Display mode (Doesn't show in master page preview)
Skip Ribbon Commands
Skip to main content
Financial Planning
ภาษีครึ่งปีลดได้ แค่รู้จักวางแผน
เข้าสู่ช่วงเดือนเมษายนกันแล้ว เชื่อว่าหลายคนคงเพิ่งผ่านการยื่นแบบแสดงภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือภ.ง.ด. 90 และ 91 แต่สำหรับผู้ที่ประกอบอาชีพบางประเภทเช่น ดารา นักร้อง หมอที่มีคลินิกของตัวเอง หรือคนที่มีธุรกิจในนามบุคคลธรรมดา จะต้องเริ่มวางแผนภาษีกันแล้ว เพราะในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงกันยายนของทุกปีจะต้องยื่นแบบแสดงรายได้ช่วงครึ่งปีหรือภ.ง.ด. 94 ใครบ้างที่ต้องยื่นภาษีครึ่งปี และเราจะวางแผนเพื่อลดภาษีครึ่งปีได้อย่างไร K-Expert มีคำตอบค่ะ
ใครบ้างที่ต้องยื่นภาษีครึ่งปี

ผู้ที่ต้องยื่นภาษีครึ่งปีคือ ผู้ที่มีเงินได้ตามมาตรา 40(5) – (8) ซึ่งรายได้แต่ละมาตรามีรายละเอียดดังนี้ค่ะ

  • เงินได้มาตรา 40(5) เป็นเงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สินต่างๆ เช่น บ้าน ที่ดิน รถยนต์ เป็นต้น
  • เงินได้มาตรา 40(6) เป็นเงินได้จากวิชาชีพอิสระ เช่น รายได้จากการรับทำบัญชี ค่าว่าความของทนายความ รายได้จากการรักษาคนไข้ของหมอ ค่าออกแบบของสถาปนิก และค่าที่ปรึกษาของวิศวกร เป็นต้น
  • เงินได้มาตรา 40(7) เป็นเงินได้จากการรับเหมาที่ต้องจัดหาสัมภาระที่สำคัญนอกเหนือจากเครื่องมือ
  • เงินได้มาตรา 40(8) เป็นเงินได้ที่นอกเหนือจากเงินได้มาตรา 40(1) – (7) เช่น รายได้จากการเป็นดารา รายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ รายได้จากการประกอบธุรกิจในนามบุคคลธรรมดา เป็นต้น

เงินได้ตามมาตรา 40(5) – (8) ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนมกราคมถึงมิถุนายนจะต้องนำมายื่นแบบภ.ง.ด. 94 โดยสามารถยื่นในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงกันยายนของทุกปี หากไม่ชำระภาษีจะมีบทลงโทษเป็นเงินส่วนเพิ่ม 1.5% ของภาษีที่ค้างจ่าย โดยคิดเป็นรายเดือน และโทษปรับอีกไม่เกิน 2,000 บาทด้วยค่ะ

ลดหย่อนครึ่งปีต่างจากเต็มปีหรือไม่

การใช้สิทธิลดหย่อนภาษีในช่วงครึ่งปีแตกต่างจากการใช้สิทธิแบบเต็มปี โดยสามารถแบ่งรูปแบบการลดหย่อนภาษีได้เป็น 3 กลุ่ม

1. ลดหย่อนได้ครึ่งเดียวจากการใช้สิทธิเต็มปี ค่าลดหย่อนในกลุ่มนี้เป็นค่าลดหย่อนที่เกี่ยวข้องกับตนเองและครอบครัว เช่น

  • ลดหย่อนส่วนผู้มีเงินได้หรือคู่สมรสที่ไม่มีWเงินได้ 15,000 บาท (เต็มปี 30,000 บาท)
  • ลดหย่อนบุตร ได้คนละ 7,500 บาท หรือกรณีศึกษาในประเทศ 8,500 บาท (เต็มปี 15,000 / 17,000 บาท)
  • ลดหย่อนบิดามารดา ได้ท่านละ 15,000 บาท (เต็มปี 30,000 บาท)

2. ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงในช่วงครึ่งปีแรก แต่ยอดลดหย่อนสูงสุดจะน้อยกว่าแบบเต็มปี กรณีนี้จะเจอในการใช้เบี้ยประกันชีวิตและดอกเบี้ยบ้าน ซึ่งสามารถใช้สิทธิได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 95,000 บาท ซึ่งน้อยกว่ากรณีเต็มปีซึ่งอยู่ที่ 100,000 บาท

3. ลดหย่อนได้สูงสุดตามที่จ่ายจริงในช่วงครึ่งปีแรก และยอดลดหย่อนสูงสุดเท่ากับแบบเต็มปี ค่าลดหย่อนที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ได้แก่

  • ค่าซื้อกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ใช้สิทธิได้ไม่เกิน 15% ของรายได้ช่วงครึ่งปีแรก และไม่เกิน 500,000 บาท
  • ค่าซื้อกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ใช้สิทธิได้ไม่เกิน 15% ของรายได้ช่วงครึ่งปีแรก และไม่เกิน 500,000 บาท
  • ค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ใช้สิทธิได้ไม่เกิน 15% ของรายได้ช่วงครึ่งปีแรก และไม่เกิน 200,000 บาท

เมื่อรวมกับเงินลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือเงินกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท

ยื่นภาษีครึ่งปีแล้ว ภาษีแบบเต็มปีต้องยื่นอย่างไร

เมื่อยื่นภาษีช่วงครึ่งปีกันไปแล้ว ในการยื่นภาษีแบบเต็มปีช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคมจะต้องนำรายได้ ค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนของทั้งปีมายื่นในแบบภ.ง.ด. 90 โดยรายได้ที่นำมายื่นเป็นรายได้ทั้งหมด (40(1) – (8)) ซึ่งจะรวมถึงรายได้ที่ได้ยื่นไปแล้วในช่วงครึ่งปีด้วย ในส่วนของภาษีที่จ่ายไปในช่วงครึ่งปี ก็ให้นำมาแสดงในแบบภ.ง.ด. 90 ด้วย เพื่อให้กรมสรรพากรทราบว่า เราเสียภาษีไปแล้วเป็นเงินเท่าไร

หากรู้ตัวว่า เป็นคนหนึ่งที่จะต้องยื่นภาษีครึ่งปี แนะนำให้รีบวางแผนภาษีตั้งแต่เนิ่นๆ โดยใช้ตัวช่วยลดหย่อนภาษีอย่างกองทุน LTF และ RMF โดยยอดเงินลงทุนในกองทุนกลุ่มนี้ตั้งแต่ต้นปีมาจนถึงกลางปีจะสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ แต่ถ้ามัวแต่รอลงทุนในช่วงปลายปี ก็จะไม่สามารถนำมาช่วยลดหย่อนภาษีครึ่งปีได้ค่ะ

 

AUTHOR


ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษา
ลูกค้าบุคคล (K-Expert)

RELATED STORY