พลิกมุมคิด ธุรกิจแบรนด์เก๋า MTS Gold VS เต่าบิน
ต่อยอดความสำเร็จ
คิดแบบผู้บริหารรุ่นใหม่
คุณณัฐพงศ์ หิรัณยศิริ ประธานฝ่ายบริหาร MTS Gold Group แม่ทองสุก
คุณวทันยา อมตานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟอร์ท เวนดิ้ง จำกัด
23 สิงหาคม 2566
คนหนึ่งคือ “ทายาท” ที่กลับเข้ามารับช่วงกิจการของครอบครัวทันทีหลังเรียนจบ กับอีกคนคือ “ทายาท” ที่ออกไปหาประสบการณ์จากข้างนอกก่อนจะกลับมาสานต่อธุรกิจครอบครัว ความเหมือนที่แตกต่างของ 2 ทายาทธุรกิจ “MTS Gold Group แม่ทองสุก” และ “เต่าบิน” ที่จะเป็นอีกหนึ่งบทเรียนแห่งความสำเร็จกับวิธีคิดของคนรุ่นใหม่ในการนำพาความสำเร็จมาสู่ธุรกิจครอบครัว
ทายาทร้านทองตู้แดง...ผู้ปลุกปั้นธุรกิจ “โบรกเกอร์ซื้อ-ขายทอง”
กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ ณัฐพงศ์ หิรัณยศิริ ประธานฝ่ายบริหาร MTS Gold Group แม่ทองสุก ผ่านการลองผิดลองถูกมานับครั้งไม่ถ้วน เพราะหลังจากเรียนจบก็ก้าวเข้าสู่ธุรกิจครอบครัวทันที แม้จะอ่อนประสบการณ์ แต่ความตั้งใจที่มีเต็มร้อย เพราะโปรเจกต์ใหม่ที่ถูกมอบหมายให้ทำนั้น ถือเป็นบททดสอบของความเป็นทายาทธุรกิจได้อย่างดี
ย้อนไป 15 ปีก่อน ณัฐพงศ์เล่าว่า คุณพ่อมีความคิดอยากทำโปรเจกต์ Gold Futures ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ถือเป็นเรื่องใหม่และไกลตัวสำหรับร้านทองตู้แดงที่จะก้าวไปเป็นโบรกเกอร์ซื้อ-ขายทองคำ จึงชวนให้มาทำเพราะเขาเรียนจบสายการเงิน ทุกอย่างจึงเป็นการเริ่มต้นแบบเด็กจบใหม่ที่ไม่รู้อะไรเลย ไม่มีประสบการณ์การทำงานจากข้างนอกมาก่อน แต่ถือว่าโชคดีตรงที่เป็นเรื่องใหม่ ซึ่งที่บ้านเองก็รู้ในเรื่องนี้เพียงเล็กน้อย จึงได้มีโอกาสลองทำทุกอย่างที่อยากทำ
ณัฐพงศ์บอกว่าการที่จะทำให้พ่อแม่ยอมรับนั้น ต้องเริ่มจากการทำสิ่งเล็กๆ ให้สำเร็จ แล้วค่อยขยายไปสู่โปรเจกต์ที่ใหญ่ขึ้น เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ และสิ่งหนึ่งที่ได้เรียนรู้มาจากคุณบัณฑูร ล่ำซํา ที่เคยกล่าวไว้ นั่นคือ “อำนาจและการบริหาร ครอบครัวมอบให้ได้ แต่สิ่งที่มอบให้ไม่ได้ คือ บารมี” เมื่อบารมีให้กันไม่ได้ ต้องสร้างด้วยตัวเอง ดังนั้น การสร้างบารมีของณัฐพงศ์ จึงเน้นที่ Lead by Action ไม่ใช่การให้ทุกคนเคารพเพราะเป็นลูกเจ้าของ แต่เป็นการ “ทำ” ให้เห็นจนทุกคนเคารพ
ทายาทตู้บุญเติม...ผู้พัฒนาโซลูชันคาเฟ่อัตโนมัติ 24 ชม. “เต่าบิน”
“วทันยา อมตานนท์” รู้ตัวว่า ไม่อยากทำธุรกิจครอบครัว เพราะรู้สึกว่ายังไม่ใช่สิ่งที่อยากทำ หลังจากเรียนจบเธอจึงเลือกที่จะไปทำงานหาประสบการณ์ที่ต่างประเทศ จนกระทั่งช่วงโควิด ได้กลับมาอยู่ที่บ้าน ได้กลับมาเจอกับโปรเจกต์ “เต่าบิน” แม้จะยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง แต่กลับจุดประกายให้เธออยากทำโปรเจกต์นี้ ก่อนจะก้าวมาอยู่ในตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟอร์ท เวนดิ้ง จำกัด อย่างเช่นทุกวันนี้
