รองเท้าแตะช้างดาว ขาวล้วน ดำล้วน และสีน้ำตาลสำหรับพระสงฆ์
- การพัฒนาของนันยาง เกิดจากการเรียนรู้ข้อจำกัดของตัวเองและความล้มเหลวที่ผ่านมา ต้องเข้าใจตัวเองแล้วมองในมุมของสินค้าดูว่าตอบโจทย์ในสิ่งที่ลูกค้าอยากได้หรือไม่ ซึ่งการรู้จักลูกค้าเป้าหมายคือสิ่งสำคัญที่สุด สำหรับวิวัฒนาการของแบรนด์นันยาง มี 4 ยุคด้วยกัน
- 1.0 ยุค Functional โฆษณาสินค้าดี ทน มีคุณภาพอย่างไร
- 2.0 ยุค Emotional ขายอารมณ์ เก๋าตั้งแต่รุ่นพ่อ ทุกก้าวคือตำนาน
- 3.0 ยุค Platform เปรียบเป็นกระดาษ A4 อยากจะเขียนเติมอะไรลงไปก็ได้ สื่อสารว่านันยางทำอะไรก็ได้ จะ Collabs หรือปรับได้ในทุกรูปแบบ
- 4.0 ยุค Media นันยางคือสื่อที่พูดอะไรก็ได้ เช่น คนสนใจเรื่องการ Bully ในโรงเรียน นันยางก็สื่อสารเรื่องนี้ออกไปผ่านรองเท้า
ทิ้งท้ายเคล็ดลับ 4ร ส่งต่อธุรกิจจากรุ่น
สู่รุ่น
อยากให้การส่งไม้ต่อในธุรกิจครอบครัวทำได้อย่างราบรื่น จักรพลฝากแง่คิดทิ้งท้ายด้วย เคล็ดลับ 4ร ต่อไปนี้
- ระบุเป้าหมาย เพื่อให้เห็นทิศทางธุรกิจอย่างชัดเจน
- ระบบ ทำทุกอย่างให้เป็นระบบเพื่อง่ายต่อการส่งต่อ
- ระเบียบ ถึงเป็นคนในครอบครัวก็ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบบริษัท
- ระลึกถึงอดีต รุ่นผู้ใหญ่สร้างสิ่งดีไว้ เมื่อเข้ามาจะรักษาสิ่งดีต่ออย่างไรและเรื่องไหนควรปรับตามยุคสมัย