Display mode (Doesn't show in master page preview)
Skip Ribbon Commands
Skip to main content
Investment
Investment: บริหารเงินในกระเป๋า ต้อนรับปีมะแม


ปีใหม่นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการวางแผนการเงินให้ตัวเอง เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าการวางแผนล่วงหน้า ไม่ว่าจะเป็นแผนระยะยาว หรือแผนระยะสั้นในชีวิตประจำวัน ถ้ามีการวางแผนที่ดีก็จะทำให้ชีวิตราบรื่นไปได้ตลอดทั้งปีเลยทีเดียว ก็เหมือนกับการวางแผนออกจากบ้าน ถ้าไม่ได้วางแผนก่อนว่าจะเดินทางอย่างไร ไปเส้นทางไหน ก็อาจทำให้ไปไม่ถึงจุดหมาย หรือไปถึงแต่ก็ถึงอย่างล่าช้า ซึ่งเรื่องการเงินที่เราควรวางแผนเตรียมความพร้อมมีดังนี้

ปรับลดค่าใช้จ่าย

การปรับลดค่าใช้จ่ายช่วยให้เรามีเงินเก็บออมได้มากขึ้น โดยมีแนวทางมาแนะนำ ดังนี้
ภาษีเงินได้ เป็นค่าใช้จ่ายที่ทุกคนมีหน้าที่ต้องจ่ายตามกฎหมาย แต่ถ้าเรามีการวางแผนหรือใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจะสามารถเหลือเงินออมได้มากกว่าผู้ที่มีรายได้ในระดับใกล้เคียงกันแต่ไม่รู้จักใช้สิทธิในการลดหย่อนภาษี แนวทางที่ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านภาษี เช่น การลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) หรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ซึ่งนอกจากจะสามารถนำเงินลงทุนไปลดหย่อนภาษีแล้ว ยังมีโอกาสได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในระยะยาวอีกด้วย
ดอกเบี้ยเงินกู้ ถ้าเรามีการผ่อนสินเชื่อบ้านซึ่งเป็นการผ่อนภาระหนี้ระยะยาว โดยทั่วไป หากผ่อนบ้านยาวๆ สัก 30 ปี ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายจะมากกว่า 100% ของเงินต้น หรือหากผ่อนสั้นๆ เพียง 10 ปี ก็ยังต้องจ่ายดอกเบี้ยมากกว่า 40% ของเงินต้น เราสามารถลดภาระดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายลงได้ด้วยการหาเงินมาโปะหนี้บ้าน เช่น เงินโบนัส เมื่อได้รับมาก็นำมาโปะบ้าน หรือการเพิ่มเงินผ่อนในแต่ละงวดให้มากขึ้น เพื่อให้ยอดเงินต้นลดลง ซึ่งจะทำให้ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายลดลงด้วย

