Sign In

KBank Private Banking
02-8888811

Market updates

หุ้นนอกตลาด...ลดความอ่อนไหวตามกระแสข่าวรายวัน

07 October 2022

ผ่านไปแล้ว 3 ไตรมาส สำหรับปี 2022 เชื่อได้ว่าพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนส่วนใหญ่คงได้รับผลกระทบกันไม่มากก็น้อย เพราะราคาสินทรัพย์เกือบทุกชนิดล้วนดิ่งลง โดยเฉพาะหุ้นโลก (MSCI All Country World Index) ที่ติดลบมากกว่า -20% ที่เจ็บหนักที่สุดคงหนีไม่พ้นดัชนี NASDAQ ที่มีส่วนผสมของหุ้นเทคโนโลยีเป็นส่วนใหญ่ ปักหัวลงเกือบ 30% ด้านตราสารหนี้ทั้งพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้เอกชนความน่าเชื่อถือสูง ที่ในกลไกภาวะตลาดปกติมักเป็นหลักให้นักลงทุนพึ่งพิงได้ก็ยังขาดทุนราว 20% เช่นกัน สินทรัพย์ที่รอดมามีเพียงน้ำมันและค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่แม้จะให้ผลตอบแทนเป็นบวกระดับสองหลักได้ แต่ก็ผันผวนระหว่างทางไม่น้อย (ข้อมูล ณ วันที่ 5 ตุลาคม)

แม้ข่าวร้ายทั้งเรื่องเงินเฟ้อสูง การขึ้นดอกเบี้ย และทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นจากธนาคารหลักของโลก จะสะท้อนในราคาสินทรัพย์ไปมากแล้ว แต่ความไม่แน่นอนยังไม่หมดไป จากหลายปัจจัยเสี่ยง เช่น เศรษฐกิจหลักของโลกมีโอกาสจะเข้าสู่ภาวะถดถอยเพิ่มขึ้น ความเสี่ยงในภาคอสังหาฯ ของสหรัฐฯ ที่ตัวเลขยอดขายบ้านเริ่มชะลอตัวหลังดอกเบี้ยการกู้ยืมระยะยาวพุ่งทำจุดสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2008 ด้านจีนเองก็ยังต้องรอความชัดเจนเรื่องการดำเนินนโยบาย Zero-COVID จากการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ในกลางเดือนนี้ นอกจากนั้นยังมีประเด็นความความขัดแย้งระหว่างประเทศ ทั้งรัสเซียและยูเครนที่ยังไม่สิ้นสุดลง ตลอดจนความตึงเครียดระหว่างจีนและไต้หวันที่อาจปะทุขึ้นได้ ดังนั้น ราคาสินทรัพย์ที่ซื้อขายในตลาดจะยังคงอ่อนไหวและขยับขึ้นลงได้มากตามกระแสข่าวรายวัน

หนึ่งในทางออกท่ามกลางความผันผวนคือ การลงทุนในหุ้นนอกตลาด (Private Equity) เพราะหุ้นนอกตลาดไม่มีราคาซื้อ-ขาย ในตลาดหลักทรัพย์ทุกวัน การประเมินมูลค่าส่วนใหญ่เกิดขึ้นรายไตรมาส ทำให้มีความผันผวนด้านราคาตามข่าวรายวันต่ำ แม้ระดับ Valuation ของหุ้นลักษณะเดียวกันที่ซื้อขายในตลาดจะมีผลอยู่บ้าง แต่มูลค่าบริษัทนอกตลาดจะขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

นอกจากความผันผวนตามปัจจัยระยะสั้นที่น้อยแล้ว หุ้นนอกตลาดยังมีความโดดเด่นด้านผลตอบแทนคาดหวังที่มากกว่าหุ้นในตลาด จากโอกาสเข้าถึงธุรกิจที่หลากหลายนอกเหนือจากบริษัทจดทะเบียน และได้เริ่มลงทุนตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นธุรกิจ ทำให้สามารถเก็บเกี่ยวผลตอบแทนในช่วงเติบโตสูงของธุรกิจได้ ต่างจากบริษัทจดทะเบียนที่มักเป็นธุรกิจที่มีรายได้และกำไรสม่ำเสมอ จนใกล้ถึงจุดอิ่มตัวแล้วมากกว่า

แต่หุ้นนอกตลาดก็ถือเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงและซับซ้อนสูง นักลงทุนรายบุคคลเข้าถึงได้ยาก จึงแนะนำลงทุนผ่านกองทุนรวม ที่มีผู้จัดการกองทุนผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์สูงในการเฟ้นหาบริษัทที่มีศักยภาพ และที่สำคัญยังมีจุดเด่น คือการกระจายการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงต่อพอร์ตโดยรวม โดยกองทุนจะกระจายการลงทุนในหลายๆ มิติ ได้แก่

  1. กระจายในแง่ของเครื่องมือการลงทุน โดยแบ่งเงินลงทุนใน Private Equity ที่ซื้อขายในตลาดรอง (Secondary Market) คือการซื้อพอร์ตลงทุนที่บริหารโดยผู้จัดการกองทุน Private Equity ชั้นนำทั่วโลก ซึ่งวิธีนี้จะมีความเสี่ยงต่ำกว่า ระยะเวลาลงทุนสั้นกว่า ทำให้ได้ผลตอบแทนกลับมาเร็วขึ้น อีกหนึ่งวิธีคือ การร่วมทุนในกิจการของบริษัทโดยตรงควบคู่ไปกับผู้จัดการกองทุนรายอื่นๆ (Co Investment) โดยลงทุนตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นธุรกิจ ซึ่งถ้าหากบริษัทประสบความสำเร็จ ก็จะสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้น แต่ก็ตามมาด้วยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน
  2. กระจายลงทุนในหลายช่วงอายุของธุรกิจ ทั้งธุรกิจที่พึ่งเริ่มก่อตั้งเพื่อเติบโตไปพร้อมๆ กับกิจการ (Venture Capital) ธุรกิจที่กำลังเติบโตในอัตราสูง (Growth) และลงทุนในธุรกิจที่มีรายได้และกำไรค่อนข้างมั่นคงแล้ว (Buyouts)
  3. กระจายในหลายอุตสาหกรรม เช่น กลุ่มเทคโนโลยี สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าฟุ่มเฟือย การเงิน และการแพทย์  และลงทุนในหลายภูมิภาคเพื่อเปิดรับโอกาสการลงทุนจากทั่วโลก ทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และเอเชีย

ความเสี่ยงที่ต้องแลกมากับผลตอบแทนที่โดดเด่น และความผันผวนที่ต่ำกว่าหุ้นในตลาด ก็คือ สภาพคล่อง เพราะหุ้นนอกตลาดไม่สามารถซื้อขายได้ทุกวันทำการ กองทุนรวมหุ้นนอกตลาดจึงเหมาะกับนักลงทุนที่สามารถถือเงินลงทุนได้ในระยะยาว 7-9 ปี แต่นับว่าเป็นทางเลือกให้นักลงทุนใช้กระจายความเสี่ยงจากสินทรัพย์ในตลาดแบบดั้งเดิม


ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ


Recommended Content

Investment Advisory