“ตอนนั้นโปรเจกต์เต่าบิน ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างอะไรเลย มีแค่บอกว่าจะทำเป็นตู้ขายเครื่องดื่ม แต่เรารู้สึกว่าอยากทำเลยเริ่มคิดจากระบบข้างในตู้ที่ต้องทำได้มากกว่าตู้ทั่วไป ซึ่งจริงๆ แล้ว ตู้แบบนี้มันมีมานานแล้วเพียงแต่ไม่อร่อย โจทย์คือเราจะทำอย่างไรให้คนก้าวข้ามกำแพงความคิดที่ว่านี้และอยากลองเข้ามากดตู้เต่าบิน”
ด้วยความที่ธุรกิจครอบครัวมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีมา 30 กว่าปี ในฐานะเจนใหม่ที่เข้ามาจึงเป็นการเพิ่มเติม ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลง โดยมีการพัฒนาระบบ Machine Learning ที่จะมาช่วยให้ตู้เต่าบินมีความอัจฉริยะมากขึ้น ทำให้สามารถขายเครื่องดื่มในราคาที่ถูกลงและในรสชาติที่ดีขึ้นได้
ต่างวัย ต่างความคิด ทำอย่างไร? ให้ก้าวข้ามความขัดแย้ง
MTS Gold : ณัฐพงศ์ยกตัวอย่างให้ฟังเรื่องของการรีแบรนด์จาก “แม่ทองสุก” มาเป็น “MTS Gold” ทำให้เกิดความไม่เห็นด้วยของคนรุ่นก่อน เพราะรู้สึกว่านี่คือการไปเปลี่ยนแบรนด์ที่ใช้มา 30-40 ปี แต่ท้ายที่สุดก็หาจุดร่วมกันได้ โดยช่วงแรกในโลโก้จะมีแม่ทองสุกอยู่ด้านบน ส่วน MTS Gold อยู่ด้านล่าง พอแบรนด์เริ่มติดหูก็เปลี่ยนเอา MTS Gold มาอยู่ด้านบนแทน
“ปัญหาธุรกิจครอบครัว การโต้เถียงไม่ได้อยู่แค่ในห้องประชุม แต่จะอยู่ที่โต๊ะกินข้าวที่บ้านด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องระวัง เพราะอาจจะไปกระทบถึงความสัมพันธ์ในครอบครัวได้ ทางที่ดีควรแยกระหว่างการทำงานกับความเป็นครอบครัวออกจากกัน”
เต่าบิน : ระหว่างเธอกับคุณพ่อคือ “การเถียงกันจนกว่าจะชนะ” โดยยกตัวอย่างที่มากว่าจะเป็น “เต่าบิน” เนื่องจากของเดิมมีตู้ที่ชื่อ “บุญเติม” คุณพ่อเลยจะตั้งชื่อตู้กดเครื่องดื่มเป็น “เติมเต็ม” วทันยาให้เหตุผลว่า “ถ้าชื่อไม่แปลก ใครจะเข้ามากด
ลองดูไม่กี่ตู้ก่อน ถ้าไม่เวิร์กเดี๋ยวเปลี่ยนกลับมาชื่อเดิม” แน่นอนว่าวิธีการขอทดลองทำดูก่อน เริ่มจากทำเล็กๆ (Sandbox) เพื่อวัดผล จะช่วยให้เกิดการยอมรับได้ง่ายขึ้น และเต่าบินก็พิสูจน์ตัวเองได้ จนวันนี้ขยายไปแล้วกว่า 6,000 ตู้ด้วยกัน
“อย่างเรื่องประสบการณ์ที่เขามีมากกว่าเรา ยอมรับว่าเป็นเรื่องจริง โดยเฉพาะเรื่องคน คุณพ่อจะทันคนมากกว่าเรามากๆ ซึ่งสิ่งที่เขาแนะนำจะเป็นสิ่งที่เขาเจอมาก่อน พลาดมาก่อน ซึ่งเราต้องรับฟัง”
เปลี่ยนแปลงอะไร? เพื่อพาธุรกิจเดินไปข้างหน้า
MTS Gold : ธุรกิจหากจะเติบโต หนีไม่พ้นเรื่องของไอที ระบบหลังบ้าน ซึ่งณัฐพงศ์ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างมาก จนสามารถพัฒนาจากร้านทองตู้แดงธรรมดา กลายเป็นร้านทองที่มีการนำเอาระบบบล็อกเชน มาทำการซื้อ-ขายออมทอง ซึ่งปัจจุบันมีฐานลูกค้าในระบบกว่า 500,000 คน
“การพัฒนาเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ทำให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้เร็ว ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีจะเปลี่ยนเร็วมาก เราต้องเปลี่ยนให้เร็วเช่นกัน ซึ่งบางครั้งการพัฒนาเทคโนโลยีคนข้างในอาจจะไม่พอ การหาพาร์ตเนอร์มาช่วยเป็นสิ่งจำเป็น อย่างของเราจะหาพาร์ตเนอร์จากทั่วโลก เพราะแต่ละคนจะมีความเก่งและความเชี่ยวชาญที่ต่างกันออกไป”