จัดสรรเงินออม

การเก็บออมเงินเป็นเรื่องสำคัญ แต่สำคัญกว่านั้นคือ จัดสรรเงินออมไปอยู่ในแผนสำคัญของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเก็บออมในบัญชีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินให้เพียงพอ ซื้อทุนประกันชีวิตที่เหมาะสม รวมทั้งทยอยเก็บออมเพื่อเป็นเงินทุนสำหรับการเกษียณอายุ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  • เงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน แนะนำให้มีการเก็บเงินสำรองไว้ 6 เท่าของรายจ่ายต่อเดือน สำหรับใช้จ่ายในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ไม่ว่าจะเป็นค่ารักษาพยาบาล ค่าซ่อมแซมบ้าน หรือเปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์ในบ้าน แนะนำให้แบ่งเงินสำรอง 6 เท่านี้ออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกประมาณ 1 เท่า เก็บในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ เพื่อให้เบิกถอนมาใช้จ่ายได้ทันที ส่วนอีก 5 เท่า สามารถเก็บในกองทุนรวมตลาดเงิน เพื่อเพิ่มโอกาสในการรับผลตอบแทนที่มากกว่าดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ และมีสภาพคล่องสูง โดยกองทุนรวมตลาดเงิน เราสามารถนำเงินออกมาใช้ได้ภายใน 1 วันทำการ
  • เงินทุนประกันชีวิต เราควรทำประกันชีวิตเพื่อสร้างความคุ้มครองให้กับครอบครัว โดยมีทุนประกันที่สามารถรองรับค่าใช้จ่ายภายในบ้านเสมือนว่าหัวหน้าครอบครัวยังมีชีวิตอยู่อย่างน้อย 5 – 7 ปี และหากมีลูกเล็กๆ อยู่ด้วยอาจต้องมีทุนประกันที่รองรับค่าใช้จ่ายได้อย่างน้อย 10 ปี หรือครอบครัวใดที่มีภาระหนี้สินอยู่ เช่น หนี้ผ่อนบ้าน ก็ควรทำประกันเพื่อคุ้มครองภาระหนี้สินในส่วนนี้ด้วย ทั้งนี้ การทำประกันที่ดีควรมีค่าเบี้ยประกันที่ไม่หนักจนเกินไปและสามารถรองรับค่าใช้จ่ายในบ้านได้อย่างเพียงพอ จึงแนะนำว่า ควรทำทุนประกันชีวิตอย่างน้อย 3 เท่าของรายได้ต่อปี ซึ่งสามารถทำในรูปแบบประกันชีวิตแบบตลอดชีพที่เน้นให้ความคุ้มครองระยะยาว และสามารถเป็นมรดกให้ครอบครัวหรือลูกหลานได้
  • เงินทุนเพื่อการเกษียณอายุ แผนเกษียณนับว่ามีความสำคัญมาก ควรวางแผนแต่เนิ่นๆ อย่าปล่อยให้ใกล้เกษียณค่อยมาเตรียมตัววางแผน คำนวณง่ายๆ ถ้าใช้จ่ายหลังเกษียณเดือนละ 30,000 บาท เป็นเวลา 20-25 ปี จะต้องมีเงินก้อนเตรียมไว้ ณ วันเกษียณประมาณ 7-9 ล้านบาท และถ้าต้องการใช้จ่ายในแต่ละเดือนมากกว่านี้ ก็ต้องมีเงินก้อนเตรียมไว้มากขึ้น ถึงแม้ว่าเราจะต้องใช้เงินจำนวนมากในยามเกษียณ แต่เราสามารถมีเงินก้อนนี้ได้ด้วยการทยอยสะสมเงินเก็บไว้โดยถ้าเก็บตั้งแต่เริ่มทำงาน ด้วยการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นอย่างต่อเนื่อง จะเก็บเพียงเดือนละ 5-10% ของรายได้ต่อเดือน ก็จะทำให้เรามีเงินเก็บเพื่อใช้หลังเกษียณได้อย่างเพียงพอ

ลงทุนเพื่อเป้าหมาย

เมื่อเราได้บริหารเงินออมไปกับสิ่งที่จำเป็นในชีวิตแล้ว ก็สามารถนำเงินออมที่เหลือมาใช้สำหรับความฝันในชีวิตของเรา ขอแนะนำให้จัดสรรเงินลงทุนในแต่ละแผนแยกออกจากกัน เพื่อความง่ายในการดำเนินตามแผนการเงิน โดยเราอาจมีหลายความฝันหรือหลายเป้าหมาย สิ่งที่เราควรทำคือ จัดลำดับความสำคัญของเป้าหมายตามความจำเป็นในชีวิต

นอกจากนี้ การเลือกสินทรัพย์ลงทุนควรเลือกให้สอดคล้องกับระยะเวลาที่ต้องการใช้เงิน และความสำคัญของเป้าหมาย โดยเป้าหมายที่มีระยะเวลาลงทุนสั้น ควรลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น กองทุนรวมตราสารหนี้ แต่หากเป็นเป้าหมายระยะยาวหรือมีเวลาลงทุนนาน สามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงที่สูงขึ้น เช่น กองทุนรวมผสมที่ลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ กองทุนรวมหุ้น เพื่อโอกาสในการรับผลตอบแทนที่สูงขึ้น และการลงทุนระยะยาวจะช่วยลดความผันผวนหรือโอกาสขาดทุนจากการลงทุนได้

การวางแผนการเงินที่ดีจะต้องสอดคล้องกับเป้าหมายที่ต้องการ โดยต้องจัดลำดับความสำคัญและระยะเวลาบรรลุเป้าหมายของแต่ละแผนให้ดี รวมทั้งต้องบริหารรายรับรายจ่าย และเงินที่มีอยู่ให้เกิดความมั่นคงทางการเงิน

AUTHOR


ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษา
ลูกค้าบุคคล (K-Expert)

RELATED STORY