เต่าบิน : วทันยาบอกว่าสิ่งที่ทายาทต้องคิดเสมอคือ อะไรเป็น Core Value ของธุรกิจครอบครัวเรา สิ่งที่ดีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องไปเปลี่ยนแปลง เพียงแค่คิดว่าเราจะเอาอะไรมาเติมเพื่อทำให้เกิดประโยชน์เพิ่มขึ้นได้
“การพัฒนาอย่างต่อเนื่องจะช่วยให้ธุรกิจแซงหน้าคู่แข่งได้ อย่างตู้เต่าบินออกแบบระบบหลังบ้านเพื่อรองรับกับการขยายธุรกิจมาตั้งแต่ต้น ในการดีไซน์ตู้เต่าบินทุกส่วนจะต้องออนไลน์ทั้งหมด มีระบบซอฟต์แวร์ควบคุม รวมถึงระบบการซ่อมบำรุงที่ทุกส่วนภายในตู้จะมี Status โชว์บอก หากตู้เสียหรือพัง ระบบจะแจ้งเตือนให้รู้แบบเรียลไทม์”
ชี้โอกาส! ต่อยอดธุรกิจแบบไหน? ให้เติบโต
MTS Gold : หากมองอนาคตในอีก 20-30 ปีข้างหน้า ณัฐพงศ์เชื่อว่า ธุรกิจที่จะไปต่อได้ต้อง “โกอินเตอร์” จะไม่ใช่แค่การขายในประเทศเท่านั้น แต่ต้องขายไปทั่วโลก โอกาสตรงจุดนี้อาจจะเป็นข้อดีสำหรับธุรกิจที่มี Gen 1 กับ Gen 2 เพราะสามารถแบ่งหน้าที่การทำงานที่ชัดเจน เช่น Gen 1 ทำตลาดในประเทศ ส่วน Gen 2 ไปขยายตลาดต่างประเทศ
เต่าบิน : วทันยาเห็นด้วยว่า การเติบโตของธุรกิจไม่ควรจำกัดแค่ในประเทศ เพราะตลาดโลกมีโอกาสเยอะมาก ซึ่งเต่าบินเองก็พัฒนาตัวเองเพื่อเตรียมจะขยายตลาดในต่างประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีการส่งออกตู้เต่าบินไปยังมาเลเซียและออสเตรเลียแล้ว
มองอนาคต รับเทรนด์ความยั่งยืนอย่างไร
เต่าบิน : เมื่อมองถึงเทรนด์ Sustainability หรือความยั่งยืน วทันยาบอกว่า เต่าบินให้ความสำคัญกับสิ่งนี้เป็นอย่างมาก ยกตัวอย่าง การต้มน้ำจะต้มเท่าที่ชง หรือน้ำแข็งจะทำเท่าที่ใช้ แม้แต่แก้วพลาสติกยังรีไซเคิลได้ 100% กระทั่งตัวซอฟต์แวร์ที่ช่วยจัดการสต็อก หรือวางเส้นทางเติมวัตถุดิบ นอกจากจะช่วยประหยัดน้ำมัน ซึ่งเป็นการลดต้นทุนทางธุรกิจแล้ว ยังช่วยเรื่องโลกร้อนอีกด้วย สำหรับเต่าบินแล้วความยั่งยืนถือว่าเป็น Core Value ของธุรกิจ โดยจะสื่อสารกับพนักงานมากขึ้นว่า Carbon Footprint ของเครื่องดื่มแต่ละแก้วที่ขายไปนั้น เมื่อเทียบกับคาเฟ่ทั่วไปถือว่าน้อยกว่ามาก ซึ่งเป็นการสร้างวัฒนธรรมองค์กรในอีกแบบหนึ่ง
MTS Gold : สำหรับเรื่องนี้ณัฐพงศ์คิดเห็นไม่ต่างกัน เพราะมองว่า เรื่องของ ESG หรือแนวคิดของการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนเป็นเทรนด์ที่มาอย่างแน่นอน MTS Gold จึงมุ่งเน้นการทำธุรกิจที่เป็นการรีไซเคิลได้ 100% รวมถึงการใช้พลังงานสะอาดอย่าง Solar Cell หรือ พลังงานแสงอาทิตย์ในโรงงาน ซึ่งนอกจากจะช่วยโลกแล้วยังสามารถลดต้นทุนให้ธุรกิจได้อีกด้วย ดังนั้น เพื่อก้าวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงหรือเทรนด์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ผู้ประกอบการต้องไม่หยุดที่จะเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา
จากเรื่องราวความสำเร็จที่เกิดขึ้นภายใต้การนำพาของ 2 ทายาทแบรนด์ดัง! สะท้อนได้อย่างดีว่า โอกาสย่อมเป็นของคนที่กล้าลองทำสิ่งใหม่ๆ แล้วธุรกิจครอบครัวของคุณล่ะ กล้าที่จะก้าวไปสู่สิ่งใหม่แล้วหรือยัง?